x close

รู้จักไหม โรคเมลิออยโดซิส

ตรวจสุขภาพ


รู้จักหรือยัง?...โรคเมลิออยโดซิส (สสส.)
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท 2

          เมลิออยโดซิส (Melioidosis)...เป็นโรคติดเชื้อ อีกโรคหนึ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ  ซึ่งสถานการณ์ของโรคในประเทศไทย จากการรายงานของกรมควบคุมโรค เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2550 มีผู้ป่วย 789 ราย เสียชีวิต 6 ราย จากการพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีอาการหลายรูปแบบ ที่อาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เช่น มาลาเรีย วัณโรค จึงได้ชื่อว่า "ยอดนักเลียนแบบ"

          เมลิออยโดซิส เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Burkholderia pseudomalliei ซึ่งพบได้ในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ โค กระบือ โรคนี้พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สำหรับประเทศไทยมีถิ่นระบาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในบริเวณระบาดโดยเฉพาะในดินและน้ำ มักพบในฤดูฝนหลังจากที่มีฝนตกประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่น้ำชะเอาเชื้อที่อยู่ในดิน ขึ้นมาอยู่ที่บริเวณผิวดิน ซึ่งเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย

การติดต่อของโรค

          ทั่วไปสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดิน หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เชื้อเมลิออยโดซิส สามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ

          สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเมลิออยโดซิส ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำโดยเฉพาะ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตและผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุราหรือทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้ก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ เพราะเชื้อโรคชนิดนี้มีความพิเศษ ตรงที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยหลบหลีกระบบการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย  ทำให้สามารถหลบซ่อนอยู่ในร่างกายของเราได้นาน 20-30 ปี แต่ทั้งนี้ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วันหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อและอาการของโรค

อาการ และอาการแสดง

          เมื่อเชื้อเมลิออยโดซิสเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดการอักเสบตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ทุกระบบ อาการของโรคจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและความต้านทานโรคของร่างกาย

          อาการโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการและอาการแสดงได้หลายรูปแบบ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ ๆ คือ

          1.อาการไข้นานไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยบางรายมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลด ต่อมาจึงเกิดอาการรุนแรงขึ้น

          2.การติดเชื้อเฉพาะที่ (Localized melioidosis) ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อที่ปอด เรียก pulmonary melioidosis ซึ่งจะมีอาการเหมือนปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอมีเสมหะเล็กน้อย น้ำหนักลด บางรายไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก พบว่าการเกิดโรค มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเรื้อรัง บางรายอาจมีอาการของฝีในตับ ฝีในกระดูกหรือเป็นเพียงฝีที่ผิวหนังเท่านั้น ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้อง อาจเกิดอาการรุนแรงขึ้น

          3.การติดเชื้อแบบแพร่กระจายเชื้อไปทั่ว / ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemic melioidosis) เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตภายใน 2-3 วัน

ความรุนแรงของโรค มีสาเหตุสำคัญมาจาก

          การตรวจวินิจฉัยได้ช้า ไม่ทันท่วงทีต่อการรักษา

          การได้รับการรักษาช้า และการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะที่เชื้อดื้อยา จำเป็นต้องให้ยาที่รักษาโดยเฉพาะ เนื่องจากเชื้อดื้อยาต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิดในปัจจุบัน

          ปัจจัยจากตัวเชื้อเอง ที่ทำให้มีความรุนแรงมากกว่าเชื้อชนิดอื่น ๆ

          ปัจจัยพื้นฐานเรื่องสภาพของผู้ป่วย ซึ่งมีความสามารถในการต้านทานต่อเชื้อได้ต่างกัน

การวินิจฉัยโรค

          เนื่องจากอาการของโรคคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นหลายชนิด อาจทำให้การวินิจฉัยผิดได้ ซึ่งจะมีผลต่อการรักษา เพราะการรักษาโรคเมลิออยซิสมีรูปแบบจำเพาะไม่เหมือนโรคติดเชื้ออื่น จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการตรวจอย่างมีประสิทธิภาพ การวินิจฉัยจึงต้องตรวจยืนยัน โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐาน

แนวทางการรักษา

          1.แยกผู้ป่วยไม่ให้ผู้อื่นสัมผัส กับสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจและโพรงจมูก

          2.นำสิ่งส่งตรวจ (Specimen) ของผู้ป่วย เช่น เลือด ปัสสาวะ เสมหะหรือหนองมาเพาะเลี้ยง แล้วนำมาทดสอบดูว่ามีเชื้อนี้อยู่หรือไม่ ซึ่งจะใช้เวลา 3-5 วัน จึงจะรู้ผล

          3.ให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย โดยให้ยาฉีดในระยะแรก 2 สัปดาห์ และให้ยารับประทานต่อจนครบ 20 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การป้องกัน

          1.ป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำ หรือรีบทำความสะอาดร่างกายหลังการทำงาน ในบุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และแผล บาดเจ็บรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจต้องสวมถุงมือ รองเท้ายาง เพื่อป้องกัน

          2.หากมีแผลถลอกหรือไหม้ ซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำในพื้นที่ที่เกิดโรค ควรทำความสะอาดทันที

          3.เมื่อมีบาดแผลและเกิดมีไข้ หรือเกิดการอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์นอกจากนี้แล้ว การมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ และการดูแลสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ได้...


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จักไหม โรคเมลิออยโดซิส อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2553 เวลา 15:55:58 22,346 อ่าน
TOP