x close

ธุรกรรมทางการเงิน เพื่อสุขภาพ

ประกันสุขภาพ

ธุรกรรมทางการเงินเพื่อสุขภาพ (Twenty-Four Seven)

          ว่ากันว่าถ้าอายุขัยของคนในปัจจุบันอยู่ที่ 60 ปี จะใช้จ่ายเงินทองเพื่อความเติบโตในครึ่งชีวิตแรก และจะใช้จ่ายรายได้ทั้งหมดที่หามาได้ เพื่อความเสื่อมโทรมของร่างกายในอีกครึ่งชีวิตหลัง และถ้าตอนนี้คุณใกล้จะ…พอดิบพอดี หรือมีอายุเกิน 30 ปีนั่นก็หมายความว่า ชีวิตของคุณจะต้องเผชิญกับรายจ่ายของการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ หลายคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัวเพราะขาดการใส่ใจสุขภาพ

          กันไว้ดีกว่าแก้ ใครไม่อยากแย่ในตอนแก่ ควรรีบศึกษาจัดการเรื่องธุรกรรมการเงินเพื่อสุขภาพไว้แต่เนิ่น ๆ กับนานาสาระความจริงที่เรานำมาฝาก

          คุณควรแบ่งรายรับเป็นเปอร์เซ็นต์ดังนี้ รายจ่ายประจำเดือนสำหรับปัจจัยสี่ 60% เงินออม 20% กองทุนเพื่อสุขภาพ 10% สำหรับความบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ 10% เงินออม 20%

          ประกันชีวิตและสุขภาพ ถือเป็นการออมเงินที่คุ้มค่าและมั่นคง ที่มีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะการออมเงินในรูปแบบกองทุนเพื่อสุขภาพ

          การซื้อประกันสุขภาพควรทำก่อนอายุ 30 ปี ควบไปกับการคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ

          ประกันสุขภาพ/ประกันเพื่อหลังเกษียณ เหมาะกับผู้ที่วางแผนสุขภาพระยะยาว แต่ต้องชำระเบี้ยประกันระยะยาว ส่วนใหญ่จนถึงอายุ 60 ปี ระยะเวลาคุ้มครองสูงสุดอาจถึง 99 ปี ก่อนทำประกันต้องศึกษาผลประโยชน์ที่จะได้รับเช่น ค่าธรรมเนียมผ่าตัด ค่าห้อง ค่าชดเชย เงินคืน และเงินเมื่อครบกำหนด

          คุ้มครองยาวเพื่อบั้นปลายอุ่นใจ การซื้อประกันสุขภาพควรเลือกแบบคุ้มครองยาวดีกว่าแบบระยะสั้น เพราะการทำกรมธรรม์ฉบับใหม่ตอนอายุมากจะทำได้ยาก หรือต้องจ่ายเบี้ยสูง

          จ่ายแบบไหนสำคัญมาก ก่อนการซื้อควรคำนวณรายได้ตัวเองดูว่า เราพอจะชำระค่าประกันแบบรายเดือนราย 3 เดือน, 6 เดือน หรือรายปี ดูระยะเวลาส่ง เวลาคุ้มครองให้เหมาะกับตัวเอง

          เลือกทุนประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวคุณ ทุนประกันสูงย่อมต้องผ่อนส่งสูง จึงควรเลือกงวดเบี้ยประกันตามความสามารถในการผ่อนชำระ และต้องคิดด้วยว่า ในกรณีที่คุณขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงก็สามารถหาเงินมาจ่ายได้ไม่ลำบาก เพราะการจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดคือการผ่อนชำระเงินเบี้ยประกันได้ครบสัญญา การขาดส่งจะทำให้คุณสูญเสียผลประโยชน์ทั้งหมด

          ผู้หญิงควรเลือกประกันชุดพิเศษ เช่น ประกันสุขภาพผู้หญิง ซึ่งจะครอบคลุมโรคของผู้หญิง โดยเฉพาะต้นทุนการดูแลสุขภาพจะต่ำกว่าค่ารักษา
         
          การตรวจสุขภาพถือเป็นต้นทุนสุขภาพอย่างหนึ่ง หัวใจหลักของการตรวจ-สุขภาพ คือการป้องกันก่อนเกิดโรค สำรวจพฤติกรรมความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง

          ราคาของโปรแกรมตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเอกชน แพ็คเกจธรรมดาประมาณ700-4,500 บาท ระดับกลางอยู่ที่ 2,800-14,000 บาท และระดับสูง7,000-30,000 บาท ซึ่งราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทการตรวจ และเครื่องมือที่ใช้เราไม่จำเป็นต้องเลือกตรวจในราคาที่สูงเกินความจำเป็น แต่ควรยึดปัจจัยเสี่ยงของตนเองเป็นหลักโดยดูจากแพ็คเกจต่าง ๆ เปรียบเทียบกัน

          การเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมมีข้อควรคำนึงคือ พฤติกรรมและความเสี่ยงของตน, ประวัติโรคในครอบครัว, การใช้ชีวิต, อายุที่เสี่ยงโรค

          ควรปรึกษาแพทย์ถึงแนวโน้มความเสี่ยงโรคของคุณก่อน เพื่อจะได้เลือกแพ็คเกจประกันสุขภาพที่เหมาะสม

          ประหยัดกว่ากับโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ไม่จัดทำแพ็คเกจตรวจสุขภาพ เหมือนโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่เน้นการตรวจโรคมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ เราสามารถเลือกตรวจโรคได้ตามความเสี่ยงของตน เช่น ผู้หญิงขอตรวจภายในเช็กมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า โรงพยาบาลรัฐที่มีโปรแกรมการตรวจสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละ 1,000 บาท โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าค่าใช้จ่ายในการตรวจครั้งละ 350-500 บาท

          ล่าสุดบริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ ที่ให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ได้เปิดเผยว่าบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ มีโครงการจะใช้งบประมาณสำหรับแผนประกันสุขภาพ เพื่อชาวอเมริกันทั้งหมด 95 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินทั้งสิ้น75 พันล้านดอลลาร์ คงจะดีไม่น้อยถ้าผู้นำของเราจะให้ความสำคัญกับนโยบายแบบนี้ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการศึกษา แต่ก็นั่นแหละ พึ่งใครไม่เท่าพึ่งตัวเอง เพราะสุขภาพของหลายคนอาจไม่ได้อยู่ทนจนเจอฟ้าฝนโปรยปราย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธุรกรรมทางการเงิน เพื่อสุขภาพ อัปเดตล่าสุด 18 เมษายน 2553 เวลา 14:03:14
TOP