วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่



วันงดสูบบุหรี่โลก 31  พฤษภาคม 2553 หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่

        ป้องกันหญิงไทย จากการเสพติดบุหรี่ โอกาสการป้องกันโรค ที่สำคัญที่สุดของคนไทย วันงดสูบบุหรี่โลก 31  พฤษภาคม 2553 "หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่"
 
  ทำไมจึงต้องรณรงค์ให้หญิงไทยไม่สูบบุหรี่

           เพราะบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง

           ครึ่งหนึ่งของผู้ที่สูบบุหรี่ต่อไปโดยไม่เลิก  จะเสียชีวิตจากโรคใดโรคหนึ่งที่เกิดจากการสูบบุหรี่

           ทุกฝ่ายในสังคมไทยได้ร่วมมือกันรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ส่งผลให้ชายไทยที่สูบบุหรี่กันเกือบ 70 % ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 45.6% 

           ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยยังต่ำมากคือ 3.1% 

           หมายความว่าขณะนี้เรามีหญิงไทยสูบบุหรี่เพียง 3 ใน 100 คน  เทียบกับชายไทยที่สูบบุหรี่ 45 ใน 100 คน หรือ สัดส่วนการสูบบุหรี่ของชาย : หญิงไทย  =  15 : 1

           ผลกระทบจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของชายไทย  และหญิงไทยสะท้อนออกมาด้วยประจักษ์หลักฐานว่า  ในปี พ.ศ.2547  มีชายไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,390  คน ในขณะที่มีหญิงไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพียง 5,793 คน หรือสัดส่วนการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ชาย : หญิง = 6: 1 หรือชายไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่าหญิงไทยถึงปีละเกือบสามหมื่นคน

        ดังนั้น  ถ้าหากเราสามารถป้องกันหญิงไทยไม่ให้เสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น เราจะสามารถลดจำนวนหญิงไทยที่จะเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ได้นับแสนนับล้านคนในอนาคตเป็นการป้องกันโรคและการเสียชีวิตก่อนเวลาให้แก่หญิงไทยที่สำคัญที่สุดและคุ้มค่าที่สุด

 ผู้หญิงสูบบุหรี่อันตรายมากกว่าผู้ชาย

           นอกจากจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่  เช่น โรคหัวใจ  โรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคปอดเรื้อรัง  มะเร็งต่าง ๆ รวม 10 ชนิด  และโรคร้ายแรงอื่น ๆ แล้ว  หญิงที่สูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงมากกว่าชายที่สูบบุหรี่ คือ 

           งานวิจัยพบว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะเกิดมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ได้ง่ายกว่าผู้หญิง  เป็นผลจากความแตกต่างของฮอร์โมนเพศหญิงกับเพศชาย

           หญิงที่สูบบุหรี่และกินยาคุมกำเนิดด้วย  ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

           ผู้หญิงมีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการสูบบุหรี่

           ผู้หญิงมีโอกาสตั้งครรภ์  ซึ่งหญิงตั้งครรภ์หากได้รับควันบุหรี่จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ทำให้แท้งลูก  ทารกคลอดก่อนกำหนด  ทารกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ  จนถึงทารกตายคลอด

           แม่ที่สูบบุหรี่  ทำให้ลูกเกิดใหม่ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง  ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจของเด็ก  เช่น  หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ  เกิดอาการหืดจับหรือโรคหืดรุนแรงขึ้น

           ผู้หญิงสูบบุหรี่เกิดโรคกระดูกพรุนง่าย และรุนแรงมากกว่าผู้ชาย

           แม่ที่สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงที่ลูกสาวจะกลายเป็นคนสูบบุหรี่ในอนาคต

 หญิงไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละกี่คน  จากโรคอะไรบ้าง

        ในปี พ.ศ.2547  มีหญิงไทย 5,793  คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 2,489  คน  ถุงลมโป่งพอง  1,361  คน โรคหัวใจและหลอดเลือด  762  คน  มะเร็งชนิดอื่น ๆ 396 คน และ 785 คนเป็นโรคอื่นที่เกิดจากการสูบบุหรี่

