x close

จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน

 จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน
จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน

          ระวังโรคที่มาพร้อมการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) มาดูว่ามีโรคไหน คนไทยต้องเฝ้าระวังให้มากขึ้น

          การเฝ้าระวังโรคติดต่อที่จะเข้ามาพร้อมการเปิด AEC เป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนก็จะมีนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มแรงงานต่าง ๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าเราไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอก็อาจกลายเป็นปัญหาระดับชาติได้

          นพ.ไพศาล เตชะวลีกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คลินิกวัคซีนกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โดยรวมโรคที่มักจะพบในภูมิภาคอาเซียนนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะสภาพภูมิประเทศและอากาศค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่อาจจำแนกได้ตามช่องทางการติดเชื้อเป็น 3 กลุ่มใหญ่ โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ, โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน

โรคที่ควรเฝ้าระวังหลัก ๆ ในกลุ่มการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่

          ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยอาการทั่วไปเหมือนกับไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจะลุกลามเร็วกว่า และมีไข้สูงกว่าปกติมาก โดยอาการสำคัญผู้ป่วยจะอ่อนเพลียเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา ในเด็ก ส่วนผู้ใหญ่ไข้ประมาณ 38 องศา มีอาการคอแดง น้ำมูกไหล ไอแห้ง ๆ ตาแดง ในเด็กอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

          การป้องกันสามารถทำได้โดยการล้างมือให้ถูกวิธี การรักษาความสะอาด การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถลดความรุนแรงของโรคลงได้ ซึ่งควรได้รับวัคซีนทุก ๆ 1 ปี และการใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคให้กับบุคคลที่อยู่เคียงข้างเราได้

          โรคหัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดไข้ ผื่นที่ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าเป็นในเด็กอาการไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์อ่อน จะทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสพิการ สามารถป้องกันโดยการฉีดวัคซีน MMR (หัด หัดเยอรมัน คางทูม) ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าได้รับวัคซีนขณะตั้งครรภ์แล้วจะทำให้เกิดพิการแต่กำเนิด แต่แนะนำให้คุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีน และในปัจจุบันเราเพิ่มพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันที่เคยได้รับมาในวัยเด็กมีค่าต่ำลง ทำให้สามารถเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้

          โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ติดต่อและแพร่เชื้อได้ด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ที่เป็น อีสุกอีใส หรืองูสวัด เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม หรือที่นอน โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสมักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี โดยมากจะพบในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ

          ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส ควรเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการ มิฉะนั้นอาจไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ดี คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถนำบุตรหลานไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสได้ตั้งแต่วัย 1 ปีขึ้นไปซึ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนโรคอีสุกอีใสจนครบในอนาคต ก็จะไม่เป็นงูสวัดอีกด้วย

          โรคปอดอักเสบ คือ โรค IPD (Invasive Pneumococcal Disease) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย Pneumococcus หรือ เชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่นิยมเรียกกันว่าโรคปอดบวม หมายถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด มีหนอง อักเสบบวม ทำให้ปอดจึงทำงานไม่ได้เต็มที่ ทำให้ระบบการหายใจมีปัญหา เกิดอาการไอมีเสมหะ หายใจหอบ เหนื่อย มีไข้สูง อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงนับว่าเป็นโรคร้ายเฉียบพลันชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

          เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถแพร่กระจายโดยการไอ จาม หายใจรดกัน บางครั้งอาจมีเชื้อที่อยู่ในตัวเองแล้วผู้ป่วยมีการสำลักเอาสารคัดหลั่ง หรือเศษอาหารเข้าไปในปอดทำให้มีการติดเชื้อได้ บางครั้งเชื้อมีการแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด ติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้

จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน

กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น

          ไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม picornavirus เกิดจากรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเชื้อเข้าไป เชื้อไวรัสสามารถพบได้ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ซึ่งผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ หรือมีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงขั้นรุนแรงมากทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลืองและตับวายได้

