เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สปริงนิวส์
สถานศึกษาในกรุงเทพฯ หลายแห่ง ประกาศปิดชั่วคราว หลังพบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เผยตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึง 20 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก แล้วกว่า 30,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กช่วงอายุต่ำกว่า 1-3 ปี
วันนี้ (29 กรกฎาคม 2557) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในช่วงนี้ว่า ตามที่กรมควบคุมโรคได้เคยออกประกาศเตือนเรื่องโรคมือ เท้า ปากระบาด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2557 โดยขอให้ผู้ปกครอง และสถานศึกษาทั่วประเทศ อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล เป็นต้น หาแนวทางป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ด้วยการแนะนำการดูแลสุขอนามัยแก่เด็ก ๆ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์สำหรับล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำให้แก่เด็ก ๆ
นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มมาตรการดูแลด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ และยังควรจัดให้เด็กได้อยู่ในสถานที่ที่มีการระบายอากาศที่ดีอีกด้วย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยว่าบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
นพ.โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ได้มีรายงานเข้ามาว่า ขณะนี้มีการพบโรคมือ เท้า ปาก ภายในสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายแห่ง อาทิ โรงเรียนนีรชา ศึกษา, โรงเรียนสารสาสน์วิเทศมีนบุรี และโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) เป็นต้น
สำหรับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยจะพบเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ คอกซากี่ เอ, บี และเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยหลังจากติดเชื้อแล้ว ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการป่วย หรืออาจพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อย เป็นต้น และจะมีอาการปรากฏอยู่ 3-5 วัน ก่อนจะหายไปเอง หรือบางรายมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และในปาก แต่บางรายจะมีอาการรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไวรัส เช่น การติดเชื้อจาก เอนเทอโรไวรัส 71 อาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย ส่วนที่รุนแรงมากจนอาจเสียชีวิต จะมีอาการอักเสบส่วนก้านสมอง อาการหัวใจวาย หรือมีภาวะน้ำท่วมปอด เป็นต้น
และในส่วนของข้อมูลเฝ้าระวังโรคทุกจังหวัดของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-20 กรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 34,834 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และยังไม่พบการระบาดรุนแรงในประเทศไทย กลุ่มอายุที่พบส่วนใหญ่คือ เด็กเล็กช่วงอายุต่ำกว่า 1-3 ปี โดยจะพบมากในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
จังหวัดตราด 179.54 ต่อแสนประชากร
จังหวัดระยอง 165.33 ต่อแสนประชากร
จังหวัดเชียงราย 120.51 ต่อแสนประชากร
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 101.38 ต่อแสนประชากร
จังหวัดจันทบุรี 99.95 ต่อแสนประชากร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก