x close

โรคลิชมาเนีย โรคจากริ้นฝอยทราย รู้ให้ชัด ใครเสี่ยง

โรคลิชมาเนีย โรคจากริ้นฝอยทราย รู้ให้ชัด ใครเสี่ยง
ภาพจาก medicinenet.com
 
 
          โรคลิชมาเนีย ฟังชื่อไม่ค่อยคุ้น แต่ก็พบคนป่วยในไทยอยู่ทุกปี ลองมาเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อการรับมืออย่างถูกวิธี

          ไม่นานมานี้เราก็อาจจะได้ยินชื่อ "โรคลิชมาเนีย" หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคลิชมานิเอซิส" (Leishmaniasis) จากข่าวลือที่บอกว่าพบผู้ป่วยกว่า 20 คนในจังหวัดเชียงใหม่ แต่สุดท้ายคณะแพทย์ก็แถลงยืนยันว่าไม่พบผู้ป่วยอย่างที่เป็นข่าว ถึงกระนั้นเนื่องจากที่ผ่านมาก็เคยพบผู้ป่วยโรคนี้อยู่ประปรายในทุกปี เราก็ควรรู้จักโรคลิชมาเนียกันไว้บ้าง เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุของโรค และปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากการเป็นกลุ่มเสี่ยง

โรคลิชมาเนียคืออะไร ไขข้อข้องใจให้กระจ่าง


          โรคลิชมาเนีย หรือ โรคลิชมานิเอซิส (Leishmaniasis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง สุนัข วัว แมว สู่คนได้โดยมีพาหะเป็นริ้นฝอยทราย (Sand fly) สามารถติดต่อได้จากการถูกริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อกัด โดยโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania) ที่สามารถทำให้เกิดโรคในคนนั้นมีถึง 20 สายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะระบาดในประเทศแถบยุโรปตอนใต้บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี กรีซ สเปน ประเทศแถบเอเชียกลาง เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้

โรคลิชมาเนีย โรคจากริ้นฝอยทราย รู้ให้ชัด ใครเสี่ยง
ภาพจาก sc.mahidol.ac.th

อาการของโรคลิชมาเนีย

          หลังจากถูกตัวริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อกัดแล้ว เชื้อจะมีระยะเวลาในการฟักตัวตั้งแต่ 2 - 3 วัน หรืออาจจะกินเวลายาวนานไปเป็นปีก็มี แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานกว่าสำแดงอาการ ซึ่งโรคนี้หากผู้ป่วยติดเชื้อก็อาจจะหายเองได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ ปัจจัยทางพันธุกรรม และภูมิต้านทานในร่างกายของแต่ละคน ซึ่งหลังจากเชื้อฟักตัวแล้วจะแบ่งอาการออกได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 1. อาการที่ผิวหนัง  (Cutaneous Leishmaniasis หรือ CL)


ภาพจาก missinglink.ucsf.edu

          อาการที่ผิวหนังเริ่มแรกจะมีตุ่มนูนพองใสและแดงทั่วตัว เมื่อกลายเป็นแผลก็อาจจะเป็นแผลเปียกหรือแผลแห้งก็ได้ ขอบแผลนูน นอกจากนี้แผลยังสามารถลุกลามจากแผลเล็ก ๆ หลาย ๆ แผลกลายเป็นแผลใหญ่ได้

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 2. อาการที่เยื่อบุบริเวณปาก และจมูก (Mucocutaneous Leishmaniasis หรือ MCL)

โรคลิชมาเนีย โรคจากริ้นฝอยทราย รู้ให้ชัด ใครเสี่ยง
ภาพจาก sc.mahidol.ac.th

          อาการที่เยื่อบุนี้จะทำให้เกิดแผลตามใบหน้า โพรงจมูก ปาก รวมทั้งลำคอ โดยแผลอาจจะทำให้รูปหน้าผิดไปจากเดิม รวมทั้งมีอาการไข้ ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 3. อาการที่อวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis หรือ VL)

          อาการนี้ปัจจุบันมักจะเรียกว่า คาลา-อซาร์ (Kala - azar) เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน โดยอาการสำคัญของโลกนี้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามไว้ก็คือ มีอาการไข้เรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 10 วัน ซีด ม้ามโต ตับโต ซึ่งหากได้รับการรักษาจนหายแล้วผู้ป่วยอาจจะมีอาการทางผิวหนังหลงเหลือได้แก่ ตุ่มนูน ปื้น หรือด่างดวง บางรายอาจจะมีหลายลักษณะผสมกัน

กลุ่มเสี่ยงของโรคลิชมาเนียคือใครกันบ้างนะ?

          ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือกลุ่มคนที่ต้องเดินทางไปทำงานในประเทศแถบที่มีการระบาดในของโรคลิชมาเนีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนในวัยทำงานตั้งแต่ 15 - 65 ปี ซึ่งมีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ หรือต้องเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า เป็นต้น หรือจะเป็นผู้ที่มีที่พักอาศัยอยู่ใกล้ป่า หรือในป่าในภาคใต้และภาคเหนือ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ขณะที่การเลี้ยงสัตว์ อาทิเช่น สุนัข แมว วัว ควาย ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้เพราะริ้นฝอยทรายอาจจะนำเชื้อจากสัตว์เหล่านั้นมาสู่คนอาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ก็มีโอกาสจะติดโรคลิชมาเนียได้กว่าคนปกติทั่วไปอีกด้วยค่ะ

วิธีการรักษาโรคลิชมาเนีย

          การรักษาโรคลิชมาเนียแบ่งออกเป็น 3 วิธีได้แก่ การรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก การรับประทานยา หรือแม้แต่การรักษาด้วยการฉีดยา ซึ่งการรักษาด้วยยาฉีดนั้นจะใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และต้องอยู่ภายในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยยาที่ใช้ในการรักษาได้แก่ เพนทาวาเลนซ์ แอนติโมเนียล (Pentavalent Antimonials), เพนทามิดีน (Pentamidine), พาโรโมมัยซิน ซัลเฟต (Paromomycin Sulfate), มิเลทโฟซีน (Miletefosine), คีโทโคนาโซล (Ketoconazole) โดยยาเหล่านี้ที่ใช้ในการรักษามีผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ในขณะที่ใช้ยาเหล่านี้รักษา

วิธีการป้องกันโรคลิชมาเนีย

          การป้องกันโรคลิชมาเนียนอกจากจะป้องกันด้วยตนเองแล้ว การร่วมมือกันในชุมชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากในชุมชนที่อาศัยมีการกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิดพาหะในการเกิดโรคได้ก็จะช่วยการติดเชื้อลงได้ค่ะ โดยวิธีการป้องกันมีดังนี้

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 1. กำจัดต้นตอแหล่งกำเนิดพาหะอย่างริ้นฝอยทรายด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และในชุมชมให้สะอาดและชเป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อไม่ให้ริ้นฝอยทรายมีแหล่งในการเพาะพันธุ์

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 2. หลีกเลี่ยงการนำสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไว้ใกล้ตัวบ้าน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องเลี้ยงใกล้บ้านจริง ๆ ควรให้สัตว์อยู่ในมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันริ้นฝอยทราย หรือนำปลอกคอชุบสารเคมีชนิดเดียวกันแล้วนำไปใส่ให้สัตว์เลี้ยงก็สามารถช่วยป้องกันสัตว์ถูกริ้นฝอยทรายกัดได้เช่นกัน

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 3. แต่งตัวให้มิดชิดและรัดกุมในขณะที่ต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่ และควรทายากันยุงในบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้าเพื่อป้องกันริ้นฝอยทรายกัด

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 4. เวลานอนควรนอนกางมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันแมลง ซึ่งจะช่วยป้องกันยุงและตัวริ้นฝอยทรายได้

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif 5. ในกลุ่มคนที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคลิชมาเนีย หากพบว่าโดนริ้นฝอยทรายกัดบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และป้องกันไม่ใช่เชื้อดังกล่าวแพร่กระจายไปยังผู้อื่นต่อไป

          แม้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวแต่ที่จริงแล้วเจ้าโรคนี้ก็ไม่ได้ไกลตัวเราอย่างที่คิดนะคะ เพราะฉะนั้นอย่างมัวแต่เพิกเฉยกันเลยจะดีกว่า อย่างน้อยหาทางป้องกันเอาไว้ก่อนจะดีที่สุด







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
 












เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคลิชมาเนีย โรคจากริ้นฝอยทราย รู้ให้ชัด ใครเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2558 เวลา 13:11:03 25,954 อ่าน
TOP