x close

เตรียมยาให้พร้อม รับมือไข้หวัดหน้าหนาว

เตรียมยาให้พร้อม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          มาดูวิธีจัดตู้ยาให้ถูกวิธีและพร้อมสำหรับรับมือโรคไข้หวัด ไม่อยากเสียเวลาวิ่งหายาตอนป่วย หรือไปหาหมอให้เสียเงินก็รีบจัดตู้ยาซะ

          ใกล้ฤดูหนาวกันเข้ามาแล้ว ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก เลยทำให้บางคนเป็นหวัดกันได้ง่าย ๆ ซึ่งบางบ้านก็อาจจะรักษาอาการไข้หวัดได้เพราะมียาและอุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับบางบ้านที่มีตู้ยาก็เหมือนไม่มี เพราะแทบไม่มียารักษาอาการหวัด มีแค่ยาแก้ปวดกับพลาสเตอร์ปิดแผลเท่านั้น เกิดป่วยขึ้นมากะทันหันจะแย่เอา ดังนั้นได้เวลาจัดตู้ยากันแล้วล่ะค่ะ อย่าปล่อยให้ตู้ยามีแต่ยาที่เราไม่ค่อยได้ใช้ จัดตู้ยาใหม่กันเถอะ !

          ตู้ยา เป็นสิ่งของที่ทุกบ้านจะต้องมี บางบ้านอาจจะเป็นตู้ หรือเป็นกล่อง ซึ่งตู้ยานี้ควรจะมียาสามัญประจำบ้านทุกชนิดเก็บเอาไว้เผื่อในยามฉุกเฉิน และในต่างประเทศก็จะมียาและอุปกรณ์ที่เรียกว่า Flu Survival Kit เพิ่มเติมมาด้วย ซึ่งนั่นก็คือชุดยารักษาอาการไข้หวัดนั่นล่ะค่ะ โดยปกติแล้วเจ้าชุดยารักษาไข้หวัดก็มียาพื้น ๆ ได้แก่ ยาแก้ไข้ แก้ปวด แก้ไอ แก้เจ็บคอ หรือยาลดน้ำมูก ซึ่งเป็นยาที่เรามีกันอยู่แล้ว แต่เพื่อความพร้อมของตู้ยา เรามาดูรายละเอียดของเจ้าชุดยารักษาไข้หวัดให้ลึกลงไปอีกสักนิดดีกว่าเนอะ

เตรียมยาให้พร้อม

ยาที่เรามักจะใช้กันส่วนใหญ่เวลาที่เป็นไข้หวัดประกอบด้วย

ยาลดไข้ บรรเทาปวด

          ยาลดไข้ บรรเทาปวดถือเป็นยาสามัญประจำบ้านขั้นพื้นฐานที่สุด ที่ทุก ๆ บ้านจะต้องมีติดเอาไว้ โดยยาลดไข้ และแก้ปวดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

          ยากลุ่ม Acetaminophen หรือมีชื่อเรียกสุดสามัญว่า ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่เรามักจะเรียกมันว่ายาพารานี่ล่ะค่ะ ยาชนิดนี้เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถรักษาอาการปวดและลดไข้ได้ สามารถใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงหาซื้อได้สะดวกที่สุด ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการพัฒนาระบบยาได้กำหนดปริมาณยาพาราเซมอลที่ควรรับประทานต่อวัน โดยสำหรับผู้หญิงที่มีอาการไข้และปวดควรรับประทานครั้งละ 1 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก ๆ 6 ชั่วโมง ส่วนสำหรับผู้ชายให้พิจารณาเป็นกรณีไป และไม่ควรรับประทานเกินวันละ 8 เม็ด เพราะอาจจะทำให้เกิดการรับประทานยาเกินขนาด ส่งผลร้ายต่อตับได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการแพ้ยาไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้

          ยากลุ่ม NSAID (Non-Steroid Anti-inflamatory Drug) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อยา Aspirin หรือ ยา Ibuprofen นั่นเอง เป็นยาที่บรรเทาอาการปวดลดไข้ได้ดีกว่า Paracetamol แต่ก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน โดยการอาจจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดแย่ลง ทำให้เลือดหยุดยาก ดังนั้นคนที่เป็นไข้เลือดออกจึงไม่ควรรับประทานยากลุ่มนี้โดยเด็ดขาด ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง ควรให้แพทย์เป็นคนสั่งจะดีกว่าค่ะ