        หญิงไทยที่สูบบุหรี่เฉลี่ยอายุสั้นลงคนละ 11 ปี  และป่วยหนักจนทำอะไรไม่ได้  เฉลี่ย 1.6 ปีต่อคนก่อนเสียชีวิต คณะทำงานภาระโรคฯ ที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยง  กระทรวงสาธารณสุข

 ผู้หญิงติดบุหรี่แล้ว....จะเลิกยากกว่าผู้ชาย  เพราะ

           จะมีความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้นหลังจากการเลิกสูบ

           จะมีอารมณ์หงุดหงิดมากกว่าผู้ชายในช่วงที่จะเลิกสูบบุหรี่

           แม้แต่ในหญิงที่ตั้งครรภ์  พยายามที่จะเลิกสูบ  แต่ส่วนใหญ่เลิกไม่ได้

           ในหญิงที่เลิกสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์  สองในสามกลับไปสูบใหม่  หลังจากคลอดลูกได้หนึ่งปี

 วัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่มีผลเสียด้านอื่นอย่างไร

           การสำรวจของเอแบคโพลล์  พ.ศ. 2547  พบว่า  วัยรุ่นที่สูบบุหรี่จะมีสถิติของพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นหลายเท่า  เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่  อาทิ 

        วัยรุ่นที่สูบบุหรี่เคยมีเพศสัมพันธ์มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่สูบบุหรี่  3.7 เท่า  ดื่มสุรามากกว่า 3.5 เท่า เที่ยวกลางคืนมากกว่า 3.2 เท่า  และใช้ยาเสพติดประเภทอื่นมากกว่า  10  เท่า ทางวิชาการระบุว่า  การสูบบุหรี่ของวัยรุ่น เป็น "Marker"  หรือ "เครื่องบ่งชี้" ของพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่เหมาะสมอื่น ๆ 

        หมายความว่า  ถ้าเราเห็นวัยรุ่นคนหนึ่งสูบบุหรี่  เราจะคาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำว่า  วัยรุ่นคนนี้มีโอกาสมากที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ อีกหลายพฤติกรรม การป้องกันวัยรุ่นหญิงไม่ให้สูบบุหรี่  จึงเป็นการป้องพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ที่ดีที่สุด

 บุหรี่กับความงามของผู้หญิง ความจริงที่คุณผู้หญิงต้องรู้

           บุหรี่แต่ละมวนมีสารเคมีที่เป็นพิษอยู่มากกว่า  250  ชนิด  ในจำนวนนี้มีสารก่อมะเร็งอยู่ราว 50 ชนิด

           บุหรี่  ทำให้เลือดมาเลี้ยงผิวหนัง  น้อยลง

        บุหรี่ 1 มวน  ทำให้เส้นเลือดหดตัวไป  90 นาที และเลือดไปเลี้ยงที่ผิวลดลง 24% สูบบุหรี่ 10 นาที  ลดออกซิเจนที่ผิวหนัง 1 ชั่วโมง ถ้าสูบ 1 ซองต่อวัน  เท่ากับ ผิวหนังขาดออกซิเจน 1 วัน

           ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน  มีโอกาสเป็นโรคสะเก็ดเงินมากกว่าหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ 3.3 เท่า

           สูบบุหรี่มากกว่า 1 ซองต่อวัน เพิ่มอัตราเสี่ยง  แผลหายช้า 3 เท่า

           ผู้ที่สูบบุหรี่เกิน 50 ซองต่อปี  จะมีรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้ามากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้ถึง 4.7 เท่า  โดยที่ผู้หญิงเหี่ยว มากกว่าผู้ชาย

