x close

อาการปวดจากการทำงาน หรือความเครียด

ปวดคอ

อาการปวดจากการทำงานหรือความเครียด (หมอชาวบ้าน)

          เมื่อกล่าวถึงการบาดเจ็บจากการทำงาน เรามักคิดถึงการยกของหนักแล้วทำให้ปวดหลัง การนั่งพิมพ์งานมาก ๆ แล้วปวดไหล่ ศอก และข้อมือ การก้มศีรษะมาก ๆ ทำให้ปวดคอ

          การบาดเจ็บดังกล่าวเป็นการบาดเจ็บที่พบได้ทั่วไป ที่มีทั้งการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน ซึ่งมีต้นเหตุชัดเจน และการบาดเจ็บแบบที่มีการสะสม ซึ่งต้นเหตุและเวลาที่เกิดไม่ชัดเจน มุมมองดังกล่าวทำให้เรามองภาพของการบาดเจ็บในแง่มุมเดียว คือการบาดเจ็บทางกายที่มีผลจากปัจจัยทางกายภาพ มีภาพอีกภาพหนึ่ง คือการบาดเจ็บทางกายที่มีผลเกี่ยวข้องกับความเครียดและอารมณ์

          จากประสบการณืที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าการบาดเจ็บทางกายที่เกิดขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้จากทางอารมณ์ด้วย ทั้งเป็นสาเหตุโดยตรงและโดยอ้อม

          ผู้เขียนขอแนะนำวิธีการตรวจสอบง่าย ๆ เพื่อให้รู้ว่าการบาดเจ็บนั้นมาจากสาเหตุใด เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนนำมาจากประสบการณ์ ไม่มีทฤษฎีใดอ้างอิง

การบาดเจ็บทำให้เกิดความเครียด ความเครียดทำให้เกิดการบาดเจ็บ

          รูปแบบของการบาดเจ็บทางกายอาจเกิดขึ้น จากการที่มีการบาดเจ็บของอวัยวะนั้นจริง ๆ (เช่น มีหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นกดทับเส้นประสาท) มีสาเหตุชัดเจน (เช่น ไปก้มยกของหนัก จากนั้นก็มีอาการปวดหลังร้าวลงขา)

          การบาดเจ็บนี้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือระดับความรุนแรงของโรคไม่มากนัก อาการของผู้ป่วยก็จะดีขึ้น แต่หากการรักษาไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายผู้ป่วยอาจมีอาการท้อแท้ ถดถอย เกิดภาวะความเครียดที่ต้องสูญเสียเงิน งาน หรือแม้กระทั่งความสามารถทางกาย ตลอดจนเกิดปัญหาขึ้นกับครอบครัว

          ผู้บาดเจ็บที่มีจิตใจถดถอยท้อแท้นี้ย่อมส่งผลต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายมีความตึงเครียดและยากต่อการรักษา การรักษากลุ่มผู้ป่วยนี้ ต้องเริ่มจากสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษา ก็จะทำให้การรักษาอาการบาดเจ็บง่ายขึ้น

          รูปแบบการบาดเจ็บทางกายนี้ อาจเป็นแบบสะสมที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือการจัดโต๊ะ เก้าอี้ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ทำให้ทุกครั้งที่ทำงาน กล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ และกระดูกต้องทำงานหนักกว่าที่ควร และเมื่อทำงานทุกวัน อย่างต่อเนื่องก็มีการสะสมของการบาดเจ็บ ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จนกระทั่งเกิดความเครียดที่อาจทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ตึง และบาดเจ็บได้ง่ายขึ้นอีก หลายคนเมื่อมีการบาดเจ็บบ่อย ๆ อาจทำให้อาการหนักขึ้น เช่น ผู้ป่วยบางคนแค่เห็นทำงานก็เกิดอาการปวดแล้ว

          ความเครียดเองอาจเป็นต้นเหตุของการบาดเจ็บได้โดยตรง เช่น เมื่อมีภาวะความเครียดเกิดขึ้น กล้ามเนื้อจะตึง เกร็ง ระบบประสาทจะตึงและความสามารถในการนำกระแสประสาทลดลง ทำให้ล้าได้ง่าย เมื่อกล้ามเนื้อมีความตึงมาก ย่อมส่งผลต่ออาการปวด เพราะกล้ามเนื้อทำงานคงค้างอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับคนที่ถือของค้างไว้ตลอดเวลา กล้ามเนื้อย่อมทำงานมากกว่าคนที่ถือแล้ววาง และเมื่อต้องทำงานชนิดเดียวกันในความหนักเท่า ๆ กัน คนที่เครียดต้องใช้พลังงานมากขึ้นกว่าคนที่ไม่เครียด การเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของคนที่เครียดจึงมากกว่า