เตรียมยาให้พร้อม

ยาแก้ไอ

          ยาแก้ไอ เป็นยาที่ช่วยรักษาอาการเจ็บคอ โดยยาประเภทนี้จะแบ่งออก 2 กลุ่ม ได้แก่

          ยาขับเสมหะ ละลายเสมหะ ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัย และมีขายตามร้านขายยาทั่วไป ยากลุ่มนี้จะทำให้เสมหะไม่ข้น สามารถไอออกได้มาง่าย ทำให้ไม่มีเสมหะตกค้าง เมื่อเสมหะหมดก็จะหยุดไอไปเอง สามารถทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และไม่ค่อยพบว่ามีคนแพ้ยากลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ถ้าหากรับประทานให้ตามขนาดที่กำหนดแต่ก็มีข้อแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อที่เสมหะจะได้ใสขึ้นค่ะ

          ยากดอาการไอ เป็นยาที่ใช้กับคนที่มีอาการไอแห้ง ๆ และไม่มีเสมหะ ซึ่งจะทำให้เราไอน้อยลงได้ ทำให้เรารู้สึกสบายเร็วขึ้น แต่ก็มีอันตรายสูง เพราะยาบางชนิดในกลุ่มนี้มีผลต่อการกดประสาททำให้ง่วงซึม และอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ ในกรณีที่มีเสมหะมาก ๆ ยาชนิดนี้ จะไปกดการไอ ทำให้เสมหะไม่ไหลออกมา ซึ่งจะทำให้อาการยิ่งหนักกว่าเดิม จึงไม่ควรหาซื้อมารับประทานเองเด็ดขาดค่ะ

ยาลดน้ำมูก

          ยาลดน้ำมูก ลดอาการแน่นจมูก หรือหายใจไม่ออก เป็นยาในกลุ่ม Pseudoephredine ซึ่งเป็นยาที่มีทั้งแบบเม็ดและแบบน้ำสำหรับเด็ก ยาลดน้ำมูกชนิดนี้จะออกฤทธิ์ได้ดี แต่ก็ไม่แนะนำให้หาซื้อมารับประทานเองเพราะมีผลข้างเคียงอยู่มาก เช่น ทำให้ใจสั่น เวียนหัวได้ค่ะ ถ้าอยากจะได้ยานี้มารับประทานควรไปหาหมอก่อนจะดีที่สุดค่ะ

ยาแก้แพ้

          ยาแก้แพ้ หรือยาลดอาการภูมิแพ้ เป็นยาที่คนมักจะนึกถึงเมื่อรู้สึกแพ้อากาศและมีอาการจามบ่อย ๆ โดยยาชนิดนี้เราจะรู้จักกันดีในชื่อ Chlorpheniramine ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้ดี ทำให้อาการภูมิแพ้ลดลงได้ แต่บางครั้งก็อาจจะทำให้คอแห้ง โดยผลข้างเคียงคือทำให้ง่วง ไม่เหมาะกับคนที่ต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร แต่ในปัจจุบันก็มียาชนิดนี้ที่กินแล้วไม่ง่วง และคอไม่แห้ง และออกฤทธิ์ยาวนานกว่า แต่ไม่แนะนำให้หาซื้อเอง ถ้าหากอยากได้ยาประเภทนี้ควรไปพบแพทย์ก่อนจะดีกว่า

เตรียมยาให้พร้อม

น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก

          น้ำเกลือที่พูดถึงกันนี้ไม่ใช้น้ำผสมเกลือนะคะ แต่เป็นน้ำเกลือทั่วไปที่ใช้สำหรับล้างแผลค่ะ โดยน้ำเกลือชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาต่าง ๆ ซึ่งน้ำเกลือจะช่วยล้างน้ำมูก และเชื้อโรคต่าง ๆ ในจมูก ช่วยให้รู้สึกโล่งจมูกมากขึ้น โดยต้องใช้กับไซริงค์เพื่อล้างจมูก วิธีล้างก็คือใช้ไซริงค์ฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกข้างหนึ่งแล้วก้มหน้าเอียงคอไปอีกข้างหนึ่งเพื่อให้น้ำเกลือไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่งค่ะ

