วิธีกำจัดเหาให้สิ้นซาก จบปัญหากวนใจบนผิวหนัง


          เหา แค่ได้ยินชื่อก็ร้องยี้ เรามาทำความรู้จักกับเหา และวิธีกำจัดเหา เพื่อที่เราจะได้รับมือกับมันได้ยังไงล่ะ

วิธีกำจัดเหา
          พูดถึงเจ้าแมลงตัวเล็ก ๆ ที่มักชอบอาศัยอยู่บนตัวคน และกินเลือดคนเป็นอาหาร แถมยังสร้างความรังเกียจให้แก่คนรอบข้าง ก็คงหนีไม่พ้นเจ้าแมลงที่ชื่อว่า เหา ที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะรู้จักมันดีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะตอนเด็ก ๆ เรามักจะได้ยินคุณครูบอกว่าอย่าเข้าใกล้คนที่เป็นเหา บางคนอาจจะหนักหน่อยเพราะเคยถูกเจ้าเหายึดครองพื้นที่บนหนังศีรษะ จนคุณพ่อคุณแม่ถึงกับต้องไปเสาะหาวิธีกำจัดเหาสารพัดวิธี กว่าจะหายก็ใช้เวลากันนานเลยเชียวล่ะ แถมบางคนจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเจ้าเหานี่มาจากไหน เป็นอย่างไร และก็ยังไม่รู้ว่าถ้าเกิดติดเหาแล้วจะกำจัดมันอย่างไร

          วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอนำทุกท่านไปรู้จักกับ เหา ปรสิตตัวแสบที่ชอบอพยพไปบนร่างกายของคนเรากันค่ะ และมาดูวิธีกำจัดเหาที่รับรองหายชะงัด เผื่อใครมีญาติพี่น้องหรือลูกหลานกำลังเจอเหาจู่โจมจะได้จัดการกับมันได้ทันก่อนที่จะกระจายไปสู่คนใกล้ตัวค่ะ 

เหา โลน
 

เหาคืออะไร

          เหา หรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus เป็นแมลงในกลุ่มปรสิต อาศัยอยู่บนร่างกายคน และดำรงชีวิตด้วยการกินขี้ไคลบนหนังศีรษะของคนเรา เหามีมากกว่า 3,000 ชนิด ซึ่งบางส่วนเป็นปรสิตที่อยู่ในสัตว์ แต่ที่เป็นชนิดที่อยู่ในคนนั้นมีเพียงแค่ 3 ชนิด ได้แก่ 

          - เหาที่อยู่บนศีรษะ 
          - เหาที่เกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย 
          - เหาที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือโลน

          โดยเหาแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ บนศีรษะ บนร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศ เหาสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ โดยการอยู่ใกล้ชิดและคลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรคเหา จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคเหานั้นมักจะถูกสังคมรังเกียจ ซึ่งอาการที่มักจะพบได้จากคนที่เป็นเหาก็คืออาการคันและเป็นแผลติดเชื้อบนหนังศีรษะ อันเนื่องมาจากการระคายเคือง นอกจากนี้เหายังชอบวางไข่เอาไว้ตามเส้นผมของเราจนทำให้เห็นเป็นจุดขาว ๆ ตามเส้นผม แถมยังเกาะแน่นอีกด้วย โดยจะไม่หลุดไปถึงแม้ว่าจะหายเป็นเหาแล้วก็ตาม


วงจรชีวิตของเหา

          ตลอดชีวิตแม่เหาหรือโลน 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ถึงเกือบ 300 ตัว โดยแต่ละชนิดมีอัตราการวางไข่ ดังนี้ 

          - เหาที่อยู่บนศีรษะ : 50-150 ฟอง
          - เหาที่เกาะอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย : 270-300 ฟอง
          - โลน : 26 ฟอง

          โดยไข่เหาทุกชนิดจะมีสีขาวขุ่น และเกาะแน่นบริเวณโคนผมและขน มีระยะเวลาในการฟัก 7-10 วัน ตัวกลางวัยจะลอกคราบทั้งหมด 3 ครั้ง และใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต 7-13 วัน ส่วนตัวเต็มวัยจะมีอายุ 2-4 สัปดาห์ หลังจากนี้จะมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ภายใน 1-2 วัน

สาเหตุของการเกิดโรคเหา

          โรคเหาเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย เพราะเหานั้นชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่สกปรก โดยแต่ละชนิดมีปัจจัยในการเกิดแตกต่างกัน ได้แก่

