x close

โรคบ้างาน ภัยเงียบ! ของคนทำงาน

โรคบ้างาน

โรคบ้างาน ภัยเงียบ! ของคนวัยทำงาน (ไอเอ็นเอ็น)
 
          โรคบ้างาน ภัยเงียบ! ของคนวัยทำงานที่รักงาน - ชอบทำงานหนัก

          ท่ามกลางการแข่งขันของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้คนเราต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ที่พึ่งก่อร่างสร้างตัวหรือสร้างครอบครัวใหม่ บางคนถึงกบต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เพราะมีความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บ้าน รถ ฯลฯ

          และจากการทำงานที่หนักขึ้น อาจกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพกายและใจได้ โดยไม่รู้ตัวจนส่งผลให้บุคคลนั้นมีอาการของ "โรคบ้างาน"

          คนที่ชอบทำงานหนัก หากได้ยินชื่อโรคนี้อาจจะตื่นตระหนกได้ แต่ความจริงแล้วโรคบ้างานนี้ ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงและน่ากลัวอย่างที่คิด เป็นแค่เพียงภาวะทางจิตอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลอาจจะก่อให้เกิดโรคทางร่างกายตามมา

          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคบ้างาน เดิมทีจะพบมากในผู้ชายญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าโรค Workaholic หรือโรคติดงาน แต่ทุกวันนี้พบในสังคมไทยแล้ว และจากการสำรวจประชากรวัยแรงงาน หรือวัยทำงานของประเทศไทยพบว่า มีจำนวนถึงร้อยละ 67 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้โรคนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น และอาจกลายเป็นภัยที่คุกคามสุขภาพได้ หากใช้ชีวิตในวัยทำงานอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สามารถพบได้ทั้งชายและหญิง เพราะทุกวันนี้ผู้หญิงไทยออกไปทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น เนื่องมาจากสังคมไทยมีการแข่งขันกันสูง การให้ฝ่ายชายไปทำงานนอกบ้านฝ่ายเดียว อาจจะไม่พอรายจ่ายภายในครอบครัว

          โรคบ้างานจะพบได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีบุคลิกเป็นคนสมบูรณ์แบบ เจ้าระเบียบ ชอบแข่งขัน มีความทะเยอทะยาน เอาจริงเอาจัง ในทางจิตวิทยาเกิดจากพฤติกรรมของคนที่ชอบทำงานเยอะ และมีความสุขจากการทำงานซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการเสพติดงาน มีจิตใจคิดวนเวียนอยู่กับการทำงาน

          "อาการเริ่มต้นที่สังเกตได้จากโรคนี้ ได้แก่ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายจนกลายเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ กระเพาะอาหาร และโรคร้ายแรงอื่นได้ และถ้าสังเกตภาวะอารมณ์ ของผู้ที่มีอาการของโรคบ้างาน จะกลายเป็นคนที่มองอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด เกี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยไม่เหมือนเดิมจะให้ความสนใจ แต่เฉพาะในเรื่องของการทำงานจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว

          ส่วนสัญญาณเตือนของโรคบ้างาน สามารถสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดว่า ทำงานหนักเกินไปหรือเปล่าและคอยสังเกตซึ่งกันและกันอยู่เสมอ เช่น การสังเกตการสื่อสารซึ่งกันและกัน การแสดงออกทางการพูดจา ว่ามีอาการชักสีหน้า อารมณ์ฉุนเฉียวเข้าหากันหรือเปล่า เหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนของโรคบ้างานได้"

          "เมื่อสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว จากการทำงานซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณเตือนภัยแล้วในเบื้องต้น ต้องตระหนักรู้ด้วยว่าอาจจะต้องมีการปรับเป้าหมายในชีวิตใหม่ วางแผนในชีวิตใหม่ ชะลอความต้องการความอยากได้ไว้ก่อน และที่สำคัญที่สุดก็คือ การตระหนักรู้ร่วมกันภายในครอบครัว เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขที่ดีสุด"


โรคบ้างาน


          นพ.วชิระ ยังกล่าวอีกว่า โรคบ้างานไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ต้องดูแลรักษาหากไม่ตระหนักรู้ดูแลรักษาแล้ว จะก่อให้เกิดโรคทางร่างกายตามมา อาทิ เช่น เบาหวาน ความดัน เก๊าท์ ไตวาย อัมพาต ถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมการกิน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เพราะมีภาระหน้าที่ต้องทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทั้งหญิงและชาย โดยอาจเกิดขึ้นจาก ความเจ็บปวดของเส้นประสาท ทำให้ลดความรู้สึกลง หรือระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย

          แนวทางการป้องกันรักษาโรคบ้างานนี้ สามารถทำได้เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่ โดยมีสัดส่วนเวลาการทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน ในเวลาทำงานควรมีการผ่อนคลายพักหาวิธีการผ่อนคลาย เช่น หลับตา หายใจลึก สักพัก ระหว่างเวลาทำงาน 1 ชั่วโมง เราควรใช้สมอง 45 นาทีแล้วพัก 10-15 นาที ควรทำอย่างนี้ทุกชั่วโมง การปรับเวลาเหล่านี้ควรเป็นไปตามสัดส่วนที่ธรรมชาติร่างกายต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องไปปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็ได้

          แต่ถ้ารู้สึกว่าหนักไม่ไหวแล้ว ก็สามารถโทรขอคำปรึกษาไดที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาคลินิกคลายเครียด ที่มีอยู่ในหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตได้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบรายงานว่า มีคนทำงานที่เป็นโรคบ้างานถึงขั้นเบรกแตก ควบคุมตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่จะรู้ตัวก่อน

          โรคบ้างานเป็นภาวะทางจิตสามารถป้องกันรักษา โดยลดความเครียดจากการทำงานที่หนักเกินพอดี หากรู้ถึงสาเหตุของโรคที่เกิดจากการทำงานและปรับปรุงให้เหมาะสม ปัญหาที่เกิดจากการทำงานก็ลดน้อยลง หรือพยายามมองชีวิตว่าไม่มีแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว ควรจัดเวลาในแต่ละวันให้มีกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัว และเรื่องทำงานให้ควบคู่และสมดุลกัน และที่สำคัญคือต้องรู้ตัวเอง และรู้ถึงสาเหตุของโรคที่เกิดจากการทำงานและปรับปรุงให้เหมาะสม ปัญหาที่เกิดจากการทำงานก็ลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคบ้างานได้อย่างแน่นอน


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคบ้างาน ภัยเงียบ! ของคนทำงาน อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2553 เวลา 15:09:50 4,362 อ่าน
TOP