x close

รับมือปัญหาประจำเดือนด้วยแพทย์ทางเลือก

ผู้หญิง

รับมือปัญหาประจำเดือนด้วยแพทย์ทางเลือก (ชีวจิต)

          ใครกำลังมีปัญหาแก้ไม่ตก ได้เวลาไปเช็คจุดอ่อนที่ต้องปรับเปลี่ยน พร้อมเรียนรู้วิธีแก้ตามศาสตร์ของแพทย์ทางเลือกดังต่อไปนี้

อารมณ์แปรปรวน

          ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า ความแปรปรวนของอารมณ์เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและระหว่างมีประจำเดือน สาเหตุเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า เครียด กดดัน ไม่มีสมาธิ และควบคุมตัวเองไม่ได้

          อาการดังกล่าวยังเกิดร่วมกับอาการทางกาย เช่น คัดเต้านม ปวดท้องน้อย ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม อาการอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงในช่วงมีประจำเดือนนั้นพบได้น้อย คนส่วนมากมักจะมีแค่อาการไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดเล็กน้อย ซึ่งแก้ได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นสังเกตอารมณ์ของตัวเองก็จะช่วยได้

ชีวจิตดูแลครบสูตร

          อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง แนะนำว่า "ประจำเดือนจะปกติหรือไม่ล้วนเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เพราะระบบฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของอิมมูนซิสเต็ม โดยปกติผู้หญิงต้องมีฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงสมดุลกัน"

          "อาการปวดประจำเดือน" การรำกระบองช่วยทั้งป้องกันการปวด และช่วยแก้อาการที่กำลังปวด เพราะเวลาปวดจะปวดตึงกล้ามเนื้อทั้งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง บั้นเอว หลัง และกล้ามเนื้อภายในบริเวณมดลูก รังไข่ บางคนถึงกับเป็นตะคริว

          การรำกระบองมีท่าแถมที่ช่วยดึงและยืดส่วนปลายกล้ามเนื้อ แบบที่เรียกว่า push and pull และมีท่าเตะต่าง ๆ ท่าบิดตัว อย่าง ท่า 180 องศา 360 องศา ที่ช่วยคลายอาการปวด คลายเกร็ง นอกจากนี้ยังมีท่าที่ช่วยเรื่องการหายใจ เช่น ท่าจูบสะดือ ท่าไหว้พระอาทิตย์

          นอกจากการออกกำลังกายแล้ว การกินอาหารให้ถูกต้องก็ช่วยได้ ถ้ารู้ว่าประจำเดือนกำลังจะมา อย่ากินอาหารหนัก ๆ ให้กินอาหารเบา ๆ อย่างข้าวต้มปลา ข้าวต้มเห็ด หรือต้มยำปลา ที่มีสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ข่า ก็ช่วยลดอาการได้

ชวนรู้ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และภาวะขาดประจำเดือน

          ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เช่น สองสามเดือนมาครั้ง และมากระปริบประปรอย จะเกิดกับคนที่รอบเดือนไม่มีการตกไข่ และคนอ้วน

          ภาวะขาดประจำเดือน เกิดจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีประจำเดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ ที่ทำให้ฮอร์โมนเพศไม่สมดุลคือปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

          อ้วนหรือน้ำหนักเกิน
          ความเครียด
          ความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก
          โรคขาดอาหาร
          โรคถุงน้ำรังไข่
          โรคเรื้อรังต่าง ๆ
          การให้นมบุตร
          การคุมกำเนิดด้วยยาคุมบางชนิด

โยคะปรับสมดุล

          โยคะสำหรับแก้อาการเกี่ยวกับประจำเดือน จะเน้นท่าที่ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดเข้าสู่อุ้งเชิงกรานคล่องขึ้น ซึ่งช่วยปรับชี่ (พลังงานที่ขับเคลื่อนการมีชีวิต) ตลอดจนปรับและกระตุ้นฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์ให้สมดุล

          บวกกับการหายใจและเคลื่อนไหวอย่างมีสมาธิแบบโยคะ จะช่วยผ่อนคลายทั้งตัว ลดความเครียด ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อให้คลายลง

          โยคะจึงช่วยลดปัญหาได้ทั้งอาการปวดประจำเดือน ช่วยปรับให้ประจำเดือนมาตรงเวลาได้ และยังช่วยเรื่องอารมณ์ได้ด้วย

ประจำเดือนมามากเกินไป

          เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่นาน ๆ  ส่งผลให้ไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้นเยื่อบุผนังมดลูก ซึ่งทำให้เยื่อบุจะหนาตัวขึ้นเรื่อย ๆ พอมีประจำเดือนจึงมีการขับรอบเดือนออกมามาก

          นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเจ็บป่วย เช่น เนื้องอกในมดลูกซึ่งทำให้มดลูกโต โพรงมดลูกใหญ่ขึ้น มีส่วนทำให้เลือดออกมากเมื่อมีประจำเดือน หรือผู้ที่เป็นโรคเลือดแข็งตัวช้า ก็มีโอกาสที่ประจำเดือนจะมามากกว่าปกติ

          สำหรับผลข้างเคียงเมื่อประจำเดือนมามากคือทำให้เป็นโรคเลือดจาง ซึ่งส่งผลกับอวัยวะอื่นได้ เช่น หัวใจที่ต้องทำงานหนักเพราะเลือดพาออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจน้อยลง นานเข้าอาจทำให้หัวใจโตได้  หรือทำให้บางคนมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียได้ง่าย เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองน้อย

ประจำเดือนที่มาน้อยเกินไป

          เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ปากมดลูกตีบ หรือกลุ่มที่เคยมีการอักเสบในโพรงมดลูกจนเกิดเป็นพังผืด ทำให้เลือดออกน้อย

          นอกจากนี้ ยังเกิดจากการไม่ดูแลสุขภาพ เช่น กินอาหารไม่เพียงพอ ผอมเกินไป หรือผู้ที่กินยาคุมมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ฮอร์โมนที่มากระตุ้นมดลูกไม่ทำงาน ประจำเดือนจะมากระปริบกระปรอย มาตรงบ้างไม่ตรงบ้าง

          รวมถึงคนที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน รังไข่จะทำงานไม่ปกติ ไม่มีการตกไข่ ประจำเดือนจะมาน้อยลงและห่างไปจนกระทั่งหมด


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือปัญหาประจำเดือนด้วยแพทย์ทางเลือก อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 09:19:56 105,122 อ่าน
TOP