x close

คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่


ไข้หวัดใหญ่ 2009



คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ (สำนักจัดการความรู้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)


  
 หลักการในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

         1.ผู้ป่วยควรพักฟื้นที่บ้าน ไม่ควรออกไปพบปะผู้อื่น หรือเดินทางไปในที่ที่มีการชุมนุม หรือที่ที่มีผู้คนแออัด รวมทั้งหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับบุคคลอื่นภายในบ้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน หากครบ 7 วันแล้วยังคงมีอาการบางอย่างหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ให้พักฟื้นอยู่กับบ้าน และหลีกเลี่ยงการพบปะ คลุกคลีกับผู้อื่นต่อไปอีก จนกว่าอาการจะหายสนิทแล้ว 1 วัน

          2.สำหรับบุคคลอื่นที่ต้องการมาเยี่ยมผู้ป่วยให้แนะนำให้โทรศัพท์มาเยี่ยมจะดีกว่า

          3.ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้มีผู้ใหญ่เพียงคนเดียวในบ้านเท่านั้นที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง 6 กลุ่ม ได้แก่ 

         ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ หอบหืด เป็นต้น
         ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี ผู้ป่วยโรคเลือด ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
         หญิงตั้งครรภ์
         ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
         กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
         เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี 

         4.ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ควรสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 

         5.หากผู้ป่วยในครอบครัวเป็นผู้ดูแลผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดูแลผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและให้ผู้อื่นดูแลแทน เช่น ถ้าแม่เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลลูกที่ยังอายุน้อยกว่า 5 ปี เกิดป่วยขึ้นมา ควรมอบความรับผิดชอบในการดูแลลูกให้กับพ่อหรือบุคคลอื่นภายในบ้านเป็นการชั่วคราว ถ้าทำได้ 

         6.ทุกคนในบ้านต้องล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล โดยเฉพาะหลังการสัมผัสกับผู้ป่วย 

         7.ควรจัดให้มีผ้าเช็ดมือแยกสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดมือร่วมกัน หรืออาจพิจารณาใช้กระดาษเช็ดมือถ้าทำได้ 

         8.หากเป็นไปได้ ให้จัดห้องให้ผู้ป่วยแยกจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน และควรปิดประตูห้องของผู้ป่วยไว้ 

         9.สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น หรือใช้กระดาษทิชชู ผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอ จาม 

         10.หากเป็นไปได้ ควรให้ผู้ป่วยใช้ห้องน้ำแยกจากสมาชิกคนอื่นภายในบ้าน 

         11.หากเป็นไปได้ ควรเปิดหน้าต่างบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก


 ถ้าคุณเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

         1.หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าตรงๆ กับผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจไอหรือจามใส่หน้าท่านได้

         2.หากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก ควรอุ้มผู้ป่วยพาดบ่า โดยให้คางผู้ป่วยอยู่บริเวณหัวไหล่ของท่าน หากเด็กไอ หรือจาม จะได้ไอ จามลงบนหัวไหล่

         3.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล โดยเฉพาะหลังการสัมผัสกับผู้ป่วย และหลังการสัมผัสกับเสื้อผ้า หรือสิ่งของที่อาจจะปนเปื้อนเชื้อ 

         4.หากท่านเป็นผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ท่านไม่ควรเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ถ้าเป็นไปได้ 

         5.ติดตามเฝ้าระวังอาการของตัวเองและบุคคลอื่นในครอบครัว เพื่อให้สามารถตรวจพบอาการป่วยได้แต่เนิ่นๆ เพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อสู่บุคคลอื่นในบ้าน


 การทำความสะอาดบ้าน การซักล้าง และการจัดการขยะ

         1.ให้ผู้ป่วยทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่มีฝาปิด หากผู้ใดเป็นผู้นำถังขยะไปทิ้งต้องล้างมือทุกครั้งหลังนำขยะของผู้ป่วยไปทิ้ง 

         2.เช็ดล้างผิวสัมผัส (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โต๊ะข้างเตียง ผนังห้องน้ำ และของเล่นเด็ก) ด้วยน้ำละลายผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดพื้นผิวที่ท่านใช้เป็นประจำ 

         3.ไม่จำเป็นต้องแยกซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย ในการนำเสื้อผ้าผู้ป่วยไปซัก ควรระมัดระวังการปนเปื้อนของเชื้อสู่เสื้อผ้าผู้ซัก (ไม่ควรหอบ (อุ้ม) ผ้าปูที่นอนหรือเสื้อผ้าผู้ป่วย เนื่องจากเชื้ออาจติดตามเสื้อผ้าของผู้ซักได้) และควรล้างมือทุกครั้ง หลังการหยิบจับผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือเสื้อผ้าของผู้ป่วย 

         4.ไม่ควรใช้จานชามร่วมกับผู้ป่วย แต่ไม่จำเป็นต้องแยกล้างจานชามของผู้ป่วย และไม่จำเป็นต้องแยกของใช้ผู้ป่วยออกมาโดยเฉพาะ หลังการล้างจานชาม จานชามเหล่านี้จะสะอาด ผู้ป่วยสามารถใช้ได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2564 เวลา 16:02:03 1,808 อ่าน
TOP