          - เหาที่ศีรษะ

          การติดเหาที่ศีรษะ เกิดขึ้นมาจากอาศัยอยู่ใกล้ชิดและคลุกคลีกับคนที่เป็นเหา รวมทั้งการใช้สิ่งของร่วมกัน อย่างเช่น หวี หมวก ผ้าเช็ดตัว ที่มัดผม และไดร์เป่าผม โดยมีการศึกษาพบว่าการหวีผมอาจส่งผลทำให้เหาออกไปได้ไกลถึง 1 เมตร ดังนั้น เราจึงมักพบเหาในเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเด็กมักอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่าผู้ใหญ่

          - เหาที่ร่างกาย

          เหาที่เกิดขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดจากการไม่รักษาความสะอาด และการอาศัยคลุกคลีกับคนที่มีเหา เหาบนร่างกายจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ค่อยอาบน้ำหรือไม่ได้เปลี่ยนและซักเสื้อผ้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นในกลุ่มคนที่ต้องเดินทางไกล ๆ เป็นเวลานานมาก ๆ นักโทษ หรือคนเร่ร่อนนั่นเอง โดยเหาประเภทนี้มักจะอาศัยอยู่บนเสื้อผ้าและจะคลานออกจากเสื้อผ้ามาดูดเลือดบนร่างกายคน เหาชนิดนี้ตัวใหญ่กว่าเหาบนศีรษะเล็กน้อย

          - เหาที่อวัยวะเพศ หรือโลน

          เหาที่บริเวณอวัยวะเพศ มักจะเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยส่วนใหญ่มักจะพบเหาชนิดนี้ในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ หรือแม้แต่ในเด็กก็สามารถพบได้ถ้าหากเกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโลน บางครั้งก็อาจจะเกิดจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโลน นอกจากนี้เหาชนิดนี้ยังอาจอาศัยอยู่บนตัวสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ รวมทั้งหมูได้ หรือในทางกลับกัน โลนของสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ และนก ก็อาจจะมาติดอยู่บนตัวคนได้เช่นกัน โลนมีลักษณะลำตัวแบนกว้าง และขาตรงปลายมีตะขอใหญ่ ดูคล้ายปู ดังนั้นจึงอาจจะถูกเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Crab ได้อีกด้วย โลนจะเกาะอยู่กับเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศ และดูดกินเลือดบริเวณหัวหน่าวและขาหนีบ ขนาดของเหาจะกว้างประมาณ 0.8-1.2 มม. โดยเป็นเหาที่ไม่ค่อยเคลื่อนตัว หากอยู่นอกตัวคน เหาชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 วัน



อาการของเหา

          นอกจากอาการคันแล้ว เหาทั้ง 3 ชนิดยังก่อให้เกิดตุ่มนูนแดงเล็ก ๆ โดยหากเป็นเหาที่อยู่บนศีรษะก็จะไปรบกวนการนอนหลับ แต่บางคนก็อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย จะพบแค่เพียงรอยเกาบนศีรษะ ไข่เหา และตัวเหาเท่านั้น ซึ่งโดยปกติเหาบนศีรษะมักจะอยู่บริเวณหลังใบหู ส่วนเหาบนลำตัวนั้นอาจจะทำให้พบผื่นแบนเรียบเล็ก ๆ ที่ออกสีเทา-น้ำเงิน ซึ่งเป็นอาการที่น้ำลายจากเหาไปทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบในเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดเปลี่ยนสีไป ส่วนโลนนั้นจะคล้ายคลึงกับ 2 ชนิดข้างต้น แต่หากอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดอาการต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและรักแร้โตได้

ผลข้างเคียงจากโรคเหา อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

          โรคเหาเป็นอาการที่ควรจะทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้อาการลุกลามและเรื้อรังจนยากต่อการรักษา เพราะอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตราย ดังนี้

          - เส้นผมพันกันกลายเป็นก้อน มีสะเก็ดหนอง และมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

          - บนผิวหนัง หากไม่ทำการรักษาอาจจะทำให้ผิวหนังหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น

          - เกิดอาการอักเสบและเป็นฝีหนอง เนื่องมาจากการเกาจนผิวหนังถลอกและติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

          - เป็นพาหะของการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคไข้รากสาดใหญ่ โรคไข้เทรนช์ และโรคไข้กลับ แต่เหาไม่สามารถแพร่เชื้อ HIV ได้

วิธีกำจัดเหา

          วิธีการรักษาเหา จะต้องทำการรักษาผู้ที่เป็นเหาและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควบคู่กันไป โดยต้องทำการควบคุมไม่ให้เหาแพร่กระจาย และป้องกันไม่ให้เกิดการติดเหาซ้ำค่ะ โดยเหาแต่ละชนิดมีวิธีการรักษา ดังนี้

