เทียบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย เลือกแบบไหนป้องกันทั้งฝุ่น PM 2.5 และ COVID-19

หน้ากากอนามัย

           ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่เชื้อ COVID-19 ที่เราต้องรับมืออย่างหนักอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมีปัญหามลพิษอย่างฝุ่น PM2.5 ที่คอยบั่นทอนสุขภาพของเราอีกทางด้วย “หน้ากาก” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งในปัจจุบันหน้ากากสำหรับป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นละอองก็มีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้นเราลองมาดูประสิทธิภาพของหน้ากากแต่ละประเภทกันดีกว่า ว่าเลือกแบบไหนถึงจะช่วยปกป้องเราได้มากที่สุด
คุณสมบัติของหน้ากากอนามัย แต่ละประเภท

           เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีขนาดประมาณ 0.1 ไมครอน โดยส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น ละอองฝอยจากการจาม เสมหะ น้ำลาย ซึ่งมีอนุภาคตั้งแต่ 5 ไมครอนขึ้นไป ขณะที่ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ดังนั้น หน้ากากที่จะป้องกันเชื้อไวรัสและฝุ่นพิษเข้าสู่ร่างกายได้ดีควรเป็นชนิดที่กรองอนุภาคขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. หน้ากากผ้า

หน้ากากอนามัย

          หน้ากากผ้าส่วนใหญ่นิยมทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าสาลู ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้ามัสลิน เนื่องจากตัวผ้ามีช่องว่างขนาดเล็ก ซึ่งกรมอนามัยระบุว่า สามารถป้องกันการแพร่เชื้อจากละอองฝอยได้ประมาณ 54-59% ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าที่ผลิต แต่ไม่สามารถป้องกันการซึมทะลุของสารคัดหลั่งได้ทั้งหมด อีกทั้งยังไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากได้ นอกจากนี้การใช้หน้ากากผ้าอาจจะปิดจมูกและปากไม่แนบสนิทเท่าไร ดังนั้นหน้ากากชนิดนี้จึงเหมาะกับคนไม่มีอาการป่วย ไม่ได้อยู่หรือไปในพื้นที่แออัดและมีความเสี่ยงสูง

          แต่ในปัจจุบันหน้ากากผ้าได้มีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการวิจัยพัฒนาหน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน COVID-19 และป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ) โดยการใช้วัตถุดิบจากปิโตรเคมีมาผลิตสำหรับป้องกัน COVID-19 และฝุ่น PM2.5 

          ซึ่งจากการทดสอบพบว่า มีความสามารถในการสะท้อนหยดน้ำหรือละอองน้ำปนเปื้อนเชื้อในระดับ ISO 5 ช่วยป้องกันการเกิดเชื้อแบคทีเรียได้สูงถึง 99.98% และป้องกันอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน (µm) ได้ 84% 

          โดยวัสดุหน้ากากผ้าของ ปตท. นี้ ได้ผ่านการทดสอบจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การทดสอบการกรองอนุภาคสำหรับหน้ากากโดย Research Unit of Applied Electric Field in Engineering (RUEE RMUTL), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และการทดสอบคุณสมบัติของผ้าจาก SGS (Thailand) Limited และ Thailand Textile Institute (สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ)

          หน้ากากชุดนี้ถูกผลิตด้วยผ้าชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องความสะดวกสบายในการหายใจ โดยเป็นผ้าที่เน้นการระบายอากาศได้อย่างเหมาะสมตลอดเวลาที่สวมใส่ อีกทั้งยังมีสายคล้องคอที่ปรับให้กระชับกับสรีระใบหน้าของแต่ละบุคคล และการใช้หน้ากากผ้ายังช่วยลดขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกหลายครั้ง เพียงแค่ซักทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนใส่ ที่สำคัญเราควรใส่หน้ากากผ้าอย่างถูกต้องเพื่อการป้องกันที่ดีที่สุด

หน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัย

หน้ากากผ้าของโครงการวิจัยพัฒนาหน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน COVID-19 และป้องกันฝุ่น PM2.5
(ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยพัฒนา)

2. หน้ากากฟองน้ำ

หน้ากากอนามัย

          หน้ากากฟองน้ำจะเห็นได้บ่อยในรูปทรงหน้ากาก 3D มีความยืดหยุ่นสูง คืนรูปได้ไม่เสียทรง เพราะผลิตมาจากโพลียูรีเทนคาร์บอนสำหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ ใส่แล้วหายใจสะดวก แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันจะค่อนข้างต่ำ กันฝุ่นละอองขนาดเล็กและละอองเกสรไม่ได้ จึงไม่เหมาะใส่เพื่อป้องกันทั้ง COVID-19 และฝุ่น PM2.5

3. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์

หน้ากากอนามัย

           ผลิตมาจากเยื่อกระดาษหนาประมาณ 3 ชั้น และเคลือบสารกันชื้น กันน้ำ ป้องกันการซึมของละอองเสมหะ น้ำมูกและน้ำลายได้ดี โดยข้อมูลจากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาด 5 ไมครอนขึ้นไป สามารถลดการแพร่กระจายของละอองฝอยได้ประมาณ 80% อีกทั้งมีข้อดีตรงที่สามารถหายใจผ่านได้สะดวกเมื่อสวมใส่ อย่างไรก็ตาม หน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถกันฝุ่น PM2.5 ได้ เพราะฝุ่นพิษมีอนุภาคเล็กกว่า 5 ไมครอน

4. หน้ากากคาร์บอน

หน้ากากอนามัย

           หน้ากากคาร์บอนมีลักษณะคล้ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งมีชั้นกรอง 4 ชั้น โดยเพิ่มชั้นกรองคาร์บอนสำหรับกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ และไอของสารเคมีที่มาจากมลพิษทางอากาศ ควันจากท่อไอเสีย สามารถกรองเชื้อแบคทีเรียได้มากถึง 95% และกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กอนุภาค 3 ไมครอน ได้ประมาณ 66.37% ดังนั้นจึงสามารถใส่ป้องกันละอองสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อ COVID-19 ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่มีอนุภาคเล็กกว่า 3 ไมครอนได้

5. หน้ากาก N95

หน้ากากอนามัย

           หน้ากากชนิดนี้ผลิตมาเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องเจอกับสารเคมี สารพิษ หรือฝุ่นละออง จึงกรองฝุ่นละอองขนาด 0.3 ไมครอน ได้สูงถึง 95% อีกทั้งยังออกแบบมาให้ใส่แล้วแนบไปกับใบหน้าอย่างมิดชิด จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันทั้ง COVID-19 และฝุ่น PM2.5 ได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา แต่ข้อเสียของหน้ากากชนิดนี้คือ ใส่แล้วจะค่อนข้างหายใจลำบากจนอาจทำให้ใส่ต่อเนื่องเป็นเวลานานไม่ได้ อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างสูง ประมาณ 69-150 บาท ต่อ 1 ชิ้น

6. หน้ากาก FFP1

หน้ากากอนามัย

           หน้ากาก FFP1 เป็นหน้ากากที่ผลิตมาเพื่อป้องกันอนุภาคขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับหน้ากาก N95 โดยสามารถป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็ก PM2.5 ได้ไม่น้อยกว่า 94% และยังสามารถป้องกันสารเคมีฟูมโลหะ (Metal fume) ได้ ซึ่งหน้ากากชนิดนี้มีความหนา เมื่อใส่แล้วจะกระชับแนบกับใบหน้า ทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวก และยังเป็นหน้ากากที่มีราคาค่อนข้างสูง

7. หน้ากากมีวาล์ว

หน้ากากอนามัย

           หน้ากากแบบมีวาล์วจะช่วยในการระบายอากาศทำให้หายใจได้สะดวก แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคให้กับผู้อื่น เนื่องจากตัววาล์วระบายอากาศนั้นไม่ได้มีชั้นกรองที่จะคอยดักจับเชื้อโรคไว้ได้ ในขณะที่หน้ากากที่ไม่มีวาล์วนั้น ตัวชั้นกรองของหน้ากากจะทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคทั้งจากภายนอกและภายในร่างกาย ถ้าหากมีความจำเป็นต้องใช้งานหน้ากากแบบมีวาล์วควรสวมใส่ Face shield เพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคด้วย
วิธีใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง

          การใส่หน้ากากควรใส่อย่างถูกวิธีเพื่อกันโรคและฝุ่นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสหน้ากาก

  2. ใช้มือจับที่สายคล้องหูทั้ง 2 ข้าง แล้วตรวจสอบความเสียหายและความสะอาดของหน้ากากก่อนสวมใส่

  3. ใส่หน้ากากโดยดึงสายคล้องหูทั้ง 2 ข้าง

  4. ปรับสายหน้ากากให้กระชับ แนบกับใบหน้าที่สุด

  5. เปลี่ยนหน้ากากเมื่อรู้สึกถึงความชื้น หรือสังเกตเห็นความสกปรก

หน้ากากอนามัย

           อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากเป็นเพียงการป้องกันในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยเราควรป้องกันตนเองด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่แออัด หรือพื้นที่ปิด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 และหลีกเลี่ยงการรับมลภาวะทางอากาศเข้าสู่ร่างกาย ที่อาจบั่นทอนสุขภาพและซ้ำเติมอาการป่วยให้แย่ลง เพียงแค่ร่วมมือกัน ยิ่งรักยิ่งต้องห่าง แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย #สานพลังใจWeFightTogether #PTT
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทียบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย เลือกแบบไหนป้องกันทั้งฝุ่น PM 2.5 และ COVID-19 อัปเดตล่าสุด 27 ตุลาคม 2564 เวลา 11:00:56 13,766 อ่าน
TOP