เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
รู้แล้วรีบเลี่ยง 12 พฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพจิตเสีย ถ้าไม่อยากต้องไปพบจิตแพทย์ ก็เลิกซะ
ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จนเราแทบตามไม่ทัน หลาย ๆ คนก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อให้เข้ากับสังคมได้ ซึ่งบางพฤติกรรมเราอาจจะคิดว่ามันช่วยทำให้เราประหยัดเวลาหรือทำให้สะดวกสบายขึ้น แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ไปเสียทั้งหมด เพราะอาจมีบางพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราอย่างร้ายแรงเลยเชียวล่ะ แล้วพฤติกรรมเหล่านั้นมีอะไรบ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมได้นำข้อมูลดี ๆ จากเว็บไซต์ health.com มาเล่าสู่กันฟังค่ะ ใครที่ทำแบบนี้อยู่รีบเลิกด่วนเลยนะคะ
เดินงอตัว
เชื่อหรือไม่ว่าการเดินส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ถึงแม้ว่าจะดูไม่น่าเชื่อแต่มันก็เป็นความจริง เพราะมีการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ใน the Journal of Behavior Therapy and Experimental Psychiatry เปิดเผยให้เห็นว่าผู้ที่มีลักษณะการเดินงอตัว หรือเดินไหล่ตก และมีการเคลื่อนไหวของแขนน้อยมักจะเป็นคนที่อารมณ์เสียง่ายกว่าคนที่เดินด้วยความมั่นใจ นอกจากนี้ผู้ที่เดินด้วยท่าทางห่อเหี่ยวยังเป็นคนที่ชอบจดจำสิ่งร้าย ๆ ได้มากกว่าสิ่งดี ๆ ด้วย ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้จิตในห่อเหี่ยวและรู้สึกแย่ละก็ ยืดตัวและเชิดหน้าขึ้นแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจกันเถอะ !
ถ่ายรูปทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
หนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีกล้องมือถือเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตต้องฟังทางนี้เลยล่ะค่ะ อยากจะบอกว่าการที่คุณถ่ายรูปทุกสิ่งที่อย่างแล้วอัพโหลดรูปเหล่านั้นลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีกับสุขภาพจิตอย่างมากเลยล่ะ เพราะการถ่ายรูปเป็นการขัดขวางความทรงจำในช่วงดังกล่าวค่ะ
โดยมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางจิตวิทยาอย่าง Psychological Science ได้ทำการศึกษาโดยพาคนกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ และให้ใช้เวลาเพื่อสังเกตและถ่ายภาพของสิ่งต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ พบว่าผู้ที่ไม่ถ่ายรูปของสิ่งของที่เห็นมีแนวโน้มจะจดจำรายละเอียดของสิ่งเห็นได้ดีกว่าผู้ที่ถ่ายภาพ ซึ่ง Diedra L. Clay หัวหน้าและรองศาสตราจารย์ของภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Bastyr ในเมืองเคนมอร์ รัฐวอชิงตันได้เปิดเผยว่า กล้องถ่ายรูปเปรียบเสมือนผ้าปิดตาที่มองไม่เห็นซึ่งทำให้เราไม่สามารถมองเห็นและจดจำมันในสมองได้ ถ้าคุณไม่อยากที่จะลืมในสิ่งที่น่าจดจำ ทางที่ดีก็อย่าหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายรูปเลยดีกว่านะคะ ปล่อยให้ตัวเองดื่มด่ำกับช่วงเวลาเหล่านั้นดีกว่าค่ะ
ปล่อยให้ตัวเองถูกรังแก
การปล่อยให้ตนเองถูกรังแกในที่ทำงาน ถึงแม้ว่าจะทำไปเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องใหญ่ในที่ทำงาน แต่มันก็ส่งผลเสียได้มากมายโดยที่คุณไม่รู้ตัว ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพจิตใจแย่ลงแล้ว ยังกระทบต่อความรู้สึกภาคภูมิใจและการนับถือตนเอง ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุทำให้คุณรู้สึกไม่อยากทำงาน และไม่อยากทำอะไรเลย แถมยังนำพาคุณไปสู่ภาวะซึ่มเศร้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ค่ะ ดังนั้นทางที่ดีถ้าหากคุณกำลังตกเป็นเป้าหมายของการถูกรังแกในบริษัท ควรจะเผชิญกับปัญหามากกว่าหนีมัน หรือถ้ามันทำให้คุณรู้สึกแย่ การพบจิตแพทย์ก็เป็นวิธีที่ดีค่ะ