          เหาบนศีรษะ

          - ใช้ยาฆ่าแมลงที่ทำพิเศษเพื่อฆ่าเหาบนศีรษะ เท่านั้น ซึ่งยาชนิดนี้มีทั้งในรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น และห้ามซื้อยาฆ่าแมลงตามท้องตลาดมาใช้เอง โดยยาฆ่าเหาชนิดนี้มีวิธีใช้คือ สระผมให้สะอาดแล้วใส่ยาหมักไว้ 10 นาที แล้วล้างออก บางชนิดก็อาจต้องทิ้งไว้ข้ามคืน และควรใช้สัปดาห์ละครั้งเพื่อให้เหาที่ออกจากไข่ได้ถูกทำลาย และไม่เป็นอันตรายกับหนังศีรษะ

          - การสางผม วิธีนี้นิยมใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะอายุน้อยเกินกว่าจะใช้ยาฆ่าเหาได้ ซึ่งหวีที่ใช้สางผมจะต้องเป็นหวีที่มีซี่หวีถี่ ๆ กว่าหวีทั่วไป หรือที่เรียกว่า "หวีเสนียด" โดยก่อนจะสางผมต้องทำให้ผมเปียกและลื่นก่อน โดยใช้ครีมนวดผม น้ำมันมะกอก และบางคนก็เชื่อว่าต้องใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่ง เพราะน้ำมันเบนซินอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองกับหนังศีรษะได้

          - ยากินฆ่าเหา บางรายที่มีอาการเหาที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ อาจจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยารับประทานรักษาอาการเหา ซึ่งยาชนิดนี้จะต้องได้รับการสั่งจากแพทย์เท่านั้น

          - หากใช้วิธีรักษาใด ๆ แล้วรักษาไม่หาย ก็ควรโกนผมเพื่อเป็นการกำจัดต้นตอของเหา แต่ควรจะใช้เป็นวิธีสุดท้ายค่ะ

           เหาบนร่างกาย

          ในผู้ที่เป็นเหาบนร่างกาย ไม่จำเป็นต้องกินยา หรือใช้วิธีรักษาเดียวกับเหาบนศีรษะ เพราะเหาชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่บนเสื้อผ้า โดยหากพบอาการเหาบนร่างกายควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว โดยถ้าหากไม่ต้องการทิ้งเสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน และผ้าเช็ดตัว ของเดิมที่มีเหาอาศัยอยู่ ก็จำเป็นจะต้องนำไปซักและแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาทีขึ้นไป ซึ่งวิธีนี้ทำให้ทั้งตัวเหาและไข่เหาตายได้ แต่ถ้ายังไม่หายก็ควรรับประทานยากินควบคู่ไปกับการรักษาความสะอาดของร่างกายให้มากกว่าปกติค่ะ

           โลน

          โลนเป็นเหาที่ขึ้นตามอวัยวะเพศ แต่ถ้าหากอาการรุนแรงก็อาจทำให้เหาขึ้นตามบริเวณคิ้วหรือขนตาได้ โดยหากมีโลนขึ้นบริเวณดังกล่าวละก็ ห้ามใช้ยาฆ่าเหาชนิดเดียวกับที่ใช้กับศีรษะเด็ดขาดเลยค่ะ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับดวงตาได้ วิธีรักษาคือ การใช้สารเคมีที่มีความหนืดเพื่อไปขัดขวางการหายใจของตัวเหา โดยอาจใช้เจลปิโตรเลียมหรือน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังมียาสำเร็จรูปสำหรับรักษาอาการโลน อย่างเช่น Benzyl alcohol lotion โดยใช้ซ้ำทุก ๆ 7-10 วัน เนื่องจากยาชนิดนี้ไม่สามารถกำจัดไข่ของโลนได้ นอกจากนี้ยังควรหมั่นโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น ขนรักแร้และหน้าท้องออก เพื่อเป็นการกำจัดแหล่งที่อยู่ของโลนได้ค่ะ

วิธีกำจัดเหา

เหา กำจัดได้ด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

          * สูตรที่ 1

          - ใช้น้ำส้มสายชูชโลมศีรษะ เอาผ้าโพกหัวสักครึ่งชั่วโมง
          - สระผมให้เสร็จแล้วสางผมเพื่อเอาตัวเหาและไข่เหาออกไป ทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์ เพราะน้ำส้มสายชูทำให้ไข่เหาร่วงหลุดไปได้ แต่ควรใช้น้ำส้มสายชูแท้เท่านั้

