x close

โรคหัด และหัดเยอรมัน ภัยสุขภาพที่ต้องระวัง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

          ทำความรู้จักกับโรคหัด และ หัดเยอรมัน ให้มากขึ้น ให้รู้กันไปเลยว่าทั้ง 2 โรคนี้แตกต่างกันอย่างไร และมีสาเหตุที่มา อาการ การรักษา และสามารถป้องกันให้พ้นจากโรคเหล่านี้ได้อย่างไรกันบ้าง
โรคหัดเยอรมัน


          โรคหัด และหัดเยอรมัน คงเป็นชื่อที่หลาย ๆ คนได้ยินและรู้จักกันดี แม้ว่าในปัจจุบันอัตราการเกิดของโรคนี้จะไม่สูงมาก แต่ก็เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทั้งโรคหัด และหัดเยอรมันนั้นสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งหากไม่เคยได้รับวัคซีนก็อาจจะทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อจาก­­­ผู้ป่วยได้ง่าย

          ว่าแต่เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่าโรคหัด และหัดเยอรมันแตกต่างกันอย่างไร แล้วที่มาของโรคเกิดจากอะไร และจะป้องกันได้อย่างไร วันนี้เรามีความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับโรคหัดและหัดเยอรมันโดย นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา มาฝากจากนิตยสาร Happy+ ค่ะ

          เมื่อปลายปีที่แล้วมีข่าวทางสาธารณสุขที่สำคัญข่าวหนึ่งคือ เกิดการระบาดของโรคหัดในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เกิดหลังจากไปเที่ยว­­­สวนสนุก โดยทางการเชื่อว่าเกิดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อหัดไปเที่ยวสวนสนุกแ­­­ละไอจามในบริเวณตัวอาคาร และเชื้อที่อยู่ในพื้นที่นั้นก็ติดต่อไปยังคนจำนวนมาก

          โรคหัดและหัดเยอรมัน ถือเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง โดยมีอาการหลักก็คือ อาการไข้ออกผื่น ความสำคัญของทั้งสองโรคนี้คือ เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมาก และเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือพิการได้ จนทำให้มีการคิดค้นวัคซีนเพื่อมาใช้ในการป้องกันโรคนี้

โรคหัด

ทำไมเราต้องกลัวโรคนี้

          ในประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เราอาจจะคุ้นเคยแต่โรคไข้ออกผื่นชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ร้ายแรง แต่ไม่คุ้นเคยกับโรคหัด ทำให้ไม่ทราบถึงความน่ากลัวของโรคนี้ โดยหัดเป็นโรคที่สามารถก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ อาการแทรกซ้อนของโรคหัดนั้นมีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น อาการท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ ไปจนถึงอาการแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ อาการชักที่สามารถเกิดได้ทั้งแบบมีไข้และไม่มีไข้ ไข้สมองอักเสบและเสียชีวิต

          โดยการเสียชีวิตจากโรคหัด ส่วนมากเกิดจากปอดอักเสบและอาการทางสมอง โดยมักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ หรือผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 20 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2 คน ต่อผู้ติดเชื้อ 1,000 คน

โรคหัด

          หัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles โดยการติดต่อจะเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจรวมไปถึงจมูกและลำคอ เมื่อเชื้อเข้าไปในตำแหน่งดังกล่าวนี้แล้วก็จะแบ่งตัวในทางเดิน­­­หายใจ ใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน จึงเริ่มมีอาการ โดยอาการเริ่มต้นจะเป็นอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง ไข้จะเริ่มจากไข้ต่ำ ๆ จากนั้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไข้อาจจะสูงได้ถึง 41-42 องศาเซลเซียส

          หลังจากมีไข้ได้ประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้น โดยเริ่มขึ้นจากศีรษะ ก่อนจะขยายลงมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ตามลำดับ ผื่นเหล่านี้อาจมีอาการคันได้บ้าง หลังจากนั้น ในรายที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้จะค่อย ๆ ลดลง รวมทั้งผื่นก็จะค่อย ๆ หายไปตามลำดับเหมือนกับตอนที่เริ่มขึ้นมา บริเวณใดที่เป็นผื่นมาก ๆ ผิวหนังตรงตำแหน่งนั้นอาจจะลอกหรือเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำได้

          การติดต่อของโรคหัด มักเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการไอจามของผู้ป่วยที่ติดตาม­­­พื้นผิว จากนั้นนำไปโดนเยื่อบุ อย่างเช่น การแคะจมูก หรือขยี้ตา แต่ก็สามารถติดต่อทางการหายใจได้หากอยู่ในพื้นที่ปิด และบางครั้งพบว่าแม้ผู้ป่วยจะออกจากห้องนั้นไปหลายชั่วโมงแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อนี้ได้อยู่

