x close

วิธีนวดบรรเทาปวด สกัด Trigger Point จุดเจ็บจี๊ดของชาวออฟฟิศ


          Trigger Point ภัยเงียบของมนุษย์ออฟฟิศ ใครว่ารักษาด้วยตัวเองไม่ได้ มาดูวิธีนวดบรรเทาอาการปวดแบบง่าย ๆ ที่รับรองได้ว่าทำแล้ว อาการ Trigger Point หายได้แน่นอน

          มนุษย์เงินเดือนไม่น้อยต้องพบเจอกับปัญหาปวดเนื้อเมื่อยตัวกันอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดนั้นก็อาจจะมาจาก Trigger Point หรือจุดกดเจ็บ ซึ่งเป็นปมในใยกล้ามเนื้อ ที่ถือว่าเป็นภัยเงียบที่อันตราย กดปั๊บ จี๊ดปุ๊บ ถ้าหากไม่ทำการรักษาให้หายอาจจะทำให้ปมใยกล้ามเนื้อเหล่านั้นกลายเป็นพังผืดในกล้ามเนื้อและทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง และขยับเขยื้อนร่างกายไม่สะดวก

          แต่เราจะรักษาอาการเหล่านี้อย่างไรล่ะ ถ้าจะให้ไปหาหมอ คนที่ไม่ค่อยมีเวลาก็อาจจะไม่สะดวก วันนี้เราก็เลยจะนำวิธีการนวดด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด และลดอาการ Trigger Point จากเว็บไซต์ The Art of Manliness มาฝากกัน ใครที่เจอกับปัญหาปวดเมื่อยไม่หาย ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ รับรองว่าถ้าทำเป็นประจำละก็ ไม่ต้องกลัวว่าจะปวดเมื่อยอีกเลยล่ะค่ะ


จุดที่มักเป็น Trigger Point

          สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจกับอาการ Trigger Point ให้มากขึ้น ลองอ่านกระทู้นี้ดูค่ะ Trigger Point ปวดเรื้อรัง ภัยเงียบชาวออฟฟิศ

          แต่ก่อนที่เราเรียนรู้วิธีนวดด้วยตัวเอง เรามารู้จักกับอุปกรณ์ที่ช่วยในการนวดบรรเทา จุด Trigger Point ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่หาซื้อได้ตามแผนกอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือจะทำขึ้นเองก็ได้ โดยอุปกรณ์มีดังนี้ค่ะ

trigger points

 1. โฟม โรลเลอร์ (Foam Roller)

          เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนวดกล้ามเนื้อและกดจุดเพื่อคลายปมพังผืดหรือปมใยกล้ามเนื้อในร่างกาย ช่วยป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อในร่างกายเกิดการเสียสมดุล และช่วยรักษาภาวะเสียสมดุลในกล้ามเนื้ออีกด้วย โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ออกกำลังกายทั่วไป หรืออาจจะทำขึ้นเองได้ โดยนำท่อพีวีซีขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นโฟมยาง และกรีดโฟมยางให้เป็นร่อง ๆ ทดแทนกันได้ค่ะ โดยร่องที่อยู่บนโฟมนวดจะช่วยทำให้บริเวณใยกล้ามเนื้อที่เป็นปมนั้นคลายตัวได้ง่ายขึ้น

 2. ลูกบอลขนาดเล็ก หรือ ลูกเทนนิส

          ลูกบอลที่ใช้ สามารถใช้ได้ทั้งลูกบอลยางที่ใช้สำหรับออกกำลังกาย หรือจะเป็นลูกเทนนิสก็ได้ เพราะลูกบอลเหล่านี้จะสามารถช่วยกดจุดบริเวณที่ใยกล้ามเนื้อให้คลายตัวลงได้ตรงจุดมากขึ้นในกรณีที่เป็นจุดที่ไม่สามารถใช้ โฟม โรลเลอร์ ได้