ปรอทวัดไข้

          ปรอทวัดไข้เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีติดบ้านเลยล่ะค่ะ เพราะว่ามันจะช่วยวินิจฉัยให้เราได้เบื้องต้นว่าเราเป็นไข้หรือไม่ โดยปรอทวัดไข้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

          แบบปรอทแก้ว เป็นประเภทที่แม่นยำมากที่สุด เพราะมันจะสัมผัสกับร่างกายของเราโดยการอมไว้ใต้ลิ้น แถมยังยังมีราคาถูกอีกด้วย แต่ข้อเสียของมันก็คือ ดูยาก ถ้าหากอ่านไม่เป็นก็จะดูไม่ออก แถมที่สำคัญคือต้องใช้เวลาในการอม และต้องรอเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน

          แบบแปะที่หน้าผาก แม้ว่าแบบนี้จะใช้ง่ายแต่ก็พังง่ายเช่นกัน ถึงจะราคาไม่แพงก็ถาม แถมผลที่ได้ก็ไม่ค่อยแม่นยำเท่าที่ควร

          แบบเครื่องวัดใช้อินฟาเรด ปรอทวัดไข้ชนิดนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยม ทั้งในโรงพยาบาลหรือตามบ้าน เพราะใช้ง่ายและไม่ต้องรอนาน แต่ข้อเสียก็คือราคาแพงและต้องใช้แบตเตอรี่ นอกจากนี้ยังต้องคนใช้เป็นเท่านั้นจึงจะทำให้ได้ผลแม่นยำ

เตรียมยาให้พร้อม

หน้ากากอนามัย

          หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ควรจะมีติดบ้านไว้อย่างยิ่งค่ะ เพราะว่าหน้ากากอนามัยนอกจากจะป้องกันเชื้อโรคที่เราจะแพร่สู่คนอื่นเวลาที่ป่วยแล้วก็ยังช่วยป้องกันเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย โดยส่วนใหญ่หน้ากากอนามัยจะมีทั้งแบบที่เป็นผ้าและกระดาษ ให้เลือกใช้ โดยแบบกระดาษสามารถใช้แล้วทิ้งได้เลย ส่วนแบบผ้าก็สามารถซักได้ แต่ก็ควรแช่น้ำยาฆ่าเชื้อเวลาซักด้วยดีกว่านะ

ยาอม

          ยาอม เป็นยาที่มีวางขายทั่วไป ไม่ว่าจะในร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่เจ็บคอและรู้สึกเย็น โล่งคอ บางยี่ห้ออาจจะมียาฆ่าเชื้อผสมอยู่ด้วย และอาจจะมีรสชาติที่หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันก็มีทั้งแบบมีส่วนผสมของน้ำตาลปกติและแบบปราศจากน้ำตาล ถึงแม้ว่าจะไม่ช่วยให้หายเจ็บคอได้สนิท แต่ก็ช่วยทำให้รู้สึกสบายคอมากขึ้น

          ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาการโรคไข้หวัดจะเป็นโรคที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ก็ควรสังเกตอาการให้ดี หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรจะไปพบแพทย์ดีกว่าเพราะเราอาจจะไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา

          เมื่อน้ำมูกและเสมหะสีเขียว เหลือง รับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 2 - 3 วัน แล้วอาการยังไม่ทุเลา
          มีอาการปวดหู และหูอื้อไม่ค่อยได้ยินเสียง
          ปวดโพรงจมูกมากผิดปกติ
          มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว มีเสมหะมาก
          มีไข้ ตัวร้อน นานกว่า 1 สัปดาห์
          มีอาการเจ็บคอมากเกิน 3 วัน

          โรคไข้หวัด ไม่ใช่โรคไกลตัวสักเท่าไร ดังนั้นการจัดตู้ยาให้พร้อมอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรจะสำรวจก่อนว่ามีใครในบ้านที่มีอาการแพ้ยาเหล่านี้หรือไม่ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายตามมาและที่สำคัญเราก็ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพในยามที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ให้มากขึ้น ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาพึ่งยาในตู้ยากันบ่อย ๆ ไงล่ะจ๊ะ



เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

        ลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ   






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตรียมยาให้พร้อม รับมือไข้หวัดหน้าหนาว อัปเดตล่าสุด 20 ตุลาคม 2557 เวลา 14:40:59 5,045 อ่าน
TOP