x close

ออฟฟิศปลอดบุหรี่ ลดการสูญเสียมหาศาล

เลิกบุหรี่

ออฟฟิศปลอดบุหรี่ ประเดิมก.พ.ปีนี้ (ไทยรัฐ)

          องค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ปัจจุบันมีการใช้พื้นที่ทั่วโลกราว 12 ล้านเท่าของสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน เพื่อปลูกต้นยาสูบ หากปรับพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนมาปลูกพืชที่เป็นอาหารแทน ว่ากันว่า จะสามารถผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่อดอยากหิวโหยได้ถึงปีละ 20 ล้านคน

          ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุ ปี 2549 เมืองไทยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำอยู่ทั้งสิ้นราว 9.53 ล้านคน

          หากสิงห์อมควันแต่ละคนสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 10 มวน เท่ากับว่าแต่ละวัน ทั่วประเทศมีปริมาณการสูบบุหรี่สูงถึง 95.3 ล้านมวน

          สอดรับกับข้อมูลของ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งระบุว่า แต่ละปีคนไทยสูบบุหรี่ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านมวน คิดเป็นมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท

          ผลที่ตามมา มีคนไทยตายด้วยโรคจากบุหรี่ปีละประมาณ 52,000 ราย และต้องเข้ารับการรักษาด้วยโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการสูบบุหรี่ อีกปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย คิดเป็นค่าบริการทางการแพทย์ที่รัฐบาลต้องสูญเสียเป็นเงินถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี

          ที่สหรัฐอเมริกา มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ของพนักงานในสถานประกอบการ และประมาณการตัวเลขความสูญเสีย จากการที่สถานประกอบการแต่ละแห่ง มีพนักงาน 1 คนสูบบุหรี่วันละ 1 ซอง

          รายงานวิจัยระบุว่า จะทำให้นายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายบางอย่างเพิ่มขึ้นถึง 600 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี โดยที่ค่าสูญเสียเหล่านั้นเกิดจาก

          1. การขาดงานของพนักงาน เพราะโดยทั่วไปแล้ว พนักงานที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเจ็บป่วยและเข้าโรงพยาบาล มากกว่าพนักงานที่ไม่สูบ และมีอัตราการลางานสูงกว่าพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณร้อยละ 25-30 นอกจากนี้ ยังพบว่า พนักงานที่สูบบุหรี่มากกว่าวันละ 15 มวน จะมีอัตราการลาป่วยเป็น 2 เท่าของพนักงานทั่วไป

          2. โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ พนักงานที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ได้มากกว่า พนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะอาจขาดสมาธิในการทำงาน โดยมือข้างหนึ่งต้องคอยคีบบุหรี่ หรือควันบุหรี่อาจทำให้แสบตา จึงมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องทำงานก่อสร้างปีนขึ้น-ลงในที่สูง และพนักงานขับรถ เป็นต้น

          3. เพิ่มโอกาสในการเกิดเพลิงไหม้ การทิ้งก้นบุหรี่ อาจเป็นต้นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้สถานประกอบการโดยไม่เจตนา นำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาล โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาพบว่า การเกิดเพลิงไหม้ 1 ใน 5 ครั้ง ล้วนมีสาเหตุมาจากบุหรี่

          4. ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด และบำรุงรักษาสถานที่ ทั้งก้นบุหรี่และควันบุหรี่ มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์ สำนักงาน และอุปกรณ์เครื่องใช้บางอย่าง เช่น พรม โต๊ะ เครื่องหนัง ผนัง ผ้าม่าน

          ยิ่งกรณีมีการสูบบุหรี่ในห้องแอร์ กลิ่นอับของบุหรี่ที่เข้าไปอยู่ในระบบปรับอากาศ ทำให้ต้องเพิ่มค่าบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศถึง 6 เท่า

          นอกจากความสูญเสีย และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยชิ้นเดียวกัน ยังระบุว่า ข้อดีของการเป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ นอกจากช่วยเพิ่มผลผลิตให้หน่วยงาน โดยได้เวลาในการทำงานเพิ่มขึ้น ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียโอกาสที่เกิดจากการขาดงานของพนักงาน

          ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอุปกรณ์ และทำความสะอาดสำนักงาน ลดรายจ่ายในส่วนของระบบปรับอากาศ ลดค่าใช้จ่ายในการประกันอัคคีภัย ลดความขัดแย้งระหว่างพนักงานที่สูบและไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญ ช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่หน่วยงาน

          ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันจึงมีหลายองค์กรหรือสถานประกอบการ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำสถานประกอบการให้เป็นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์

          แต่ปัญหาอยู่ที่การจะทำให้ทุกคนในสถานประกอบการ เลิกสูบบุหรี่อย่างพร้อมเพรียงและโดยสมัครใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย

          นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ หัวเรือใหญ่รณรงค์ต้านการสูบบุหรี่ในเมืองไทย บอกว่า เวลานี้ความพยายามที่จะทำให้สถานที่ต่าง ๆ ปลอดบุหรี่มีกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยได้ไปร่วมลงนามในสนธิสัญญา มีผลให้ต่อไปสถานที่ สาธารณะ และที่ทำงานจะต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

          ดังนั้น อีกหน่อยจึงแทบจะไม่มีสถานที่สาธารณะเหลือให้สูบบุหรี่ ยกเว้น ที่สนามบิน เป็นที่สาธารณะซึ่งต้องจัดไว้ให้คนสูบบุหรี่โดยเฉพาะ