 3. แท่งกลิ้งกดจุด (Footballer)

          แท่งกลิ้งกดจุดเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยกดจุด Trigger Point เช่นเดียวกับลูกบอล มีลักษณะเหมือนดัมเบลขนาดพอดีมือ แต่น้ำหนักเบา ส่วนปลายทั้งสองด้วย เป็นแผ่นกลม หนาประมาณ 1 - 2 นิ้ว ใช้กดจุด Trigger Point บริเวณขา แขน หรือฝ่าเท้า

 4. บล็อกสำหรับทำโยคะ

          ในบางท่าการนวดนั้นจะต้องใช้บล็อกโยคะในการกดลูกบอลเพื่อให้ลูกบอลถูกจุด Trigger Point มากขึ้นค่ะ แต่จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้

 5. ถุงเท้ายาว

          ในการนวดด้วยตนเองหากใช้อุปกรณ์โดยตรงอาจจะให้รู้สึกเจ็บ ถุงเท้ายาว จะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการสัมผัสกับอุปกรณ์ได้ แต่ถ้าหากสามารถทนได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ค่ะ


วิธีการนวดกดจุด Trigger Point ด้วยตนเอง

          วิธีการนวดกดจุด Trigger Point ด้วยตนเองสามารถทำได้ทุกที่ ซึ่งการนวดนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยกดให้ถึงจุด Trigger Point เพื่อคลายปมพังผืดหรือปมใยกล้ามเนื้อที่พันกันอยู่ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดและขยับร่างกายได้ไม่สะดวก นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นอีกด้วย

          โดยในการนวดนั้นถ้าหากรู้สึกเจ็บยังบริเวณใด นั่นแปลว่าบริเวณนั้นมีจุด Trigger Point อยู่ และถ้าหากพบจุดดังกล่าวแล้วให้หยุดอยู่ในท่านั้นเลย แล้วกดคลึงบริเวณที่เจ็บประมาณ 10-20 วินาที หรือจนกว่าจะหายเจ็บ เมื่อคุณรู้สึกหายเจ็บบริเวณดังกล่าวแล้วนั่นแปลว่าปมใยกล้ามเนื้อหรือพังผืดนั้นคลายตัวลงแล้ว นอกจากนี้จะรู้สึกว่าสามารถขยับเขยื้อนบริเวณดังกล่าวได้สะดวกขึ้นอีกด้วย ส่วนวิธีการนวดด้วยตนเอง มีดังนี้ค่ะ

บริเวณคอ

trigger points

          1. พาดคอลงบนโฟม โรลเลอร์

          2. พลิกตัวไปทางขวา และ ซ้ายสลับกัน

          3. หลังจากนั้นทิ้งน้ำหนักไปที่ด้านขวา

          4. ค่อย ๆ ยกสะโพกขึ้นช้า ๆ จากพื้น จากนั้นทิ้งเอาไว้ 10 - 20 วินาที แล้วจึงวางสะโพกลง ทำซ้ำจนกว่าจะรู้สึกหายเจ็บ

บริเวณกล้ามเนื้อไหล่

          1. ยืนขึ้นเอาไหล่ขนานกับฝาผนัง แล้วสอดลูกบอลแทรกลงไประหว่างไหล่และกำแพง

          2. กดคลึงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอจุดที่เจ็บ

          3. ถ้าอยากให้ลูกบอลกดลึกลงไปมากขึ้นให้ใช้บล็อกสำหรับโยคะรองระหว่างลูกบอลและกำแพง

บริเวณหน้าอก

          1. วางลูกบอลบริเวณหน้าอกส่วนบน แล้วกดลงไปด้วยมือทั้งสองข้าง หากไม่มีแรงมากพอให้ใช้บล็อกสำหรับโยคะช่วย