ไม่ยอมออกกำลังกาย
รู้หรือไม่ว่าการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ถึง 19% ซึ่งการศึกษาในวารสารทางการแพทย์อย่าง JAMA Psychiatry ได้ทำการศึกษากับคน 11,000 คน ที่เกิดในช่วงปี 1958 ขึ้นไปจนถึงอายุ 50 ปี และได้ทำการจดบันทึกอาการของภาวะซึมเศร้าไว้พร้อมกับปริมาณของการออกกำลังกาย เพื่อดูว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ปรากฏว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะมีอาการซึมเศร้าน้อยลงถึง 6% ดังนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคซึมเศร้ารีบไปออกกำลังกายกันดีกว่าค่ะ
ผัดวันประกันพรุ่ง
หลาย ๆ คนก็คงจะเคยเจอกับงานที่ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากจะทำเลยใช่ไหมละคะ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าไม่ชอบหรือว่ามันยากจนไม่อยากทำ เลยพยายามบ่ายเบี่ยงผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าการผัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมทำงานให้เสร็จเรียบร้อยจะยิ่งสร้างความวิตกกังวลและความกลัวว่าจะล้มเหลวให้คุณมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อระบบประสาทของคุณอีกด้วย ดังนั้นถ้าหากคุณกำลังมีปัญหากับงานอยู่ละก็ ลองหาทางบรรเทาความเครียดด้วยการฟังเพลง หรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ก็อาจจะทำให้เกิดความคิดดี ๆ ในการทำงานได้ค่ะ
มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี
การที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ดี ไม่ว่าจะกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนร่วมงาน นอกจากจะทำให้เกิดความวิตกกังวลและทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าแล้วมันยังกัดกินความภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย โดยจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถและทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ซึ่งบางรายก็ใช้เวลานับปีกว่าจะรู้ว่าความสัมพันธ์แย่ ๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณไม่อยากจะให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีทำร้ายคุณ ก็ได้เวลาที่จะมานั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนหาทางออก หรือไม่ก็หาตัวช่วยด้วยการปรึกษากับคนรอบข้างก็อาจจะช่วยทำให้หาทางออกได้ค่ะ
ใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียด
แน่นอนว่าการใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียดและจริงจังเกินไปส่งผลให้เกิดความเครียดที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายอย่างมาก อย่างเช่น อาการปวดหัวเรื้อรัง หรือ สุขภาพที่แย่ลง ซึ่งยาที่ดีที่ช่วยรักษาโรคเหล่านี้ก็คือการหัวเราะและใช่ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะการหัวเราะมีประโยชน์กับทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ดังนั้นถ้าหากคุณเกิดเดินสะดุดก้อนหิน หรือทำกิริยาเปิ่น ๆ ต่อหน้าผู้คน จงอย่าเก็บมันไปเป็นความเครียดเลยดีกว่าค่ะ หัวเราะให้กับความเปิ่นของตัวเองกันดีกว่าเนอะ
ไม่ยอมหลับยอมนอน
Diedra L. Clay ได้เปิดเผยว่า การนอนหลับมีผลกระทบต่อทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์และสุขภาพจิตหรือการทำงานของร่างกาย ต่างก็ต้องใช้การนอนหลับในการจัดระเบียบทุกอย่างให้เข้าที่เข้าทางทั้งนั้น ซึ่งถ้าคุณนอนหลับอย่างเพียงพอก็ไม่ต้องกลัวสุขภาพจิตหรือสุขภาพร่างกายจะมีปัญหาเลยล่ะค่ะ แต่หากคุณมีปัญหาในการนอนหลับทั้ง ๆ ที่อยากนอนใจจะขาด ลองค้นหาสาเหตุหรือไม่ก็ปรึกษาแพทย์จะดีกว่านะคะ
