x close

มะเร็งปากมดลูก เพชฌฆาตตัวร้าย คร่าชีวิตผู้หญิงไทย


          มะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบสุดอันตรายที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิง หลายคนกว่าจะรู้ว่าป่วยมะเร็งปากมดลูกก็เมื่อสาย จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เลย

          โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งโรคสตรีที่มีความอันตรายและเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของผู้หญิง โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ในปี พ.ศ. 2555 มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปอด ขณะที่ข้อมูลในปี 2558 ก็พบว่า หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 14 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ ทั้ง ๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และสามารถป้องกันได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะได้เรียนรู้ถึงความอันตรายของโรคนี้ให้ชัดขึ้นอีกนิด เพื่อจะได้หันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองอย่างจริง ๆ จัง ๆ

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร ?

          มะเร็งปากมดลูก ภาษาอังกฤษ คือ Cervical cancer เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้หญิงไทย โดยส่วนมากพบในผู้หญิงช่วงอายุ 35-60 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้าหากมีการติดเชื้อดังกล่าวแล้ว เชื้อไวรัส HPV จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณปากมดลูก โดยอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน หรือบางรายอาจจะใช้เวลานานถึง 15 ปีกว่าอาการจะสำแดงออกมา

          ทั้งนี้เชื้อไวรัส HPV นั้นมีมากกว่า 40 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์หรือทวารหนักมากที่สุดก็ได้แก่ สายพันธุ์เบอร์ 6, 11, 16, 18 แต่สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็งมากที่สุดคือสายพันธุ์ 16 และ 18 ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ นั้นจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้น้อยค่ะ
มะเร็งปากมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูก

          ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ เนื่องจากเพศสัมพันธ์เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อไวรัส HPV นั่นเอง โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกอาจเกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงดังนี้ค่ะ

- ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายหญิง

          ปัจจัยเสี่ยงจากฝ่ายหญิงสามารถเกิดได้จากการมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุน้อยกว่า 17 ปี เพราะในช่วงอายุดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกมาก และมีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูง โดยเฉพาะเชื้อไวรัส HPV อีกทั้งหากมีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส และหนองใน จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

          นอกจากนี้สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานกว่า 5 ปี ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น 1.3 เท่า และหากรับประทานติดต่อนานถึง 10 ปีก็อาจจะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 เท่า ไม่เพียงเท่านั้นผู้หญิงที่มีการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง อาจจะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว

- ปัจจัยเสี่ยงทางฝ่ายชาย

          อย่าคิดว่าผู้ชายเองจะไม่สามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อ HPV ได้ ผู้ชายก็สามารถรับเอาเชื้อไวรัส HPV จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีเชื้อดังกล่าว และแพร่เชื้อให้กับผู้หญิงคนอื่นในกรณีที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศก็เสี่ยงด้วย เพราะถ้าหากเชื้อนี้เข้าไปสะสมตามอวัยวะเพศหรือทวารหนักนาน ๆ ก็อาจจะทำให้เป็นมะเร็งอวัยวะเพศ หรือมะเร็งทวารหนักได้ โดยเฉพาะผู้ชายที่ขลิบอวัยวะเพศแล้วยิ่งเสี่ยงสุด ๆ อีกทั้งถ้าหากผู้ชายเป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศก็อาจจะทำให้ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้เช่นกัน

- ปัจจัยอื่น ๆ

          ปัจจัยอื่น ๆ เหล่านี้อาจจะไม่ทำให้ผู้หญิงติดเชื้อไวรัส HPV แต่ก็เป็นตัวเร่งให้เชื้อไวรัสกลายสภาพเซลล์บริเวณปากมดลูกให้เป็นเซลล์มะเร็งได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้ก็ได้แก่ การสูบบุหรี่ หรือการที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ปัจจัยพวกนี้จะไม่สามารถเป็นตัวเร่งการสำแดงอาการได้ หากไม่ได้รับเชื้อจากเพศสัมพันธ์มาก่อนค่ะ

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก อาการเป็นอย่างไร


          หลังจากติดเชื้อไวรัส HPV แล้ว หากเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงนัก ร่างกายก็จะกำจัดออกไปได้เองตามธรรมชาติ แต่หากเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็อาจจะฝังตัวอยู่บริเวณปากมดลูก และเปลี่ยนสภาพเซลล์บริเวณปากมดลูกจนกลายเป็นเนื้อร้ายในที่สุด แต่อาการนั้นจะมากหรือน้อย ก็อยู่ที่ระยะของโรคมะเร็ง ซึ่งในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรอง หรือการตรวจด้วยกล้อง และการนำชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ขณะที่ก็อาจจะมีอาการบางอย่างที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน ดังนี้