 บุหรี่ทำอะไรกับผิวหนัง

        เมื่อสูดควันบุหรี่เข้าไป  สารที่มีอยู่ในควันบุหรี่ เช่น  น้ำมันดิน  สารประกอบโพลีไซคลิก  อโรมาติก  ไฮโดรคาร์บอน  จะตกค้างอยู่ในช่องปากและทางเดินหายใจส่วนต้น  จากนั้นถูกกลืนเข้าทางเดินอาหารและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางปอด  กระจายไปส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  รวมทั้งผิวหนังทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลาย  และรบกวนขบวนการขับพิษของตับ  ทำให้สารเหล่านี้มีพิษเพิ่มขึ้น  และเป็นสารก่อมะเร็งได้อีกทั้งสารนิโคตินที่ได้รับโดยตรงโดยการสูบเอง  หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง  จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว  ทำให้เกิดการตีบตัวของหลอดเลือด  ทุกอวัยวะ  รวมทั้งผิวหนัง  ทำให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังลดลง  นอกจากนี้สารอื่น ๆ ในบุหรี่และควันบุหรี่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ  ทำลายเส้นใยต่าง ๆ ในผิวหนัง  ทำให้ผิวเหี่ยวย่น  แก่ก่อนวัย  และแผลหายช้า

ผศ.พญ.สุวิรากร  โอภาสวงศ์

        สถานการณ์การสูบบุหรี่ของหญิงไทย ขณะนี้ปัญหาการสูบบุหรี่ของหญิงไทยเป็นอย่างไร  (หญิงไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป) การสำรวจใน พ.ศ.2552  พบว่า
 
           หญิงไทยสูบบุหรี่  ร้อยละ 3.1 โดยเป็นการสูบบุหรี่ซอง 

           หญิงไทยสูบบุหรี่  ร้อยละ  1.1 สูบบุหรี่มวนเอง ร้อยละ  2.0 

        จำนวนหญิงไทยที่สูบบุหรี่ทั้งหมด 8 แสนคน  เทียบกับชายไทย 11.7 ล้านคนที่สูบบุหรี่ อัตราการสูบบุหรี่ของหญิงไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจครั้งก่อน

 หญิงไทยที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีจำนวนเท่าไร

           ร้อยละ  18.9  หรือ 1 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน

           ร้อยละ  35.1  หรือ 8.8 ล้านคน  ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน
 
        จะเห็นว่าเฉพาะที่ทำงาน และที่บ้าน  มีหญิงไทยได้รับควันบุหรี่มือสองเกือบ 10 ล้านคนทุกวัน หญิงไทยที่สูบบุหรี่  มีกี่คนที่ต้องการจะเลิกสูบ ครึ่งหนึ่งของหญิงไทยที่ติดบุหรี่พยายามที่จะเลิก

        ค่าใช้จ่ายของหญิงไทยแต่ละคนที่ใช้ไปกับการสูบบุหรี่ซองเท่ากับ  489.9  บาทต่อเดือน  5,878  ต่อปี  คิดเป็นค่าสูบบุหรี่ซองต่อปีทั่วประเทศเท่ากับ 1,763  ล้านบาท  สำหรับหญิงไทยทั้งหมดที่สูบบุหรี่ซอง 3 แสนคน ไม่นับหญิงไทยอีก 5 แสนคนที่สูบบุหรี่ยาเส้นมวนเอง

 แล้ววัยรุ่นหญิงไทยสูบบุหรี่กันมากน้อยเพียงไร  (อายุ 13-15 ปี)

        ร้อยละ  3.8  สูบบุหรี่  ซึ่งสูงกว่าอัตราการสูบบุหรี่ของหญิงรุ่นพี่หรือรุ่นแม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหนึ่งในสิบของวัยรุ่นหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ในขณะนี้  คิดว่าจะเริ่มสูบบุหรี่ในปีหน้า วัยรุ่นหญิงในวัยนี้ครึ่งหนึ่งมีพ่อหรือแม่เป็นคนสูบบุหรี่ 3 ใน 4 ของวัยรุ่นหญิงที่สูบบุหรี่ต้องการที่จะเลิกสูบและในคนที่ต้องการที่จะเลิก 9 ใน 10  พยายามเลิกบุหรี่ใน 1 ปีที่ผ่านมา

 การสูบบุหรี่ของหญิงไทยขณะตั้งครรภ์

           พ.ศ.2539  =   58,065 คน

           พ.ศ.2550  = 17,059 คน

 การสูบบุหรี่ของหญิงไทยระหว่างที่ยังให้นมบุตร  พ.ศ.2550
        
        ในจำนวนหญิงไทย  17,059  ที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ 14,463  คนหรือ  84.8%  ยังคงสูบบุหรี่ต่อไประหว่างการให้นมบุตร