          2. คลึงลูกบอลไป-มาจนเจอจุดที่เจ็บแล้วกดทิ้งเอาไว้จนกว่าจะรู้สึกหายเจ็บ

บริเวณหลังส่วนบนและสะบัก

          1. สอดลูกบอลไว้ระหว่างหลังส่วนบนและกำแพง

          2. ดันหลังให้กดกับลูกบอลแล้วขยับตัวให้ลูกบอลกลิ้งไปตามหลังและสะบักจนกว่าจะเจอจุดที่เจ็บ

          3. ยกแขนขึ้นเพื่อตัดสร้างแรงดันให้ลูกบอลกดลึกลงไปที่หลังบริเวณจุดที่เจ็บมากขึ้น ทิ้งไว้ 10-20 วินาที แล้วค่อยเปลี่ยนแขน

          4. ยกแขนขึ้นกอดอก แล้วยกแขนด้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับจุดที่เจ็บ อยู่ในท่านั้นจนกว่าจุดที่เจ็บจะบรรเทาลง

บริเวณหลัง

trigger points

          วิธีที่ 1

          1. วางโฟม โรลเลอร์ลงที่บริเวณเอว แล้วนอนทับ

          2. กลิ้งโฟม โรลเลอร์ขึ้น-ลงจนกว่าจะเจอบริเวณที่เจ็บ และควรระมัดระวังบริเวณกระดูกสันหลังให้มากที่สุด

          3. เมื่อโฟม โรลเลอร์กลิ้งขึ้นมาถึงบริเวณหลังส่วนบนให้ยกตัวขึ้นแล้วค้างไว้ 10 - 20 วินาที 

          4. จากนั้นลดแขนลง ทำสลับกันไป-มาเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายเจ็บ


          วิธีที่ 2

          1. วางลูกบอล 2 ลูกลงบนพื้นแล้วนอนทับ โดยให้ลูกบอลอยู่บริเวณสะบัก นำบล็อกโยคะมารองไว้ที่บริเวณศีรษะ

          2. ยกแขนขึ้นค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้ววาดแขนไปที่ข้างตัวจากนั้นค้างไว้อีก 10 - 20 วินาที

          3. ยกแขนขึ้น พาดแขนขวาลงเหนือศีรษะ แล้วค้างไว้ 10 - 20 วินาที 

          4. ลดแขนลดวางขนานกับพื้น จากนั้นทำแบบเดิมกับที่แขนข้างซ้าย สลับกันจนกว่าจะรู้สึกหายเจ็บ

บริเวณต้นแขน

trigger points

          1. นอนคว่ำ แล้วนำโฟม โรลเลอร์มาวางไว้ใต้ต้นแขน ดันโฟม โรลเลอร์ให้กลิ้งไป-มาบริเวณต้นแขนจนกว่าจะเจอจุดที่เจ็บ

          2. เมื่อเจอจุดที่เจ็บแล้วให้ชูนิ้วโป้งแล้วพลิกแขนขึ้น-ลงโดยให้นิ้วโป้งชี้ลงไปให้สุดแล้วจึงพลิกแขนกลับขึ้นมา โดยค้างเอาไว้ 10 - 20 วินาทีแล้วจึงพลิกแขน

          3. ทำสลับไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะจุดที่เจ็บจะบรรเทาลง แล้วทำแบบเดียวกันกับแขนอีกข้าง

