ก้มลงมองเท้าตัวเองดูเดี๋ยวนี้เลยว่า นิ้วหัวแม่เท้าของเราโค้งงอผิดปกติหรือเปล่า โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ชอบใส่รองเท้าหัวแหลม คุณอาจเสี่ยงภาวะนิ้วหัวแม่เท้าผิดรูปมากกว่าเพื่อน
หลายคนไม่ค่อยใส่ใจอวัยวะเบื้องล่างที่ช่วยพาเราเดินเหินไปยังทุกหนทุกแห่งอย่าง "เท้า" อย่างมากก็แค่ทำความสะอาด ไม่ค่อยสนใจทาครีมบำรุงผิว หรือตรวจสอบความผิดปกติของ "นิ้วเท้า" ทั้งที่ก้าวเดินไปกับเราทุกวัน ๆ มาเริ่มใส่ใจอีกทีก็ตอนที่เดินไปแล้วรู้สึกเจ็บ ปวดนิ้วโป้งเท้าขึ้นมาดื้อ ๆ พอสำรวจดูถึงสังเกตว่า ทำไมนิ้วโป้งดูงอเอียงผิดปกติไปนะ ราวกับถูกบีบรัดอย่างไรอย่างนั้น
อาการผิดปกตินี้เรียกว่า "ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป" (Hallux Valgus หรือ Bunion) จะเรียกว่า "ภาวะนิ้วโป้งเท้าเก" ก็ไม่ผิดนัก ด้วยอาการที่แสดงออกอย่างเห็นได้ชัด ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย กระปุกดอทคอม จะพาไปรู้จักภาวะนี้ พร้อมวิธีป้องกัน และการรักษาที่ถูกต้อง
ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป คืออะไร
ปกติแล้วเวลาเราเดิน นิ้วหัวแม่เท้าจะต้องงอประมาณ 75 องศาก่อนที่เท้าจะก้าวพ้นพื้น แต่ถ้านิ้วหัวแม่เท้าไม่สามารถงอในลักษณะที่ช่วยเป็นแรงส่งได้ก็จะเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมา ซึ่งภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป เป็นภาวะที่มีนิ้วหัวแม่เท้าส่วนปลายเอียงเข้าหานิ้วชี้ ทำให้กระดูกของนิ้วหัวแม่เท้านูนออกมา ปลายเท้าแบนกว้างขึ้น ถ้าเป็นมาก ๆ ปลายนิ้วหัวแม่เท้าจะซ้อนใต้นิ้วเท้า การเอียงจะทำให้แรงดึงในเส้นเอ็นต่าง ๆ ของนิ้วเท้าผิดแนวไป และยิ่งทำให้นิ้วผิดรูปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนการเกิดอักเสบของข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าตามมา
สาเหตุที่ต้องรู้ ทำไมนิ้วหัวแม่เท้าถึงเอียงผิดรูป
ลองเช็กดูว่าใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ขึ้นกับตัวเอง
- คนที่ชอบใส่รองเท้าคับ เล็กเกินไป และส้นสูงเกินไป โดยเฉพาะรองเท้าหัวแหลม จะยิ่งทำให้นิ้วโป้งเท้ารับแรงกดมาก เพราะน้ำหนักตัวถูกทิ้งไปที่นิ้วเท้า ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับเพศหญิงวัยกลางคนขึ้นไป เพราะใส่ส้นสูงอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี
- เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือพันธุกรรม เช่น บางคนอาจมีเท้าแบน การมีกระดูกนิ้วเท้าชิ้นหนึ่งที่ยาวผิดปกติ หรือกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าเอียงออกเอง
- เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เช่น ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม รูมาตอยด์ ก็ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ จะมีอาการปวดที่โคนนิ้วหัวแม่เท้า
อาการแสนทรมานของคนป่วยนิ้วงอผิดรูป