สำนักงานสถิติแห่งชาติ  พ.ศ.2550

 สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของหญิงไทยที่สูบบุหรี่

           เกือบครึ่งหนึ่งของหญิงไทยที่สูบบุหรี่ในขณะนี้อาศัยอยู่ที่ภาคเหนือ

           ระดับการศึกษาของหญิงไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่

           ไม่เคยเรียน  132,156  คน

           จบประถมศึกษา  318,243  คน

           จบมัธยมต้น    30,304 คน

           จบมัธยมปลาย    17,151  คน

           จบอุดมศึกษา      9,515  คน

                              รวม 507,369  คน

           หรือ 9 ใน 10  ของหญิงไทยที่สูบบุหรี่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า

           6 ใน 10  ของหญิงไทยที่สูบบุหรี่มีฐานะอยู่ในกลุ่มประชากรที่จนที่สุด หรือกลุ่มประชากรที่เกือบจน

        กล่าวคือ หญิงไทยที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ของส่วนใหญ่เป็นหญิงที่มีระดับการศึกษาน้อย  และมีฐานะยากจน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ  พ.ศ.2550

 ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นหญิงติดบุหรี่  การสำรวจของเอแบคโพลล์ พ.ศ.2546

           ถ้ามีพี่สาวสูบบุหรี่                 โอกาสติดบุหรี่จะเพิ่มขึ้น 9 เท่า

           ถ้ามีแม่สูบบุหรี่                    โอกาสติดบุหรี่จะเพิ่มขึ้น 6 เท่า

           ถ้ามีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่            โอกาสติดบุหรี่จะเพิ่มขึ้น 4 เท่า

           ถ้ามีพ่อสูบบุหรี่                    โอกาสติดบุหรี่จะเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า

 งานวิจัยพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน กทม. โดย ยุวลักษณ์  ขันอาสา  พ.ศ.2541 พบว่า

           นักเรียนหญิงสายวิชาชีพสูบบุหรี่ 5.9%  และที่ศึกษาระดับมัธยมปลาย 3.7%

           ผลการเรียนยิ่งเกรดเฉลี่ยต่ำ  ยิ่งสูบบุหรี่มาก

           นักเรียนที่ยิ่งได้รับค่าใช้จ่ายต่อเดือนมาก  ยิ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูง

           นักเรียนหญิงที่พักอาศัยหอพักกับเพื่อน  มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด คือ 17%

           การมีเพื่อนนักเรียนหญิงที่สูบบุหรี่  เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่

 ทัศนะของสังคมไทยต่อการสูบบุหรี่ของผู้หญิงความคิดเห็นของชายไทยต่อผู้หญิงที่สูบบุหรี่  การสำรวจของเอแบคโพลล์ พ.ศ.2544

ชายไทย
                        

           3 ใน 4  ระบุว่า ไม่เลือกหญิงที่สูบบุหรี่เป็นแฟน
  
           1ใน 5 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าจะเลือกหรือไม่
  
           1 ใน 20  ระบุ ว่ายอมรับหญิงที่สูบบุหรี่เป็นแฟนได้

หญิงไทยที่สูบบุหรี่

           1 ใน 5  เคยถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เหมาะสม
 
           6 ใน 10  เคยถูกตำหนิจากพ่อแม่ / ญาติผู้ใหญ่
 
           1 ใน 2 เคยถูกตำหนิโดยแฟนหรือสามี
 
           7 ใน 10 คิดอยากจะเลิกสูบ

 วัยรุ่นหญิงที่เป็นคนสูบบุหรี่  คิดว่าสังคมไทยมองหญิงที่สูบบุหรี่อย่างไร

           "ไม่ดี ภาพพจน์เป็นเด็กใจแตกสูบบุหรี่" (นักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 19 ปี)

           "ดูไม่ดี เสียดายหน้าตาดูดี ไม่น่าสูบเลย บ้านเราสูบไม่ได้" (นักศึกษาพาณิชย์สตรี อายุ 21 ปี)

           "สูบแล้วภาพพจน์ไม่ดี คิดว่าเป็นหญิงให้บริการ" (นักศึกษามหาวิทายาลัย อายุ 22ปี)

