x close

เช็กให้ชัด เลือดออก...สัญญาณอันตราย



เลือดออก...สัญญาณอันตราย (หมอชาวบ้าน)
โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ

          เลือดออกอาจไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด ลองมาดูกรณีตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า เลือดออกก็เป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้เช่นกัน

          วันหนึ่งมีเพื่อนโทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับคนไข้ที่มีอาการเกี่ยวกับเลือดออกทีเดียว 2 รายว่ามีสาเหตุจากอะไร และควรให้การดูแลอย่างไร

           รายแรก เป็นชายอายุ 50 ปี อยู่ ๆ มีอาการเลือดกำเดาออกมากและนาน ต้องเข้าโรงพยาบาล กำลังรอผลการตรวจของแพทย์

           รายที่ 2 เป็นหญิงอายุ 55 ปี มีอาการปวดท้องและถ่ายอุจจาระออกเป็นสีดำหลายครั้ง กำลังรอให้แพทย์ทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร

           เพื่อนเล่าว่าที่ต้องโทร. มาถาม เพราะแพทย์ที่ทำการตรวจคนไข้ทั้ง 2 ราย ไม่ได้อธิบายให้ความกระจ่าง ญาติ ๆ ต่างพากันวิตกกังวล

           ผมนึกในใจว่าอาการเลือดออกทั้ง 2 คนนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นสัญญาณที่เตือนว่าอาจเกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง (เช่น มะเร็ง หรือโรคเลือดบางอย่าง) ก็ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป อาจเป็นเพียงสาเหตุพื้น ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล ก็อาจเกิดจากติ่งเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง หรืออาการถ่ายอุจจาระดำ อาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหารที่มีเลือดออกซึม ๆ ก็ได้

           ดังนั้น ผมจึงไม่กล้าวิเคราะห์โรคในแง่ร้ายทางโทรศัพท์ เดี่ยวจะพากันตระหนกตกใจเกินเหตุ ก็ได้แต่ตอบไปว่า คงมีสาเหตุได้หลายอย่าง ใจเย็น ๆ รอผลการตรวจของแพทย์ที่โรงพยาบาลว่าเป็นอะไรแน่ แล้วค่อยหาทางแก้ไขไปตามสาเหตุ

เลือดออก-สัญญาณอันตราย



           ที่กล่าวเช่นนี้ เป็นไปตามทฤษฎีที่เขียนไว้ในตำรา และสอดคล้องกับประสบการณ์ในการดูแลคนไข้มายาวนาน อาการเลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจมีสาเหตุร้ายแรง เช่น

           เลือดกำเดาไหล หากพบในผู้ใหญ่ มีอาการออกมากและนาน อาจเกิดจากมะเร็งในโพรงจมูก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ดูกรณีตัวอย่างที่ 1)

          เลือดออกตามไรฟัน อาจเกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคเลือดชนิดร้าย

          ไอเป็นเลือด อาจเกิดจากวัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด

          อาเจียนเป็นเลือดแดงสดหรือถ่ายอุจจาระสีดำ เป็นอาการแสดงของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร อาจเกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร

          ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดแดงสด หากออกมาก และนาน หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี อาจเกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ (ดูกรณีตัวอย่างที่ 2)

          ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด อาจเกิดจากมะเร็งไตหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          มีเลือดออกที่หัวนม อาจเกิดจากมะเร็งเต้านม

          เลือดออกทางช่องคลอด ที่ผิดไปจากเลือดประจำเดือน อาจเกิดจากมะเร็งโพรงมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก (ดูกรณีตัวอย่างที่ 3)

           มีจุดแดงหรือจ้ำเขียวที่ผิวหนัง เป็นอาการแสดงของภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจเกิดจากไข้เลือดออก โรคไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ดูกรณีตัวอย่างที่ 4)

          ดังนั้น หากพบว่ามีอาการเลือดออกที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจ หากไม่ได้เกิดจากโรคร้ายจะได้สบายใจ แต่ถ้าพบว่าเป็นโรคร้าย แพทย์จะได้ให้การรักษาได้ทันท่วงที และมีโอกาสช่วยให้หายขาด หรือมีชีวิตที่ยืนยาวได้