          * สูตรที่ 2

          - เอาผลมะกรูดที่แก่จัดไปเผาไฟหรือย่างไฟให้สุก ทิ้งไว้ให้เย็น 
          - นำมาคลึงให้มีน้ำมาก ๆ แล้วผ่าครึ่ง บีบน้ำลงบนหัวขยี้ให้ทั่ว 
          - ใช้หวีถี่ ๆ สางเส้นผม จะมีไข่เหาติดออกมา ทำอาทิตย์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 ครั้ง

         * สูตรที่ 3 

          - นำใบน้อยหน่ามา 5-8 ใบ โขลกให้ละเอียด ผสมน้ำและทาผมให้ทั่ว เอาผ้าคลุมไว้สักครึ่งชั่วโมง 
          - ล้างน้ำออก สระผมด้วยยาสระผมอีกครั้ง แล้วสางผมเพื่อเอาตัวเหาและไข่เหาออก
          - หลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำน้อยหน่าเข้าตา เพราะจะทำให้แสบตามาก

          * สูตรที่ 4 

          - นำใบสะเดาแก่ ๆ สัก 2-3 กำมือ โขลกให้ละเอียด ผสมน้ำพอเหลวนิดหน่อย 
          - ทาผมให้ทั่วปล่อยให้แห้ง แล้วค่อยสระผมด้วยแชมพู
 
          * สูตรที่ 5 

          - เอาลูกบวบขมแกะเปลือกออก เอาน้ำในลูกบวบขมทาผมให้ทั่ว ทิ้งไว้สัก 2-3 นาที

          * สูตรที่ 6 

          - ใช้ผลมะตูมสุกมาผ่า เอายางจากผลมะตูมสุกทาผม แล้วหวีให้ทั่ว 
          - ปล่อยไว้ให้แห้ง เหาจะตายหมด แล้วล้างน้ำ ต่อจากนั้นจึงหวีออก

วิธีการป้องกันเหา และโลน

          การรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีป้องกันเหาที่ดีที่สุด และไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เพราะเราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายติดเหาหรือไม่ และถ้าหากต้องนำของใช้ที่ผู้เป็นเหาหรือโลนใช้มาใช้ต่อ ก็ควรนำไปซักและแช่น้ำอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป นอกจากนี้ถ้าหากมีคนใกล้ตัวติดเหาหรือโลนก็ไม่ควรที่จะเข้าไปคลุกคลีด้วยจนกว่าจะรักษาหาย เพื่อที่จะได้ไม่ติดเหาหรือโลนมาค่ะ

เหา ทำให้ติดเชื้อ HIV ได้หรือไม่ ?


          มีหลายคนเชื่อว่าการติดเหาอาจนำมาสู่การติดเชื้อ HIV ได้ โดยถ้าหากเลือดที่อยู่ในตัวเหาหรือโลนนั้นมีเชื้อ HIV อยู่ ก็อาจจะทำให้คนที่มีเหาหรือโลนเหล่านั้นมาอาศัยอยู่บนร่างกายได้รับเชื้อ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความเชื้อที่ผิดค่ะ เพราะว่ามีการยืนยันจาก Rick Sowadsky M.S.P.H ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากโปรแกรมเอดส์แห่งกองสุขภาพแห่งรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วว่า โดยปกติแล้วเชื้อ HIV ไม่สามารถอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้ และที่สำคัญ เชื้อ HIV ก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ในแมลงได้ค่ะ ดังนั้นวางใจได้เลย ถึงแม้จะติดเหาหรือโลนก็ไม่มีทางติดเชื้อ HIV อย่างแน่นอน ยกเว้นแต่ในกรณีที่ผู้ที่ติดโลนมานั้นมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HIV แบบนั้นมีความเสี่ยงแน่นอนค่ะ
 
          เหา ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่เพียงปรสิตตัวเล็ก ๆ แต่มันก็สามารถจู่โจมเราได้หากเราไม่รักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี และแน่นอนว่าถ้ามันจู่โจมเราแล้ว หากเรารับมือกับมันไม่ได้ ปัญหาที่เราจะต้องเผชิญก็จะไม่ใช่แค่เพียงเจ้าพวกตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ แต่จะเป็นชีวิตทางสังคมของเราอีกด้วย ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากถูกสังคมรังเกียจและไม่อยากจะมานั่งคันทั้งวี่ทั้งวันละก็ อาบน้ำและหมั่นสระผมบ่อย ๆ นะ จะได้ไม่ต้องเจอเจ้าเหาและโลนไงล่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีกำจัดเหาให้สิ้นซาก จบปัญหากวนใจบนผิวหนัง อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 18:15:56 601,632 อ่าน
TOP
x close