บริเวณกล้ามเนื้อปีกแขน

trigger points

          1. พาดตัวลงบนโฟม โรลเลอร์ โดยให้โฟม โรลเลอร์อยู่บริเวณกล้ามเนื้อปีกแขนใกล้รักแร้

          2. กลิ้งโฟม โรลเลอร์ลงไปตามด้านข้างของลำตัว เมื่อเจอจุดที่เจ็บให้หยุดค้างไว้

          3. หงายตัวลงและดันตัวขึ้นสลับกันบนโฟม โรลเลอร์ เพื่อคลึงบริเวณที่เจ็บ

          4. จากนั้นดันโฟม โรลเลอร์ลงไปให้เกือบถึงกระดูกสันหลัง จากนั้นเปลี่ยนข้าง

บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก

         วิธีที่ 1

          1. นั่งลงบนโฟม โรลเลอร์แล้วทิ้งน้ำหนักไปที่สะโพกข้างใดข้างหนึ่ง

          2. ไขว้ขาอีกข้างหนึ่งแล้วกลิ้งโฟม โรลเลอร์ขึ้น-ลงเพื่อหาจุดที่เจ็บ เมื่อพบจุดที่เจ็บแล้วให้ค้างท่านั้นไว้จนกว่าจะรู้สึกหายเจ็บ


         วิธีที่ 2

          1. วางลูกบนแล้วนั่งทับโดยให้ลูกบอลอยู่บริเวณกล้ามเนื้อสะโพก

          2. กลิ้งลูกบอลเพื่อหาจุดที่เจ็บแล้วกดลูกบอลค้างไว้ตรงจุดที่เจ็บ

          3. ชันเข่าข้างที่กดจุดที่เจ็บไว้ด้วยลูกบอลขึ้น แล้วดันเข่าลงชิดกับพื้นเหมือนเวลาที่ทำท่ายืดกล้ามเนื้อแบบผีเสื้อ

          4. ทำซ้ำกับขาอีกข้าง

บริเวณกล้ามเนื้อน่องด้านใน

trigger points


          วิธีที่ 1

          1. พาดขาลงบนโฟม โรลเลอร์ โดยให้กล้ามเนื้อน่องด้านในสัมผัสกับโฟม โรลเลอร์ ไขว้ขาอีกข้างขึ้นมาทับขาข้างที่ทำ

          2. ออกแรงกดขาลงที่โฟม โรลเลอร์แล้วกลิ้งโฟม โรลเลอร์ขึ้น-ลงจนเจอบริเวณที่ปวด

          3. ยกสะโพกขึ้นโดยใช้มือทรงตัวไว้ ค้างท่านี้ไว้จนกว่าจะจุดที่เจ็บจะบรรเทาลง แล้วทำซ้ำกับขาอีกข้าง

         วิธีที่ 2

          1. พาดขาลงบนลูกบอลหรือแท่งกลิ้งกดจุดที่วางอยู่บนบล็อกสำหรับโยคะ แล้วไขว้ขาอีกข้างขึ้นมาทับขาข้างที่ทำ

          2. ดันขาให้คลึงกับอุปกรณ์ไปจนทั่วบริเวณกล้ามเนื้อน่องด้านใน จนกว่าจะเจอจุดที่เจ็บ

          3. เมื่อเจอจุดที่เจ็บพลิกขาไป-มารอบบริเวณกล้ามเนื้อน่องด้านใน หรือยกเท้าตั้งแล้วเกร็งไว้จนกว่าจะรู้สึกเจ็บน้อยลง

          4. ทำซ้ำกับขาอีกด้าน

บริเวณกล้ามเนื้อน่องด้านนอก

          1. วางขาลงบนลูกบอลหรือแท่งกลิ้งกดจุด โดยให้กล้ามเนื้อขาด้านนอกสัมผัสกับอุปกรณ์

          2. ใช้มือกดขาข้างที่ทำให้เพื่อให้อุปกรณ์กดลงไปถึงจุดที่เจ็บได้ แล้วกลิ้งอุปกรณ์เพื่อหาจุดที่เจ็บ

          3. เมื่อเจอจุดที่เจ็บแล้ว ออกแรงกดค้างเอาไว้จนกว่าจะรู้สึกหายเจ็บ

บริเวณกล้ามเนื้อหน้าขา

trigger points


          1. วางแท่งกลิ้งกดจุดลงที่พื้นแล้ววางขาลงไปทับ โดยให้แท่งกลิ้งกดจุดอยู่ที่เหนือเข่าเล็กน้อย