           "ดูไม่ดี" (นักศึกษาพาณิชย์สตรี อายุ 17,21 ปี)

           "ไม่ดี คนอื่นเหม็นควัน...คนอื่นมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี" (นักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 22 ปี)

           "ผู้หญิงสูบบุหรี่เป็นแง่ลบ" (สตรีทำงานอายุ 25 ปี)

           "สังคมมองว่าเราเห็นแก่ตัว" (นักศึกษาพาณิชย์ อายุ 21 ปี)

           "ผู้หญิงสูบบุหรี่ (สังคมไม่เห็นด้วย)" (สตรีทำงาน อายุ 23 ปี)

เรวดี  ชยาสิริ  และคณะ,งานวิจัย Focus Group Discussion
"ทำไมวัยรุ่นหญิงจึงสูบบุหรี่" กรุงเทพฯ, 2543

        ผู้หญิง : เป้าหมายของบริษัทบุหรี่ ทำไมบริษัทบุหรี่จึงพยายามขยายตลาดบุหรี่สำหรับผู้หญิง

        เพราะว่าผู้หญิงยังสูบบุหรี่กันน้อยมาก  โดยเฉพาะผู้หญิงไทยที่สูบบุหรี่มีเพียง 3 คนในร้อยคน  เทียบกับผู้ชายไทยที่สูบบุหรี่ 45 คนในร้อยคน ที่สำคัญผู้ชายไทยสูบบุหรี่ลดลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่เคยสูบ 70 กว่าคนในร้อยคนเมื่อยี่สิบปีก่อน ถ้าหากบริษัทบุหรี่สามารถทำให้หญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นได้ เหมือนกับที่สามารถทำให้ผู้หญิงในประเทศตะวันตกสูบบุหรี่มากขึ้นมาแล้ว  เขาจะขายบุหรี่เพิ่มขึ้นได้อีกมหาศาล  เพื่อชดเชยกับตลาดบุหรี่ผู้ชายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 บริษัทบุหรี่มีวิธีการอย่างไรในการพุ่งเป้าตลาดบุหรี่ไปที่ผู้หญิง

        บริษัทบุหรี่ใช้แนวคิดความเป็นอิสระของวัยรุ่นหญิงเป็นจุดขายในการทำตลาด  เชื่อมโยงการสูบบุหรี่เข้ากับความทันสมัย  ความเจนจัดในชีวิต  การแสดงถึงความมีฐานะ  มีรสนิยมและประสบความสำเร็จ บริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ที่มีรสอ่อน  ผสมสารเคมีให้บุหรี่มีรสชาตินุ่มละมุน  ผลิตบุหรี่ที่มีกลิ่นผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น รสส้ม  รสเชอรี่  รสสตรอเบอรี่ และรสขนม  เช่น  รสช็อคโกแล็ต รสวานิลา เพื่อให้ผู้หญิงเข้าใจว่าเป็นบุหรี่ที่ปลอดภัยกว่า มวนบุหรี่จะเล็กเรียวยาว  เพื่อสื่อให้ผู้หญิงทราบว่าสูบแล้วจะผอมเรียวเหมือนนางแบบ ซองบุหรี่จะมีสีสันหวานแหวว  ทำให้ดูเหมือนเครื่องประดับประจำกายชิ้นหนึ่ง

 บริษัทบุหรี่พูดว่าอย่างไรเกี่ยวกับการขยายตลาดบุหรี่สำหรับผู้หญิง

        "เพิ่มพฤติกรรมในหมู่เยาวชนหญิง ซึ่งจะทำให้รักษาระดับของการเริ่มสูบบุหรี่ไว้ต่อไปในภูมิภาคทั้งสาม (ตลาดแอฟริกา  เอเชีย และลาตินอเมริกา) ผลลัพธ์สุดท้ายคือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของพฤติกรรมที่ผู้หญิงจะสูบบุหรี่"

 บริษัท บริติชอเมริกันโทแบคโก

        "บริษัทเบอร์สันมาร์สเทลเลอร์ได้ตกลงที่จะค้นคว้าผลการศึกษาวิจัย เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้หญิงเอเชีย ที่จะนำเสนอว่าการสูบบุหรี่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตโดยรวมของผู้หญิงเอเชีย"

