ปวดส้นเท้าจี๊ด ๆ ตอนตื่นนอน ระวัง โรครองช้ำ

          เหยียบย่างเท้าแต่ละที แต่ละก้าว ทำไมมันแปล๊บ ๆ อย่างกับโดนเข็มทิ่ม โดยเฉพาะก้าวแรกหลังตื่นนอนตอนเช้านี่เจ็บสุด ๆ สงสัยว่าจะเป็น โรครองช้ำ ซะแล้วล่ะมั้ง ว่าแต่ โรครองช้ำ คืออะไรกัน มารู้จัก โรครองช้ำ กันเลย
ปวดส้นเท้า โรครองช้ำ


 โรครองช้ำ คืออะไร

          โรครองช้ำ หรือโรคพังผืดส้นเท้าอักเสบ คือ การมีจุดปวดบนเท้า ส้นเท้า เช่น เวลาเดินลงน้ำหนัก โดยเกิดจากการอักเสบ หรือฉีกขาดของผังผืดฝ่าเท้า Placentar Fascia ที่สัมพันธ์กับการเดินลงน้ำหนักที่เท้า

 อาการของ โรครองช้ำ

          ที่พบบ่อยคือ จะมีอาการปวดส้นเท้า หรือส่วนโค้งใกล้ส้นเท้า โดยเจ็บคล้าย ๆ กับมีของแหลมมาทิ่ม และกล้ามเนื้อน่องจะมีอาการเกร็ง ซึ่งอาการเจ็บ โรครองช้ำ นี้จะเป็นมากช่วงเช้า หลังตื่นนอน เมื่อก้าวเท้าก้าวแรก และจะมีอาการดีขึ้น เมื่อมีการบริหารฝ่าเท้า แต่บางครั้งอาจจะปวดทั้งวัน หากยืนนาน ๆ หรือเดินนาน ๆ 

 ปัจจัยเสี่ยงต่อ โรครองช้ำ

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงกับ โรครองช้ำ ได้แก่

          - ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
          
          - ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

          - นักกีฬาที่ต้องใช้เท้ามาก ๆ เช่น นักวิ่ง

          - ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบน หรือมีส่วนโค้งของเท้ามาก 

          - ผู้ที่ใส่รองเท้าไม่พอดีกับรองเท้า

          - ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง

          - ผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ


 วิธีดูแลรักษา โรครองช้ำ

          เนื่องด้วย โรครองช้ำ ไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่หากเป็นแล้วก็สร้างความทรมานจากอาการปวดเท้าได้เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการรักษาแบ่งเป็น การดูแลรักษาด้วยตัวเอง และแนวทางรักษาโดยแพทย์

 การดูแลรักษาด้วยตัวเอง

          - หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านาน ๆ หากเป็นการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ควรเลือกกีฬาที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้ามากนัก เช่น การว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาบนพื้นแข็ง

          - สวมรองเท้าส้นนิ่มขณะออกกำลังกาย โดยอาจใช้แผ่นรองเสริมอุ้งเท้า เพื่อลดแรงกระแทกที่ฝ่าเท้าที่กระทำกับพื้นรองเท้า และช่วยกระจายน้ำหนักขณะเดิน

          - ออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อน่อง และยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าบ่อย ๆ

          - ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรใส่รองเท้าที่มีพื้นนุ่มส้นสูงกว่าส่วนหน้าเล็กน้อย อย่าเกิน 1-2 นิ้ว และไม่ควรใส่รองเท้าที่แบนราบเสมอกัน

          - ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้มากเกินไป เพราะหากน้ำหนักมาก เส้นเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้รักษาหายช้า

          - ประคบด้วยความร้อน หรือความเย็น เพื่อรักษาการอักเสบของเอ็น โดยอาจใช้ยานวด นวดฝ่าเท้า หรือใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้า

 แนวทางการรักษาโดยแพทย์

           1.รับประทานยา หากวิธีบำบัดเท้าข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะให้รับประทานยา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด 

           2. ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ บริเวณส้นเท้าจุดที่ปวด แต่ไม่ควรฉีดเกิน 2 ครั้งใน 1 เดือน เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นฝ่าเท้าเปื่อยและขาดได้

           3.ทำกายภาพบำบัด โดยใช้ความร้อนลึก (อัลตร้าซาวด์) ดัดยืดเส้นเอ็นฝ่าเท้า ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน เป็นต้น

           4.ใส่เฝือกชั่วคราวให้ข้อเท้ากระดกขึ้น ในตอนกลางคืน หรือถ้าเป็นมาก อาจต้องใส่เฝือกตลอดทั้งวัน

           5.ผ่าตัดเลาะพังผืด จะทำต่อเมื่อรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล แต่แพทย์ไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้ เพราะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

          ส่วนผู้ที่มีโครงสร้างเท้าเท้าผิดรูปควรปรึกษาแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหา และตัดแผ่นรองเท้าที่มีขนาดเหมาะสม

          อย่างไรก็ตาม โรครองช้ำ สามารถเป็น ๆ หาย ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ ก็สามารถหายขาดจาก โรครองช้ำ ได้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

bangkokhealth.com
thairunning.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดส้นเท้าจี๊ด ๆ ตอนตื่นนอน ระวัง โรครองช้ำ อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2562 เวลา 16:20:59 123,537 อ่าน
TOP
x close