          "มีการสำรวจแล้วว่า สถานที่ที่คนเราใช้เวลามากที่สุดในชีวิต คือ ที่ทำงานและเตียงนอน ทั้ง 2 สถานที่นี้จึงควรได้รับอากาศบริสุทธิ์ ต่อให้อ้างว่า ไม่เป็นไรมีเครื่องกรองอากาศช่วยได้ ในความเป็นจริงเครื่องกรองอากาศก็ช่วยไม่ได้ เพราะควันบุหรี่เป็นไอระเหย"

          คุณหมอยอมรับว่า บุหรี่มีอำนาจเสพติดสูงพอ ๆ กับเฮโรอีน และโคเคน ถึงแม้คนที่สูบส่วนใหญ่อยากจะเลิก แต่ก็เลิกไม่ได้ง่าย ๆ

          จากการสำรวจ คุณหมอประกิตบอกว่า ตามสถานประกอบการส่วนใหญ่ มีพนักงานเพียง 1 ใน 4 ของพนักงานทั้งหมดเท่านั้นที่สูบบุหรี่

          ร้อยละ 57 ของพนักงานที่สูบบุหรี่ เริ่มสูบมาตั้งแต่อายุ 16-20 ปี เหตุผลที่สูบ ส่วนใหญ่เพราะอยากลอง เพื่อนชวน และสูบเพื่อคลายเครียด

          มีพนักงานถึง 83% ที่เคยทดลองเลิกบุหรี่ แต่ไม่สำเร็จ ส่วนหนึ่งใช้วิธีเลิกแบบหักดิบ บางส่วนใช้วิธีค่อย ๆ ลดปริมาณการสูบ อีกส่วนใช้การอมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง บางส่วนหันไปออกกำลังกาย

          สาเหตุที่เลิกบุหรี่ไม่ได้ เป็นเพราะความเคยชิน เห็นคนอื่นสูบแล้วอยากสูบบ้าง และหยุดสูบบุหรี่แล้วหงุดหงิด ทำให้ต้องกลับมาสูบใหม่อีกหน

          ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า

          "ไม่อยากให้มองคนสูบบุหรี่เป็นผู้ร้าย แต่อยากให้มองว่าเป็นเหยื่อมากกว่า ธุรกิจยาสูบที่ผลิตและขายต่างหาก คือ ผู้ร้ายตัวจริง ดังนั้น เราต้องหาทางช่วยเหลือผู้ติดบุหรี่ โดยเฉพาะเวลานี้ ตามโรงงานหรือสถานประกอบการต่าง ๆ มีผู้หญิงสูบบุหรี่อยู่ราว 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ 4 ใน 5 คนอยากเลิก แต่ยังเลิกไม่ได้"

          นพ.กิจจา เรืองไทย ผู้แทนจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย อีกหนึ่งองค์กรที่รณรงค์ปลอดบุหรี่ในที่ทำงาน บอกว่า ฤทธิ์เสพติดของบุหรี่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเฮโรอีนและโคเคน ถ้าเปรียบเป็นผู้ร้าย ทั้งบุหรี่ โคเคน และเฮโรอีน ถือว่ามีรางวัลนำจับเท่ากัน

          "ยอมรับว่า การเลิกสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องรู้ก่อนว่า เลิกบุหรี่แล้วเราต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง เช่น เกิดอาการลงแดงอยากสูบ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายและจิตใจ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากเลิกบุหรี่ บางคนนอนไม่หลับ ขาดสมาธิ โกรธง่าย วิตกกังวล"

          "นอกจากรู้ว่าต้องเผชิญกับอะไร ยังต้องมีทางเลือกอย่างอื่นให้คนที่เลิกบุหรี่ และบางครั้งต้องอาศัยตัวช่วย เช่น ให้ยาคลายเครียด หรือลดอาการซึมเศร้าแก่ผู้ที่เพิ่งเลิกสูบบางราย ฉะนั้น ต้องอาศัยทั้งแพทย์และพยาบาลคอยเป็นพี่เลี้ยง จึงจะเลิกบุหรี่ได้ผล"

          นพ.กิจจาบอกว่า จะให้สถานประกอบการแต่ละแห่งปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง ขึ้นอยู่กับปัจจัย 6-7 ข้อ

          เช่น สถานประกอบการนั้น ต้อง มีนโยบายปลอดบุหรี่อย่างชัดเจน, ผู้บริหารในองค์กรนั้นต้องไม่สูบบุหรี่, ติดป้ายประกาศ เป็นสถานประกอบการปลอดบุหรี่ไว้ที่หน้าสถานประกอบการ, ไม่มีที่เขี่ยบุหรี่ ในสำ-นักงาน, ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดต่าง ๆ , ไม่มีการขายบุหรี่ ในสถาน ประกอบการ

          และที่สำคัญ มีคลินิกเลิกบุหรี่ในที่ทำงาน โดยอาจใช้ห้องพยาบาลในที่ทำงาน เป็นแหล่งให้บริการคำปรึกษาแก่พนักงานที่ต้องการเลิกบุหรี่

          "แม้บุหรี่เปรียบเหมือนเพชฌฆาตร้ายที่ปลายนิ้ว แต่ถ้าทุกฝ่ายเอาจริง ช่วยเหลือกันและกันอย่างเข้าอกเข้าใจ การจะทำให้ทุกสถานประกอบการปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เรื่องที่เหนือบ่ากว่าแรง" คุณหมอทิ้งท้าย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออฟฟิศปลอดบุหรี่ ลดการสูญเสียมหาศาล อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 07:44:47 1,454 อ่าน
TOP