บริษัท ฟิลิป  มอริส

 บริษัทบุหรี่จ้างให้มีฉากสูบบุหรี่ในภาพยนตร์

        "การสูบบุหรี่ถือกันว่าเป็นนิสัยที่ไม่ทันสมัยและส่งผลเสียต่อสุขภาพ เราจึงต้องคิดค้นหาวิธีการสร้างสรรค์ทุกวิธีมาพลิกแนวโน้มที่จะทำให้ภาพลบนี้กลับเป็นตรงกันข้าม ผมดีใจที่ระยะนี้หนังหลายเรื่องที่ผมได้ดู มีฉากที่นางเอกถือซองบุหรี่อยู่ในมือ ซึ่งต่างกันอย่างยิ่งกับเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่แทบไม่เคยเห็นบุหรี่ในหนังเลย เราต้องแสวงหาประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ต่อไป เพื่อหาทางทำให้บุหรี่ปรากฏในหนังจนกระทั่งถูกคีบอยู่ในมือของผู้สูบบุหรี่" 

        "เป็นธรรมดาที่เราย่อมสนใจจะเรียนรู้ที่คุณวางแผนตั้งเป้าการตลาดไปที่ผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเริ่มมีมากขึ้น มากกว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิงสูบบุหรี่ที่มีอายุมากขึ้น"

 บริษัท ฟิลิป  มอริส ปี 2532

        "กลุ่มที่มีศักยภาพที่จะเป็นตลาดใหญ่ยังคงเป็นผู้หญิงและหนุ่มสาวในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น การดึงดูดประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งมีจำนวนนับล้าน ๆ คนให้เป็นผู้ที่จะสูบบุหรี่ต่อไปนั้น เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวของบริษัทบุหรี่"

อุตสาหกรรมยาสูบ

 จะช่วยกันป้องกันวัยรุ่นหญิงไทยไม่ให้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ระดับสังคมไทย

           ลดโอกาสการเข้าถึงบุหรี่โดยการซื้อ  โดยการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี  อย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะร้านขายของชำ / ร้านสะดวกซื้อ  (งานวิจัยพบว่าเด็กอายุ 13-15 ปี  ร้อยละ 47.9  ซื้อบุหรี่ได้จากร้านค้า ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย)

           ดำเนินการกับผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย เช่น บุหรี่ชูรส  บารากู่

           เข้มงวดต่อการโฆษณาบุหรี่  ที่ทำผ่านสื่อทีวี  วีดีโอ ภาพยนตร์ และการโฆษณาสร้างภาพผ่านการให้ทุนการศึกษาหรือสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน

           สร้างความเข้าใจในกลุ่มวัยรุ่นหญิงให้รู้เท่าทันกลยุทธ์บริษัทบุหรี่

           สร้างความตระหนักแก่สาธารณะถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง

           ลดโอกาสการสัมผัสควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในผับบาร์  เพราะเป็นที่ที่วัยรุ่นริเริ่มการสูบบุหรี่ และในบ้าน  โดยการทำบ้านให้ปลอดบุหรี่

ระดับสถาบันการศึกษา

 พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เกี่ยวกับบุหรี่  โดยบรรจุเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน และระดับอุดมศึกษา  โดยเน้นใน 3 ประเด็น

           1. การปรับเปลี่ยนทัศนะคติและความเชื่อต่อการสูบบุหรี่  (การวิจัยพบว่า  การมีทัศนคติเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยทำนายการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นหญิง)

           2. การพัฒนาทักษะชีวิต  (ในประเด็นของการคบเพื่อน  การปฏิเสธการสูบบุหรี่)

           3. การป้องกันการริเริ่มทดลองสูบบุหรี่

ระดับครอบครัว

        ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีของการไม่สูบบุหรี่ และกำหนดให้ไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โดย ผศ.ดร.ธราดล  เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์  ม.มหิดล


 

 

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พ.ค. หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่ อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2562 เวลา 22:16:16 6,661 อ่าน
TOP
x close