          โรคหัดเป็นโรคติดเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายมาก ในพื้นที่ปิดหรือคนที่อยู่บ้านเดียวกัน พบว่าอัตราการติดต่อสูงถึง 90% สูงยิ่งกว่าไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอัตราการติดต่ออยู่ที่ประมาณ 15-30% อีกทั้งการแพร่เชื้อก็สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะปรากฏผื่นขึ้น­­­ตามตัว ทำให้โอกาสที่เราจะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อหัดโดยไม่ฉีดวัคซีนป้อ­­­งกันนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

โรคหัด

การรักษาหัด

          สิ่งที่เราทำได้คือ การดูแลตามอาการจนกว่าโรคจะสงบไปเอง ให้ยาลดอาการไข้ ให้น้ำเกลือ หรือสารน้ำในกรณีที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ดูแลการหายใจในก­รณีที่เกิดปอดอักเสบ การให้ยาปฏิชีวนะมักใช้ในกรณีเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนตามหลังโรค­­­หัด

การป้องกัน

          1. ฉีดวัคซีน เป็นการป้องกันทางเดียวที่ได้ผลดีที่สุด โดยวัคซีนนี้จะเริ่มฉีดครั้งแรกเมื่อเด็กมีอายุได้ 9 เดือน สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนเป็นกรณี ๆ ไป

          2. รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการนำมือมาจับใบหน้า เนื่องจากเชื้อนี้สามารถติดต่อจากสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยได้

          3. หลีกเลี่ยงการพาเด็กทารกไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เนื่องจากก่อนช่วงอายุ 9 เดือน ยังไม่ถึงกำหนดฉีดวัคซีน เด็กจะอาศัยภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดา ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้ว่­­­าจะมีประสิทธิภาพจนถึงเมื่อใด ดังนั้น เด็กวัยนี้จึงควรหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก

โรคหัด

โรคหัดเยอรมัน

          หัดเยอรมัน เป็นไข้ออกผื่นอีกชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella การติดเชื้อจะเริ่มจากเมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้ว เชื้อจะกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดอาการเริ่มต้นเป็นไข้ โดยมากจะเป็นไข้ต่ำ ๆ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตาแดง ปวดข้อ หลังจากเริ่มมีไข้ได้ 2-3 วัน จะเริ่มมีผื่นแดง ๆ เกิดขึ้นที่ใบหน้า จากนั้นค่อย ๆ ลามลงไปตามลำตัวและแขน (แต่ต่างจากหัดตรงที่ว่าผื่นน้อยกว่าและหายเร็วกว่า บางครั้งผื่นที่ใบหน้าเริ่มหายแล้วขณะที่ผื่นเพิ่งเริ่มขึ้นที่­­­แขนขา)

          การติดต่อของหัดเยอรมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการติดต่อของโรคหัด­­­ คือติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งตามพื้นผิวและนำไปป้ายถูกท­­­ี่เนื้อเยื่ออ่อนตามปาก จมูก ตา และบางส่วนติดต่อผ่านทางการไอ จาม

ทำไมเราต้องกลัวโรคนี้

          เมื่อเทียบกับโรคหัดแล้ว หัดเยอรมันถือว่าเป็นโรคที่มีอาการแทรกซ้อนน้อยกว่ามาก เพราะอาการเป็นไข้ออกผื่นที่มีไข้ต่ำ ๆ และอาการทั่วไปคล้ายหวัด โอกาสเสียชีวิตจากปอดอักเสบ สมองอักเสบ ต่ำกว่าโรคหัดมาก

          แต่ที่เราต้องกลัวเนื่องจากหากผู้ที่ป่วยเป็นหัดเยอรมันคือหญิง­­­ที่ตั้งครรภ์ จะเกิดปัญหารุนแรงตามมา โดยพบว่า 90% ของหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วติดเชื้อนี้ เชื้อโรคจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ โดยส่วนหนึ่งจะทำให้ทารกเสียชีว­­­ิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แต่ส่วนที่รอดชีวิตมาได้ มักจะเกิดความพิการตามมา ซึ่งมีอาการหลักคือ หูหนวก เกิดต้อกระจกแต่กำเนิด และโรคผนังห้องหัวใจผิดปกติ และมีความพิการอีกหลายชนิดในอวัยวะทั่วร่างกายได้

การรักษาโรคหัดเยอรมัน 

          โดยมากเป็นการรักษาตามอาการและรอให้ตัวโรคหายเอง เพราะอาการของโรคมักจะไม่รุนแรงอยู่แล้ว โดยใช้ยาลดไข้ทั่วไป ดื่มน้ำมาก ๆ อาจจะใช้ยาอมแก้เจ็บคอหรือลดน้ำมูกในรายที่มีอาการของระบบทางเด­­­ินหายใจร่วมด้วย