ไม่ยอมใช้เวลาอยู่คนเดียว
คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมใช้เวลาอยู่คนเดียว จะไปไหนหรือทำอะไรก็ต้องมีเพื่อนอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งการที่เราไม่มีเวลาอยู่กับตัวเองเลยก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวล รวมถึงอาการซึมเศร้าได้ เพราะว่าการที่คุณใช้เวลาอยู่เพียงลำพังจะเป็นวิธีการผ่อนคลายที่ดีที่สุด โดยควรจะแบ่งเวลาสำหรับการผ่อนคลายเพียงลำพังอย่างน้อย ครั้งละ 10 นาที ต่อชั่วโมง หรือต่อวัน ลองเลื่อนนัดกับเพื่อนฝูงออกไปสักนิดแล้วใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบเพียงลำพังสักครู่ก็จะช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้เยอะเลย
พูดคุยกันผ่านโซเชียลมากเกินไป
การพูดคุยกันผ่านโซเชียลแม้จะสะดวกแต่ก็มีผลเสีย เพราะการที่เราพูดคุยกันผ่านตัวอักษรโดยไม่เห็นหน้ากัน จะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ รวมทั้งอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่เข้าใจเราได้เช่นกัน ซึ่ง Michael Mantell ผู้เชียวชาญทางด้านพฤติกรรมในเมืองซานดิเอโก้พบว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนนอกจากมันจะทำให้คนเราคาดหวังมากเกินไปแล้ว ยังทำให้ความอดทนน้อยลงอีกด้วย ดังนั้น ลดการพูดคุยกับผ่านตัวอักษรลงและใช้เวลากับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวกันแบบใกล้ชิดให้มากขึ้นดีกว่านะคะ นอกจากจะทำให้เรารู้สึกได้ใกล้ชิดกันแล้ว ยังลดความผิดใจกันจากการพูดคุยด้วยตัวอักษรอีกด้วยค่ะ
ติดโทรศัพท์มากเกินไป
คุณจำได้หรือเปล่าว่าครั้งสุดท้ายที่อยู่โดยไม่มีโทรศัพท์นั้นคือเมื่อไร ถ้าหากคุณจำไม่ได้แล้วนั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไรแล้วล่ะค่ะเพราะว่าการใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลาจะทำให้ร่างกายของคุณถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลาจนไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงถึงแม้ว่าจะนอนหลับก็ตาม เพราะเมื่อรู้สึกตัวเราก็ต้องหยิบมันขึ้นมาเช็ก และนั่นก็จะนำมาสู่ภาวะความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ ซึ่งวิธีการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ก็ไม่ได้ยากเลยค่ะ เพียงแค่แบ่งเวลาในการอยู่ให้ห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายแหล่ให้ได้สัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ แค่ครึ่งวันต่อสัปดาห์ก็ยังดีค่ะ
ทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน
มีการวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนเราเชื่อว่าเราจะสามารถทำงานได้มากขึ้นถ้าหากเราทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันก็มีแต่จะทำให้เกิดความเครียด และทำให้เราถูกตัดออกจากสิ่งรอบข้างและมีการสื่อสารที่ไม่ดีเท่าที่ควร เปลี่ยนความคิดกันดีกว่าค่ะ ลองทำอะไรให้เสร็จไปทีละอย่างดีกว่านะ เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่เครียดแล้วยังทำให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพดีขึ้นด้วยค่ะ
พฤติกรรมแย่ ๆ เหล่านี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลเสียให้เราเห็นกันในทันที แต่ก็สามารถสะสมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ ดังนั้นหากคุณไม่อยากจะมีปัญหาสุขภาพจิตจนต้องปรึกษาจิตแพทย์ หรือให้ความเครียดส่งผลกระทบทำให้ร่างกายเจ็บป่วย ก็รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ก่อนจะสายเกินไปนะคะ
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