          2. กลิ้งอุปกรณ์บริเวณกล้ามเนื้อหน้าขาขึ้น-ลงจนเจอจุดที่เจ็บ

          3. เมื่อเจอจุดที่เจ็บแล้วให้ค้างท่านั้นไว้แล้วค่อย ๆ ยกขาข้างที่ทำออกขึ้น-ลง ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจุดที่เจ็บจะบรรเทาลง

          4. เปลี่ยนข้างแล้วทำซ้ำ

บริเวณกล้ามเนื้อหน้าสะโพกด้านใน

          1. วางขาลงบนแท่งกลิ้งหรือโฟม โรลเลอร์กดจุด โดยให้กล้ามเนื้อสะโพกด้านในสัมผัสกับอุปกรณ์

          2. ยันตัวขึ้นด้วยศอก แล้วดันให้อุปกรณ์เลื่อนขึ้น-ลงไปตามบริเวณกล้ามเนื้อสะโพกด้านในจนเจอจุด Trigger Point

          3. เมื่อเจอจุดที่เจ็บแล้ว ให้ยืดขาตรงแล้วค้างไว้สักครู่ แล้วพับขา จากนั้นค้างไว้อีก 10 - 20 วินาที ทำสลับกันไปจนกว่าจะหายเจ็บ

บริเวณต้นขาด้านข้าง

trigger points

          1. นอนตะแคงโดยให้โฟม โรลเลอร์อยู่ที่ข้างลำตัวบริเวณตั้งแต่สะโพก

          2. กลิ้งโฟม โรลเลอร์ขึ้น-ลง เพื่อหาจุด Trigger Point

          3. เมื่อพบแล้วให้ยกตัวขึ้นแล้วทิ้งน้ำหนักลงบริเวณที่เจ็บ ค้างท่านั้นไว้จนกว่าจะหายเจ็บ แล้วจึงเปลี่ยนข้าง

บริเวณเท้า

          1. วางปลายเท้าลงบนแท่งกลิ้งกดจุดหรือลูกบอล ออกแรงกดเท้าลงไป แล้วดันให้อุปกรณ์ที่ใช้กลิ้งขึ้น-ลงจนเจอจุดที่เจ็บ แล้วค้างไว้จนกว่าจะหายเจ็บ

          2. ทำแบบเดียวกับด้านข้างเท้าทั้งในและนอก จากนั้นทำซ้ำกับเท้าอีกข้าง

หากนวดด้วยตัวเองแล้วไม่หายควรทำอย่างไร

          แม้ว่าการนวดด้วยตัวเองจะสามารถบรรเทาอาการเจ็บได้ แต่หากเป็นเรื้อรังมานานก็อาจจะช่วยให้หายไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้วิธีอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งการประคบด้วยความร้อน การนวดโดยนักกายภาพบำบัด การพ่นยา หรือแม้แต่การฉีดสเตียรอยด์เพื่อรักษา ซึ่งก็ควรศึกษาให้ดีก่อนทำการรักษา โดยเฉพาะการนวด จะต้องทำด้วยผู้ที่เชี่ยวชาญจริง ๆ และในการฉีดสเตียรอยด์ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนเพราะอาจจะเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ค่ะ

          เป็นอย่างไรกันบ้างได้ทราบวิธีการรักษาอาการปวดทึ่เกิดจากจุด trigger Point กันแล้ว หวังว่าหลายคนที่มีอาการปวดก็น่าจะนำไปใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดได้ แต่ก็อย่าลืมว่าควรจะทำอย่างเหมาะสมนะคะ ไม่ควรหักโหมมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบได้ คราวนี้ล่ะจะยิ่งปวดกว่าเดิม พาลทำให้ไปทำงานไม่ไหวนะจะบอกให้
 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีนวดบรรเทาปวด สกัด Trigger Point จุดเจ็บจี๊ดของชาวออฟฟิศ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2564 เวลา 17:43:46 49,171 อ่าน
TOP