x close

จุฬาฯ เจ๋ง เปลี่ยนลิ้นหัวใจตีบได้ไม่ต้องผ่าตัด พักฟื้นแค่ 2-3 วัน


เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด

จุฬาฯ เปลี่ยนลิ้นหัวใจตีบไม่ต้องผ่า ผ่านสายสวนใช้อุปกรณ์ไฮดรานผลิตโดยคนไทยพักฟื้นแค่ 2-3 วัน (ไทยโพสต์)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

          แพทย์หัวใจ รพ.จุฬาฯ พัฒนาวิธีเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วยลิ้นหัวใจไฮดราน อุปกรณ์ผลิตโดยคนไทย ผ่าไปแล้ว 31 ราย พบได้ผลดี อัตราตายต่ำ ใช้เวลาผ่าตัดแค่ 1 ชั่วโมงครึ่ง พักฟื้นแค่ 2-3 วัน เทียบผ่าเปิดหน้าอกต้องพักนาน 2-3 เดือน

          เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2557 รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดแถลงข่าวการพัฒนานวัตกรรมชิ้นใหม่ "การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด"
   
          รศ.นพ.โศภณ กล่าวว่า ที่ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้มีการคิดค้น พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด Transcatheter Aortic Valve Implantation - TAVI ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงอันเกิดจากการผ่าตัด โดยวิธีดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็ว อย่างไรก็ดี การคิดค้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วย ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการคิดและพัฒนานวัตกรรมควบคู่กับการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนให้ได้กลับมามีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นกว่าเดิม
   
          ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวเกิดจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจโดยมีหินปูนมาเกาะ ทำให้การเปิดปิดของลิ้นหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ และหัวใจวาย การวินิจฉัยอาศัยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการตีบแคบของลิ้นหัวใจ การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่เนื่องจากโรคดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยสูงอายุ 80 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีโรคประจำตัวอื่น ๆ อีกหลายโรคร่วมด้วย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูงขึ้น โดยเฉพาะโอกาสที่เสียชีวิตขณะผ่าตัดอาจสูงถึง 10-30% ดังนั้น ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุไม่ได้รับการรักษา
   
          ส่วนการผ่าตัดโดยใช้ลิ้นหัวใจชนิดไฮดรานนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาผลการรักษาในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งหากการศึกษาพบว่าได้ผลดี จะทำให้อนาคตลิ้นหัวใจเทียมจะมีราคาถูกลงกว่า 50% จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตโคยคนไทยทั้งหมด

          "คนไข้เหล่านี้หากไม่ทำอะไรเลยอาการจะทรุด จะเสียชีวิตภายใน 2 ปี ถือว่ามีความร้ายแรงพอ ๆ กับโรคมะเร็ง เพราะฉะนั้นถ้าสามารถเบิกค่ารักษาได้บ้าง ก็จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น" รศ.นพ.สุพจน์ กล่าว 
   

เปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด


          ขณะที่ นพ.วศิน พุทธารี หน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายอายุรศาสตร์ กล่าวว่า การผ่าตัดเปิดหน้าอกยังเป็นการรักษามาตรฐาน แต่ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงจากการผ่าตัด เนื่องจากเป็นผู้ป่วยสูงอายุ มีภาวะโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเส้นเลือดตีบ ไตเสื่อม ตับทำงานไม่ปกติ เป็นต้น

          ดังนั้น การรักษาจึงจำเป็นต้องชั่งระหว่างผลการรักษากับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก แต่ใส่สายเข้าไปที่บริเวณขาหนีบ ไหปลาร้าซ้าย หรือเจาะช่องอก จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัด ซึ่งที่ผ่านมาได้รักษาด้วยวิธีการดังกล่าวไปแล้ว 31 ราย มีการติดตามอาการนานเกิน 2 ปี จำนวน 25 ราย พบว่าเสียชีวิต 2 ราย จากภาวะไตวาย คิดเป็น 10% ใส่เครื่องกำกับการเต้นของหัวใจ 3 ราย
   
          "ที่ผ่านมาได้มีความพยายามเข้าไปเจรจากับกรมบัญชีกลาง เพื่อบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการก็ยังไม่สำเร็จ แต่สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมนั้นยังไม่ได้มีการหารือ" นพ.วศิน กล่าว
  
          ด้าน ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การผ่าตัดด้วยวิธีการใหม่นี้จะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าอกที่ใช้เวลานานถึง 3-4 ชั่วโมง อีกทั้งการพักฟื้นยังใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ก็สามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ในขณะที่การผ่าตัดต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนานประมาณ 2-3 เดือน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุฬาฯ เจ๋ง เปลี่ยนลิ้นหัวใจตีบได้ไม่ต้องผ่าตัด พักฟื้นแค่ 2-3 วัน อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2557 เวลา 09:35:18 7,754 อ่าน
TOP