จะทราบได้อย่างไรว่าการบาดเจ็บนั้นเกิดจากความเครียด

          จะเห็นได้ว่า ทั้งงานและความเครียดทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าขณะนี้การบาดเจ็บที่มีอยู่เกิดจากโต๊ะ เก้าอี้ ท่าทางการทำงานไม่เหมาะสม หรือจากความเครียด หรือทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ผู้เขียนมีหลักการง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้ทดสอบได้ง่าย ๆ โดยปรับเปลี่ยนโต๊ะ เก้าอี้ หรือ สถานการณ์การทำงานในรูปแบบต่าง ๆ กัน แล้วดูผลจากอาการที่เปลี่ยนไป เช่น

          1.หากได้หยุดงานแล้วไปเที่ยว แม้ว่าการเดินทางท่องเที่ยวนั้นต้องใช้แรง กำลัง หรืออดหลับอดนอน แล้วพบว่าอาการหายไป หรือดีขึ้นขณะเที่ยว จากนั้นเมื่อกลับจากเที่ยว อาการกลับมาอีก แสดงว่าอาการที่เป็นอยู่มีผลจากความเครียดค่อนข้างมาก

          2.หากทำงานในรูปแบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนสถานที่ไป (ในที่ที่ไม่ใช่ที่ทำงาน) โดยลักษณะโต๊ะเก้าอี้ไม่แตกต่างไปจากเดิม หากอาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแสดงว่า อาการนั้นน่าจะมาจากความเครียด

          3.หากจัดโต๊ะด้วยการวางดอกไม้ เลี้ยงปลา หรือเปิดวิทยุ ฟังเพลงเพื่อการผ่อนคลาย แล้วมีผลทำให้อาการดีขึ้น แสดงว่า อาการปวดนั้นมีผลมาจากความเครียด

          4.หากทำงานในรูปแบบเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่ทำให้กับแฟน หรือเพื่อน ด้วยความเต็มใจและไม่ต้องมีความรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่องานนั้น แล้วพบว่าไม่ทำให้เกิดอาการปวดแม้ว่างานนั้นจะหนักก็ตามแสดงว่า อาการปวดที่เป็นอยู่นั้นมาจากความเครียด

          5.หากนั่งโต๊ะทำงานที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ความหนักของงานเท่าเดิม แต่วันนั้นเป็นวันที่จะมีงานเลี้ยง หรือมีกิจกรรมที่ชอบรอคอยอยู่ แล้วพบว่าวันนั้น อาการไม่หนักเท่าวันก่อน ๆ แสดงว่า อาการที่เป็นอยู่เป็นผลมาจากความเครียด

          6.หากงานหนักคงเดิมตลอด แต่มีการปรับท่าทางการทำงาน หรือโต๊ะ เก้าอี้ แล้วส่งผลให้อาการดีขึ้น แสดงว่า อาการนั้นน่าจะมาจากปัญหาของโต๊ะ เก้าอี้หรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม
หากสังเกตจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วพบว่า มีความไม่แน่นอนของอาการ เป็นไปได้ว่า ปัญหาอาจมาจากทั้งความเครียด โต๊ะ เก้าอี้ ไม่เหมาะสม หรือท่าทางการทำงานที่ไม่ถูกต้องก็ได้

การรักษาจะได้ผล เมื่อทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง

          การรักษาการบาดเจ็บโดยไม่คำนึงถึงสาเหตุว่า อาจเกิดจากความไม่เหมาะสมระหว่างงานกับร่างกายและจิตใจ ถือว่าเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เพราะต้องกลับไปทำงาน ไปเผชิญกับต้นเหตุที่ทำให้เกิดดการบาดเจ็บอีก และในการหายกลับไปครั้งหลัง ๆ ต้องถือว่าผู้ป่วยไม่ได้มีความแข็งแรงหรือสมรรถภาพเท่ากับช่วงเวลา ก่อนที่จะมีการบาดเจ็บครั้งแรก การเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำจึงมากขึ้นเรื่อย ๆ การรักษาจึงต้องคำนึงถึงเหตุว่าอะไรส่งผลรุนแรง ณ เวลานั้น ๆ โดยเฉพาะความเครียด หรือความไม่เหมาะสมของโต๊ะ เก้าอี้ หรือท่าทางในการทำงาน จากนั้น จึงแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วย รวมทั้งส่งเสริมสมรรถภาพด้วยการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการบาดเจ็บได้



  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการปวดจากการทำงาน หรือความเครียด อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 08:45:51 1,388 อ่าน
TOP