การป้องกัน

          1. ตรวจก่อนการตั้งครรภ์และฉีดวัคซีน เนื่องจากโรคนี้มีผลต่อเด็กในครรภ์อย่างรุนแรงถึงขั้นพิการได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยก่อนการแต่งงานควรตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหัดเยอรมันหรือเช็­­­กประวัติการฉีดวัคซีนในวัยเด็ก หากไม่มีประวัติการฉีดหรือตรวจพบว่าไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอร­­­มัน ก็ควรฉีดวัคซีน โดยวัคซีนนี้ควรฉีดล่วงหน้า 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
         
          2. รักษาสุขอนามัย ล้างมือหลังจากไปจับสิ่งของรอบตัว ไม่ล้วงแคะ แกะ เกาใบหน้า

          3. หลีกเลี่ยงการพาเด็กทารกที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนี้ไปในที่ที่มีค­­­นมากหรือพลุกพล่าน

โรคหัด

คำถามที่พบบ่อยจากโรคหัดและหัดเยอรมัน

          หัดและหัดเยอรมันเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ไม่ต้องฉีดวัคซีนได้หรือไม่

          พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าโรคไข้ที่มีผื่นทุกชนิดเป็นโรคหัด ความจริงแล้วอาการไข้ที่มีผื่นเกิดได้กับการติดเชื้อหลายชนิด โดยเฉพาะในการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่ไข้ออกผื่นทั่ว ๆ ไปมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่สำหรับหัดเป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดโรคแทรกซ้อนได้รุนแรง แต่เพราะปัจจุบันคนที่ฉีดวัคซีนมีมาก เราจึงไม่ค่อยเห็นคนที่มีอาการรุนแรง

          ในปี 2523 ก่อนที่วัคซีนหัด หัดเยอรมันและคางทูมจะแพร่หลาย ประมาณกันว่าทั่วโลกมีเด็กต้องเสียชีวิตปีละ 2 ล้านคนจากโรคหัด เทียบกับในปัจจุบันที่เด็กที่เสียชีวิตลดเหลือปีละ 1 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร

โรคหัด

วัคซีน MMR ที่ใช้ป้องกันหัด ทำให้เด็กเป็นออทิสติกหรือไม่

          เนื่องจากออทิสติกเป็นโรคที่มักแสดงอาการขึ้นในช่วงอายุ 12 เดือน ทำให้มีคนพยายามเชื่อมโยงเข้ากับการฉีดวัคซีน MMR โดยกระแสความเชื่อผิด ๆ นี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1998 จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งภายหลังถูกถอดออกไปแล้ว จนถึงปัจจุบัน หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ยังไม่พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างโรคออทิสติกและวัคซีน MMR ป้องกันหัด หัดเยอรมัน และคางทูม

ถ้าแพ้อาหารหรือยาชนิดใดที่ควรระมัดระวังการฉีดวัคซีนชนิดนี้

          ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่ม Neomycin แบบรุนแรงแพ้อาหารกลุ่ม Gelatin ต้องแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ และเนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ทำจากเซลล์ไก่ ในผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ไก่ควรแจ้งแพทย์ก่อนการฉีดด้วย

ยังไม่เคยฉีดเลย ควรจะฉีดหรือไม่

          แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการให้ฉีดวัคซีนตามกำหนด แต่บางคนอาจจะลืมไปฉีดหรือมีเหตุที่ทำให้ไม่ได้ฉีดในครั้งนั้น ๆ เมื่อมีโอกาสก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อว่าจะได้ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ หากมีก็ไม่ต้องฉีด แต่หากยังไม่มีจะได้ฉีดเพื่อป้องกันทั้งตนเองและคนรอบข้าง เนื่องจากโรคหัดนี้หากเป็นในผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดผลแทรกซ้อนที่ร­­­ุนแรงเช่นกัน

          ได้ความรู้ดี ๆ เกี่ยวโรคหัดและหัดเยอรมันกันไปแล้ว ก็อย่าลืมดูแลรักษาสุขภาพกันอย่างสม่ำเสมอ และควรปฏิบัติตามวิธีการป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันด้วยนะคะ เพราะไม่มีใครสามารถช่วยปกป้องเราจากโรคภัยได้ดีเท่ากับตัวของเ­­­ราแล้วล่ะค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหัด และหัดเยอรมัน ภัยสุขภาพที่ต้องระวัง ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อัปเดตล่าสุด 21 มิถุนายน 2562 เวลา 17:21:07 100,811 อ่าน
TOP