คนที่มีภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูปในระยะแรกอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ อาจสังเกตเห็นเพียงนิ้วเท้าเอียงไม่สวยงาม จนมารู้สึกอีกทีก็รู้สึกปวดนิ้วเท้าและโคนนิ้วหัวแม่เท้าที่อยู่ระหว่างนิ้วชี้แล้ว นิ้วเท้าจะมีอาการบวมแดง ยิ่งถ้าใส่รองเท้า เดิน วิ่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักที่เท้าจะรู้สึกเจ็บปวดยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ถ้าเป็นนาน ๆ จะเกิดตาปลาที่นิ้วแม่เท้า ฝ่าเท้า เกิดเล็บขบ เพราะมีแรงบีบแรงกดมาก ยิ่งกว่านั้นอาจเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้ขยับนิ้วลำบาก อาการแบบนี้พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
อีกอาการหนึ่งที่อาจพบได้คือ เข่าพัง เพราะการที่น้ำหนักตัวทั้งหมดลงไปอยู่ที่นิ้วเท้า จะทำให้ขาและข้อเท้าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น กระดูกอ่อนจะอ่อนแอลง ทำให้เกิดอาการปวดเข่าตามมา
วิธีการรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป
การรักษามีอยู่ 2 วิธี คือ ใช้การผ่าตัด หรือไม่ผ่าตัด
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เป็นวิธีรักษาที่ใช้กับคนที่มีอาการไม่มาก ซึ่งทำได้ทั้ง
- ปรับเปลี่ยนรองเท้าที่ใส่ โดยเลือกรองเท้าที่ใหญ่ขึ้น มีหน้ากว้างขนาดพอดีกับเท้า พื้นรองเท้านิ่ม
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงมากกว่า 2 นิ้ว รวมทั้งรองเท้าหัวแหลมที่บีบรัดเท้า
- คนที่มีภาวะเท้าแบน หรือมีข้อนิ้วเท้าหลวม ควรตัดแผ่นรองเท้าเพื่อเสริมอุ้งเท้า จะได้ช่วยลดอาการปวดเวลาเดิน
- การแช่เท้าในน้ำอุ่น หรือประคบด้วยความเย็น ช่วยทำให้อาการปวดลดลงได้
- ใช้กายอุปกรณ์ เฝือกอ่อน หรือพันผ้ารัดนิ้วเท้าไว้
- ทำกายภาพบำบัด เช่น นวด การยืดหรือดัดข้อ
- ทานยาแก้ปวดลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือทานยาคลายกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะเป็นผู้สั่ง
2. การรักษาด้วยการผ่าตัด
ในกรณีที่คนไข้มีอาการปวดมาก ๆ และมีข้อผิดรูปมาก หรือมีลักษณะของข้อเสื่อมเกิดขึ้น แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัด โดยไม่ใช่การผ่าตัดให้นิ้วเท้ากลับมาตรงเหมือนเดิม แต่จะพิจารณาว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีความผิดปกติของกระดูกนิ้วหัวแม่เท้าอย่างไร แล้วเลือกการผ่าตัดให้เหมาะกับแต่ละคน เช่น ตัดก้อนที่นูนออก การตัดกระดูกเพื่อเปลี่ยนแนวให้ตรงขึ้น การเชื่อมข้อ ฯลฯ โดยทั่วไปจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขทั้งในส่วนการเย็บซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่หลวม และการปรับจัดแนวกระดูกให้กลับมาใกล้เคียงกับแนวปกติ
ไม่อยากเจ็บปวด ป้องกันก่อนดีกว่า
ในกรณีที่นิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูปไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติของกระดูก วิธีป้องกันก็คือต้องเลือกสวมรองเท้าให้เหมาะสม คือ ไม่สวมรองเท้าส้นสูงจนเกินไป ไม่สวมรองเท้าหัวแหลม หรือรองเท้าเล็กเกินไป เพราะรองเท้าจะบีบนิ้วเท้าให้เอียงจนเกิดความเจ็บปวดตามมา
สังเกตดูว่าเวลาเราใส่รองเท้าเดินแล้วรู้สึกเจ็บนิ้วโป้งหรือเปล่า ถ้ามีอาการแบบนี้ ควรพบแพทย์ให้ตรวจอย่างละเอียด เพื่อจะได้รักษาอาการที่เกิดขึ้น