* อาการในระยะเริ่มแรก

          อาการตกเลือดเป็นอาการที่สามารถพบได้ถึง 80-90% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก โดยอาการตกเลือดอาจจะมีลักษณะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยในระหว่างรอบเดือน หรือมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ บางรายอาจมีน้ำปนออกมากับเลือด หรือตกขาวปนเลือด หากเป็นหญิงวัยหมดประจำเดือนก็อาจจะมีเลือดออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุค่ะ

          นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากอาการตกขาวที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือมีหนองและเลือดปนออกมาด้วย แต่ทั้งนี้ก็อย่าเพิ่งตัดสินว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะนี่อาจจะเป็นอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ ได้เช่นกัน

* อาการในระยะลุกลาม

          แม้ในช่วงระยะแรกจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนนัก แต่ถ้าหากปล่อยปละละเลยจนทำให้เข้าขั้นระยะลุกลามก็อาจจะทำให้เกิดอาการ เช่น ขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปวดก้นกบ และบริเวณต้นขา อีกทั้งยังอาจจะมีอาการปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือดอีกด้วยค่ะ



ตรวจมะเร็งปากมดลูก การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง ?

          มะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจวินิจฉัยได้ 4 วิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นสามารถให้ผลได้ชัดเจนเหมือนกัน

- การตรวจภายใน

          การตรวจภายในเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยหากพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกก็จะพบก้อนเนื้อผิดปกติได้ทันที แต่ทั้งนี้เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนก็อาจจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาอีกที

- การตรวจแบบแปปสเมียร์ (Pap Smear)

          การตรวจแบบแปปสเมียร์เป็นการตรวจในระดับเซลล์ โดยใช้ร่วมกับการตรวจภายใน ซึ่งแพทย์จะนำไม้พายเล็ก ๆ ป้ายบริเวณปากมดลูกและนำเซลล์ไปตรวจผ่านกล้องคอลโปสโคปเพื่อมองหาความผิดปกติ ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการตรวจเท่านั้น

- การตรวจด้วยกล้อง หรือการตรวจด้วยคอลโปสโคป (Colposcopy)

          วิธีการตรวจนี้จะเป็นการตรวจที่ใช้ร่วมกับการตรวจภายในเช่นกัน โดยจะใช้ในกรณีที่มีก้อนเนื้อผิดปกติที่บริเวณปากมดลูก

- การตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ

          การขูดด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อนำเนื้อเยื่อหรือชิ้นเนื้อไปวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาต่อ อย่างเช่น การขูดภายในปากมดลูก การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า หรือการตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด ก็เป็นวิธีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใช้ในการนำชิ้นเนื้อไปตรวจหาโรคมะเร็งได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ค่ะ

กลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ใครเสี่ยงบ้าง ?

          กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกคือผู้หญิงอายุตั้งแต่ 30-50 ปีที่มีพฤติกรรมอยู่บนความเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ มีประวัติการติดโรคทางเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง หรือแม้แต่ผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว แต่สามีเที่ยวโสเภณีก็มีความเสี่ยงไม่แพ้กันค่ะ


 
ระยะของมะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งปากมดลูก จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะใหญ่ ๆ ได้แก่ ระยะก่อนมะเร็ง และระยะลุกลาม

- ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม

          ในระยะนี้เซลล์มะเร็งจะยังคงอยู่ในชั้นเยื่อบุผิวปากมดลูก และจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจแบบแปปสเมียร์

- ระยะลุกลาม

          หากเข้าสู่ระยะลุกลาม ร่างกายจะเริ่มมีความผิดปกติต่าง ๆ โดยจะแบ่งออกเป็นอีก 4 ระยะย่อย ๆ ซึ่งในระยะย่อยจะมีการลุกลามของมะเร็งดังนี้ค่ะ


           มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 : มะเร็งจะลุกลามอยู่ภายในบริเวณปากมดลูก
           มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 : มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และผนังช่องคลอดส่วนบน
           มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 : มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณด้านข้างของเชิงกรานและผนังช่องคลอดส่วนล่าง หรือกดบริเวณท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
           มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 : มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง ปอด กระดูก หรือต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน

มะเร็งปากมดลูก รักษาหายไหม ?

          การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง หรือปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวของกับระบบสืบพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วยเมื่อเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธีตามระยะของมะเร็งใหญ่ ๆ ทั้ง 2 ระยะดังนี้

- ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะก่อนลุกลาม

          ในระยะนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี อย่างเช่นการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็นหรือเลเซอร์ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยด้วยมีด ซึ่งหลังจากรักษาด้วยวิธีเหล่านี้แล้ว ก็จะต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องทำการตรวจซ้ำทุก ๆ 4-6 เดือนค่ะ

- ระยะลุกลาม

          ระยะลุกลามเป็นระยะที่จะต้องทำการรักษาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากทำการรักษาผิด ก็อาจจะทำให้มะเร็งลุกลามเร็วขึ้น โดยหากเป็นในช่วงแรก ๆ ของระยะลุกลาม ก็สามารถรักษาได้ด้วยการตัดมดลูก และต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานออก จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยว่าควรจะต้องรักษาด้วยรังสีวิทยาต่อหรือไม่

          ซึ่งในกรณีที่ต้องใช้รังสีวิทยาคือกรณีที่ผู้ป่วยมีโอกาสจะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีกค่อนข้างสูง แต่ถ้าหากเป็นระยะหลัง ๆ แล้ว ก็จะต้องใช้วิธีการรักษาด้วยรังสีวิทยาและเคมีบำบัดเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายผู้ป่วยว่าจะสามารถรับไหวหรือไม่ เนื่องจากการรักษาด้วยรังสีวิทยาและเคมีบำบัดมักจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมากพอดู

มะเร็งปากมดลูก

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

          แม้ว่าจะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็สามารถป้องกันได้ ถึงจะป้องกันได้ไม่ 100% ก็ตาม แต่ก็ช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้ โดยการป้องกันด้วยตนเองแบบง่าย ๆ ก็คือการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น พฤติกรรมทางเพศ ได้แก่ เลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และใช้เครื่องป้องกันอย่างถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังไม่ควรสูบบุหรี่ และไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

          ทั้งนี้อีกวิธีที่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV อันเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกได้ก็คือ การฉีดวัดซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันได้เกือบ 100% นอกจากนี้ยังควรที่จะตรวจหาเชื้อไวรัส HPV และมะเร็งปากมดลูกอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งค่ะ

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คืออะไร ?

          วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั้น จริง ๆ แล้วก็คือวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนนี้ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 กับ 11 และสายพันธุ์ 16 กับ 18 ทั้งนี้ในการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และจะต้องฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน โดยวัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิง หรือสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ และหากเป็นสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ HPV หรือมีเซลล์ผิดปกติ

ปากมดลูกอักเสบ ทำให้เป็นมะเร็งได้หรือเปล่านะ ?

          ปากมดลูกอักเสบเป็นอาการที่มดลูกเกิดการอักเสบเฉียบพลัน โดยอาการปากมดลูกอักเสบเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การติดเชื้อ หรือการขาดสมดุลในช่องคลอด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว การอักเสบจะหายไปในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ไม่สามารถเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV จะไม่แสดงอาการแบบเฉียบพลันเหมือนอาการปากมดลูกอักเสบค่ะ แต่ก็ควรระมัดระวังเพราะปากมดลูกอักเสบสามารถเรื้อรังจนกลายเป็นปีกมดลูกอักเสบ และเกิดพังผืดภายในมดลูกได้ค่ะ

ใช้ห้องน้ำสาธารณะ เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกไหม ?

          เราทราบกันดีว่าห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งค่อนข้างจะสกปรกและเต็มไปด้วยเชื้อโรค ทำให้หลาย ๆ คนหวาดหวั่นว่าอาจจะทำให้เราติดเชื้อไวรัส HPV มาเป็นของแถมได้ ขอบอกว่ามีโอกาสน้อยมากเลยล่ะค่ะที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะ แต่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% เพราะในห้องน้ำสาธารณะก็อาจจะมีเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบได้เช่นเดียวกันค่ะ

          โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่มีความอันตรายแต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ หากแค่เพียงเรารู้วิธีการป้องกันตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม และหมั่นไปตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุกปี เท่านี้คุณสาว ๆ ก็สบายใจหายห่วงได้แล้วล่ะค่ะ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
หน่วยสารสนเทศมะเร็ง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งปากมดลูก เพชฌฆาตตัวร้าย คร่าชีวิตผู้หญิงไทย อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2562 เวลา 13:01:28 129,714 อ่าน
TOP