สำหรับการป้องกันโรคนี้ทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย ความสะอาดของอาหารและน้ำดื่ม และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

          โรคไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง แพร่เชื้อและติดต่อกันได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ สามารถพบบ่อยในเด็กนักเรียนและวัยรุ่น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้และจะวิ่งต่อเข้าสู่กระแสเลือด ต่อมน้ำเหลือง ตับ และม้าม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย ซีด เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย ถ้าตรวจร่างกายก็จะพบว่าตับและม้ามโต

          การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนสามารถทำได้โดยการเพาะเชื้อจากเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ การรักษาทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาตามอาการ การป้องกันก็สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ส่วนวัคซีนป้องกันโรคมีทั้งแบบรับประทาน และแบบฉีด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยแนะนำในคนไทย เนื่องจากอาจจะเคยสัมผัสโรคมาก่อน อาจจะทำให้วัคซีนนั้นไม่ได้ผล แต่จะแนะนำสำหรับชาวต่างประเทศในภูมิภาคยุโรปหรืออเมริกาเหนือที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้

กลุ่มโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

          อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอชไอวี เชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านทางเลือด หรือสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น น้ำลาย น้ำอสุจิ หรือน้ำหลั่งในช่องคลอดได้

          โรคตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบบี เริ่มต้นจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้ต่ำ ๆ เหนื่อยและอ่อนเพลีย บางรายจะเริ่มมีอาการดีซ่าน คือ ตัวเหลืองตาเหลือง สำหรับบางรายอาจไม่มีอาการที่รุนแรงและไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดก่อน เมื่อตรวจพบว่ายังไม่เคยได้รับเชื้อและไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนที่มีการใช้มานาน มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี ควรฉีดให้ครบ 3 เข็มในช่วงเวลา 6 เดือน เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน

          ส่วนไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอสไอวี ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน

จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน
 
          ด้าน นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ ศูนย์กุมารเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และกรรมการบริหารสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อที่ต้องระวังในเด็ก ประกอบด้วย

          โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีความรุนแรงมาก ส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้สูง โรคแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ทางละอองเสมหะหรือน้ำมูก เนื่องจากเชื้ออยู่ในคอหอยจึงติดต่อทางระบบหายใจได้ง่าย สามารถป้องกันเบื้องต้นได้โดยมีสุขอนามัยที่ดี ดูแลร่างกายให้มีสุขภาพแข็งแรง และควรรับวัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค

          เด็กเล็กควรให้รับประทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และการอยู่ในที่มีผู้คนแออัด โรคนี้มีความรุนแรงมากโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ อุบัติการณ์ของโรคในเด็กไทยช่วงอายุนี้อยู่ระหว่าง 5 - 30 ต่อแสนประชากร ที่สำคัญคือ เชื้อมีการดื้อยาปฏิชีวนะสูงมากขึ้น ทำให้โรคมีอาการรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นถ้าเด็กมีอาการไข้สูง กินนมได้น้อย ซึมลง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

          กลุ่มโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โดย โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถสร้างสารพิษก่อโรค diphtheria toxin เกิดการตายของเยื่อบุผิว เห็นเป็นแผ่นเยื่อสีเทาบริเวณต่อมทอนซิล ลำคอและกล่องเสียง เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ ขาดออกซิเจน สารพิษทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตตามมาได้

          อุบัติการณ์โรคคอตีบในประเทศไทยสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เป็นผลจากแรงงานต่างด้าวที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานการทำงานและแพร่ระบาดในชุมชน บาดทะยัก เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนแผล ทำให้เกิดอาการอัมพาตชนิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง กลืนอาหารลำบาก ภาวะหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้

          ไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำให้มีอาการไออย่างรุนแรงเป็นระยะเวลานาน หรือที่เรียกว่า "ไอร้อยวัน" เด็กที่เป็นโรคนี้จะไอมาก เกิดโรคปอดบวมและเสียชีวิตได้ โรคนี้มีความรุนแรงมากโดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เพราะทำให้หยุดหายใจและชักได้ โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยวัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนชนิดเข็มรวมที่มีประสิทธิภาพสูงและมีภาวะข้างเคียงเช่น อาการไข้ ปวดและบวมตำแหน่งที่ฉีดน้อยกว่าวัคซีนเดิม

          นอกจากนี้ยังมีโรคของสตรี เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 2 ของสตรีไทยรองจากมะเร็งเต้านม และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดแรกที่พบว่ามีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง

          การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะได้ผลดีเมื่อสามารถค้นหาโรคได้ในระยะเริ่มแรกโดยการตรวจภายใน และสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดหรือรังสีรักษา แต่หากพบโรคในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้แก่เด็กหญิงตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไป การให้วัคซีนในเด็กหญิงก่อนวัยรุ่นได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก โดยหวังว่ามีภูมิคุ้มกันก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและยังไม่มีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี

          ที่สำคัญคือ การให้วัคซีนในเด็กหญิงก่อนวัยรุ่น มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าวัยอื่น ๆ นอกจากนี้ เพศหญิงอายุ 13 ถึง 26 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีน ควรฉีดวัคซีนให้ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ได้รับวัคซีนครบ ก็ต้องมีความตระหนักในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน

โรคติดเชื้อในเด็กอื่น ๆ ที่ระบาดได้บ่อย และวัคซีนป้องกันโรคยังอยู่ระหว่างการวิจัย ได้แก่

          โรค RSV เป็นโรคที่เกิดจากไวรัส Respiratory Syncytial Virus พบมากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ติดต่อได้ง่ายทางการสัมผัสใกล้ชิด และทางลมหายใจ ทำให้เกิดหลอดลมฝอยอักเสบ และรุนแรงเป็นปอดอักเสบได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก บางรายไอมากจนอาเจียน ตัวเขียว ซึมลง

          ไวรัส RSV ยังไม่มีวัคซีนป้องกันรวมถึงไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ แก้ไขภาวะขาดน้ำ ใช้ยาพ่นขยายหลอดลมร่วมกับการให้ออกซิเจนเช็ดตัวลดไข้ หลังจากหายแล้ว หลอดลมของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจซ้ำ การป้องกันไวรัส RSV คือ การล้างมือเด็กและพี่เลี้ยงบ่อย ๆ แยกเด็กและเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค

          โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ระบาดในเด็กอนุบาลและวัยเรียนได้บ่อย สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัสที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลในช่องปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สาเหตุของโรคที่รุนแรงเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ EV 71 ทำให้ผู้ป่วยมีไข้สูง อาเจียนมาก หายใจหอบ มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำจนช็อก

          กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มีอาการชักเกร็ง ซึม และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย ตลอดจนการติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู และอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคชนิดนี้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และยังไม่มียารักษาจำเพาะ รักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด

          การเฝ้าระวังโรคที่อาจจะเข้ามาพร้อมกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะทำให้สามารถควบคุมเหตุการณ์การเกิดโรคระบาดและมีการเตรียมพร้อมวิธีการแก้ไขรับมือได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่ประเทศไทยมีระบบทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขที่ดีอยู่แล้วนั้น จึงทำให้ประเทศไทยนั้นได้เปรียบเป็นอย่างมากในเรื่องของการเฝ้าระวังโรค และการฉีดวัคซีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยป้องกันโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น

          ในปัจจุบันวงการสาธารณสุขเมืองไทยจึงมีการตื่นตัวรณรงค์ในเรื่องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยและเป็นการป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาดก่อนการอุบัติของโรคจริงเมื่อเปิดประตูเสรีอาเซียน







ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลกรุงเทพ






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับตาโรคที่มาพร้อมการเปิดตลาด AEC และวัคซีนป้องกัน อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2558 เวลา 21:03:20 4,508 อ่าน
TOP