ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thaihealth เเละ nonsmokersright
แห่เช็กอินเขตปลอดบุหรี่ ทวงสิทธิ์ พื้นที่ห้ามสูบ พร้อมสร้างแผนที่เขตปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะที่ควรปลอดบุหรี่ ตาม พ.ร.บ.
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีสถานที่หลายแห่งติดป้ายประกาศให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่หรือเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่มากมาย แต่กระนั้นสิงห์อมควันหลายคนยังคงเมินเฉยและไม่สนใจป้ายประกาศนั้น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อาทิ ตลาดสด ตลาดนัด สถานบริการขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร ป้ายรถเมล์ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนยังคงได้รับควันบุหรี่มือสองมาโดยตลอด...
ทั้งนี้ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. จึงได้ออกแคมเปญรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยที่ผ่านมามีการรณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ มากมาย และทาง สสส. รวมไปถึงภาคีเครือข่ายรณรงค์ ก็ยังได้จัดทำสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถขอรับสติ๊กเกอร์ดังกล่าวได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ..
โดยทาง สสส. มุ่งหวังว่า "การสร้างแผนที่เขตห้ามสูบบุหรี่" ด้วยการเช็กอิน ภาพติดสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ ทั่วประเทศไทย จะช่วยสะท้อนสถานการณ์รวมพลังทวงสิทธิ์ ห้ามสูบของคนไทย เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสอง และร่วมกันทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% และล่าสุด (2 กรกฎาคม 2557) ก็มีชาวโซเชียลร่วมทวงสิทธิ์ด้วยการถ่ายภาพป้ายห้ามสูบและเช็กอินพื้นที่ห้ามสูบกันอย่างมากมายเลยทีเดียว...
ร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ด้วยการเช็กอินเขตปลอดบุหรี่กันนะคะ เพราะว่า..1 สิทธิ์ 1 พลัง เมื่อรวมกันก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ มาร่วมทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ เพื่อสังคมปลอดบุหรี่กันเถอะค่ะ
พื้นที่ปลอดบุหรี่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
1. พื้นที่ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
2. พื้นที่เปิดโล่งแต่มีหลังคา ได้แก่ ส่วนให้บริการอาหารของร้านอาหารไม่ติดเครื่องปรับอากาศ จุดรอรถโดยสาร
3. พื้นที่เปิดโล่งไม่มีหลังคา ได้แก่ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา สถานที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น
4. ตลาด ทั้งที่ตั้งเป็นประจำ และชั่วคราวตามวัน เวลาที่กำหนด
5. ยานพาหนะสาธารณะทุกประเภท (รถเมล์ รถไฟ เรือ แท็กซี่ ฯลฯ)
การจัดพื้นที่สูบบุหรี่ ต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการ
1. ไม่อยู่ในบริเวณที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนบริเวณข้างเคียง
2. ไม่อยู่ในบริเวณทางเข้า-ออก ของสถานที่ที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
3. ไม่อยู่ในบริเวณที่เปิดเผย หรือเห็นได้ชัดแก่ผู้มาใช้สถานที่นั้น
ข้อปฏิบัติของเจ้าของสถานที่ในการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
1. ต้องติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด
2. ต้องดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่
บทลงโทษ
1. ผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
2. เจ้าของสถานที่ไม่ติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3. เจ้าของสถานที่ไม่จัดสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
4. ฝ่าฝืนสูบในยานพาหนะสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
thaihealth เเละ nonsmokersright