ลูกชิ้นปลาเรืองแสง เจออีก แพทย์ชี้อันตราย ไม่ควรกิน


ลูกชิ้นปลาเรืองแสง เจออีก แพทย์ชี้อันตราย ไม่ควรกิน

          ผู้บริโภคตื่นลูกชิ้นปลาเรืองแสง เพิ่งซื้อมามั่นใจยังไม่เสีย เอาออกจากตู้เย็นมาเทใส่ชาม พบเรืองแสงสีเขียวได้กลางห้องมืด แพทย์ชี้อันตราย

           วันที่ 29 สิงหาคม 2557 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 มีการเตือนภัยเรื่องลูกชิ้นปลาเรืองแสง ซึ่งได้ข้อมูลมาจาก คุณ Mona Red ที่โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเอง ระบุว่า...

          "ลูกชิ้นปลาเยาวราชค่ะ ซื้อมาจากในห้างราคาไม่แพงมาก เข้าตู้เย็นเก็บไว้ทำสุกี้ บังเอิญห้องครัวมืดเลยเห็นเรืองแสงสีเขียวออกมาจากลูกชิ้นเต็มไปหมดค่ะ (โชคดีที่ห้องครัวตอนนั้นมืดค่ะ เพราะฝนตก ถ้าเปิดไฟสว่างไม่เห็นสารเรืองแสงแล้วกินเข้าไป ตายหมู่ทั้งบ้านมั้งคะ) พอเปิดไฟแสงสีเขียวหายไปค่ะ ลูกชิ้นยังเย็นอยู่ค่ะ มี อย. นะคะ ยังไม่หมดอายุค่ะ เห็นมีคนแชร์เยอะ เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ กรมอนามัยเค้าว่ามีการสุ่มตรวจลูกชิ้นปลาในท้องตลาด พบว่ามีลูกชิ้นเรืองแสงเยอะ แล้วนำลูกชิ้นเรืองแสงไปตรวจ พบว่าส่วนหนึ่งมีสารบอแรกซ์ และอีกส่วนหนึ่งมีแบคทีเรียชนิดเรืองแสงอยู่ค่ะ มีคุณหมอท่านนึงเพิ่มมาว่ามีเชื้อราบางชนิดเรืองแสงค่ะ ชอบอากาศเย็นในตู้เย็นค่ะ ของจริงเรืองแสงน่ากลัวมากกว่าในรูปอีกนะคะ"



          พร้อมกันนี้เจ้าของเรื่องยังได้ถ่ายภาพลูกชิ้นปลาที่เทใส่ชามในแสงปกติเทียบกับในที่มืดให้ดู ซึ่งเห็นได้ว่าลูกชิ้นที่วางในที่มืดมีแสงสีเขียวเรืองออกมาชัดเจน นอกจากนี้ยังถ่ายฉลาก อย. ที่มากับห่อลูกชิ้นให้ดูด้วย 

          สำหรับเหตุการณ์ลูกชิ้นปลาเรืองแสงเคยกลายเป็นกรณีข่าวดังมาแล้วเมื่อปี 2553 โดยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการองค์การอาหารและยาประเทศไทยในตอนนั้น ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การที่ลูกชิ้นปลาเกิดเรืองแสงได้อาจเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ ปนเปื้อนแบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio) และซูโดโมแนส (Pseudomonas) จากกระบวนการผลิตที่ไม่สะอาด หรือมีสารโซเดียม ไตรโพลีฟอสเฟต (Sodium Tripolyphosphate; STPP) ที่ใช้ผสมให้ลูกชิ้นเหนียวนุ่ม ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้มีได้ไม่เกิน 300 ppm เท่านั้น



          โดยในส่วนลูกชิ้นเรืองแสงที่เกิดขึ้นในปี 2553 สืบสวนพบว่าเกิดจากความบกพร่องในกระบวนการผลิตและการทำความสะอาดอุปกรณ์ ทำให้พบแบคทีเรียที่เรืองแสงได้ในที่มืดภายใต้แสงยูวี มีเชื้อจุลินทรีย์วิบริโอ คลอเรลลา (Vibrio Cholera) ซึ่งเชื้อเหล่านี้ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน จึงมีคำแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคลูกชิ้นปลาเรืองแสง หรือหากจะรับประทานต้องนำไปต้มนาน ๆ ไม่ควรนำไปยำหรือทำอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกด้วยความร้อน








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกชิ้นปลาเรืองแสง เจออีก แพทย์ชี้อันตราย ไม่ควรกิน อัปเดตล่าสุด 29 สิงหาคม 2557 เวลา 17:14:09 6,090 อ่าน
TOP
x close