x close

ศธ.เดินหน้ารณรงค์ โรงเรียนปลอดบุหรี่

เลิกบุหรี่

ศธ.ตั้งเป้าเยาวชนไทย 12 ล้านคน ปลอดบุหรี่ เดินหน้ารณรงค์ รร.ปลอดบุหรี่ (สำนักข่าวไทย)

           ศธ.เดินหน้ารณรงค์โรงเรียนปลอดบุหรี่ ตั้งเป้าเยาวชนไทย 12 ล้านคน ปลอดบุหรี่ เผยตัวการทำเยาวชนสูบบุหรี่มากถึงร้อยละ 80 คือ เพื่อน ขณะที่พฤติกรรมเยาวชนยุคใหม่สูบบุหรี่มวนน้อยลง แต่เปลี่ยนเป็นบารากู่ ยาเส้น วอนสรรพสามิตเร่งควบคุม  

           นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน "พลังครูรณรงค์เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่" ว่า โรงเรียนถือเป็นสิ่งแวดล้อมสำคัญในการชักชวนให้เยาวชนอายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ เพราะช่วงวัยรุ่นถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ดังนั้น บุคลากรของ ศธ.จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบาย เพื่อให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเริ่มนำร่องโรงเรียนปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ 4 ภาค ใน จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น จันทบุรี และสงขลา รวม 81 โรงเรียน มาแล้ว ตั้งเป้าในอนาคตเยาวชนไทย 12 ล้านคน ที่เป็นเด็กวัยเรียนต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา มีสุขภาพที่ดี ปลอดบุหรี่

           ด้าน นพ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลทำให้เยาวชนสูบบุหรี่มากที่สุด คือ เพื่อน ร้อยละ 80 รองลงมาคือ บิดา ร้อยละ 8.9 มารดา ร้อยละ 3.7 และศิลปินดาราที่ชื่นชอบร้อยละ 0.5

           ทั้งนี้ ในบุหรี่มีสารเสพติดทั้งนิโคติน แคดเมียม คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งหากไม่มีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันอาจตกเป็นทาสของบุหรี่  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายรายใหม่ของธุรกิจยาสูบ คือ เด็ก ผู้หญิง และคนมีการศึกษาน้อย ส่วนกลยุทธ์ใหม่ที่พบในการชักชวนให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ มีทั้งการโฆษณาแฝง โฆษณาทางอ้อมที่มากับเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งโรงเรียน และภาครัฐ ต้องปรับตัวในการควบคุม รวมถึงกลวิธีในการสูบบุหรี่แบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ที่เน้นการสูบนิโคตินโดยตรงถือเป็นบุหรี่ปลอมที่ไม่ต้องเสียภาษี เพียงแค่เสียบแบตเตอรี่แล้วสูบ นิโคตินก็เข้าสู่ร่างกาย

           ผศ.ดร.ศุภวรรณ มโนสุนทร หัวหน้าศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมโรคไม่ติดต่อ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย และบุคลากรในโรงเรียน ปี 2552 เปรียบเทียบกับปี 2548 พบในกลุ่มอายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 11.17 ซึ่งแม้จะไม่เพิ่มขึ้น แต่พบว่าชนิดของการสูบกลับไม่ใช่บุหรี่ซื้อแบบเดิม แต่นิยมบารากู่ บุหรี่มวนเอง บุหรี่ไร้ควันในเด็ก ขณะที่มีบุคลากรครูที่ผ่านการอบรม และให้ความรู้อย่างถูกต้องในการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 34.6 และยังพบว่าอัตราการสอนในห้องเรียนเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ หรือพิษภัยเกี่ยวกับบุหรี่ ลดลงเหลือร้อยละ 59.6 จากเดิม 61.9

           ผศ.ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า จากข้อมูลยังพบว่า มีเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ต้องการลองสูบมากถึงร้อยละ 70 ในขณะที่เด็กที่เคยลองสูบบุหรี่แล้ว และต้องการเลิกสูบ มีจำนวนร้อยละ 75 และยังพบว่าการนิยมสูบบุหรี่ของวัยรุ่นส่วนใหญ่ลอกเลียนมาจากอินเทอร์เน็ต นิยมนำยาเส้นเพียงซองละ 5 บาท มาใช้เคี้ยวแทนการสูบบหรี่ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง โดยพบมากถึงร้อยละ5.7 จึงขอให้กรมสรรพสามิตเร่งควบคุมภาษียาเส้น เนื่องจากไม่มีหลักแหล่งจำหน่ายที่แน่ชัด  และง่ายแก่การเข้าถึง เพราะราคาถูก และหาซื้อได้ง่าย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศธ.เดินหน้ารณรงค์ โรงเรียนปลอดบุหรี่ อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2553 เวลา 17:33:17 1,097 อ่าน
TOP