กรณีตัวอย่างที่ 1 เลือดกำเดาไหล เสียชีวิตภายใน 10 วัน

          ชายอายุ 60 ปี มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ ชอบออกกำลังกายเป็นประจำ และดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี อยู่มาวันหนึ่งจู่ ๆ ก็มีเลือดกำเดาไหล โดยไม่ได้ถูกแรงกระแทกที่จมูก และก็ไม่ได้เกิดจากการสั่งน้ำมูก

          เขาพยายามห้ามเลือดด้วยตัวเองอย่างไรก็ไม่ได้ผล ผ่านไปนาน 2  ชั่วโมง จึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์ใช้ไฟฟ้าจี้ก็ไม่ได้ผล เมื่อทำการตรวจเลือดก็พบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่เคราะห์ร้าย มีเลือดออกในสมองแทรกซ้อน แม้ว่าแพทย์จะทำการผ่าตัดสมอง ก็ไม่อาจจะช่วยได้

          คนไข้เสียชีวิตภายใน 10 วัน หลังมีเลือดกำเดาไหล

กรณีตัวอย่างที่ 2 มัวแต่คิดว่าเป็นริดสีดวง

          ชายอายุ 55 ปี เคยมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดเป็นครั้งคราว แต่ละครั้งเป็นเพียง 2-3 วันก็ทุเลาไป เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 30 ปี แพทย์เคยวินิจฉัยว่าเป็นริดสีดวงทวาร แต่ 1 เดือนมานี้ คนไข้มีอาการถ่ายเป็นเลือดสดทุกวัน เรื้อรังนานกว่าที่เคย คนไข้ก็นึกว่าเป็นโรคริดสีดวงอย่างเคย จนกระทั่งรู้สึกอ่อนเพลีย มีคนทักว่าหน้าตาซีดเชียว จึงได้ไปปรึกษาแพทย์

          จากการตรวจอย่างละเอียด แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ทำการผ่าตัดและให้เคมีบำบัด

กรณีตัวอย่างที่ 3 นึกว่าเลือดออกจากช่องคลอด เป็นอาการของหญิงวัยทอง

          หญิงอายุ 50 ปี ประจำเดือนขาดหายไป 6 เดือน ต่อมามีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดทุกวันอยู่นาน 4 เดือน ก็นึกว่าเป็นอาการวัยทอง ต่อมามีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น จึงได้ไปปรึกษาแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะที่ 2 ได้ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดและรังสีบำบัด คนไข้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โชคดีมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 20 กว่าปี

กรณีตัวอย่างที่ 4 นึกว่าลูกซน เป็นเพียงรอยฟกช้ำ

          เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ มีอาการตัวร้อนนาน 3-4 วัน มารดาพาไปรักษาที่คลินิก แพทย์บอกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ คนไข้กินยาที่แพทย์สั่งนาน 5 วัน อาการไข้ไม่ทุเลา มารดาจึงพาไปโรงพยาบาล

          แพทย์สังเกตเห็นมีจ้ำเขียวตรงหัวเข่าขวา มารดาบอกว่าน่าจะเป็นรอยฟกช้ำ เพราะลูกเป็นเด็กที่ซนมาก คงวิ่งกระแทกถูกอะไรมา แพทย์ตรวจพบรอยจ้ำเขียวอีกจุดหนึ่งที่บริเวณหน้าท้อง และตรวจพบว่ามีภาวะซีดและม้ามโต จึงส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม ก็พบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวตามที่แพทย์สงสัยตั้งแต่แรก 

          เคราะห์ร้ายที่เด็กเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดร้าย ถึงแม้แพทย์จะพยายามให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่ แต่ก็มีชีวิตอยู่ได้เพียง 3 เดือนหลังวินิจฉัย










ขอขอบคุณข้อมูลจาก










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เช็กให้ชัด เลือดออก...สัญญาณอันตราย อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2562 เวลา 18:02:36 42,777 อ่าน
TOP