x close

ปวด (ฉี่) ต้องรีบปล่อย ก่อนโรคช้ำรั่วถามหา



สาว ๆ ระวังให้ดี...ปวด (ฉี่) ต้องรีบปล่อยก่อนโรคช้ำรั่วถามหา (Lisa)

          ปัสสาวะไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนเกิดอาการปัสสาวะเล็ดราด เรื่องน่าอายที่สาว ๆ อาจไม่กล้าบอกใคร แต่นอกจากจะแก้ไขได้แล้ว ยังป้องกันได้ด้วย

          ถึงไฮดี้ คลุม จะดูสวยเฉิดฉายแค่ไหนในตอนตั้งท้อง แต่คนที่กำลังตั้งท้องก็เสี่ยงต่อการเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ เช่นเดียวกับ อิสลา ฟิซเซอร์ ที่กำลังตั้งครรภ์ที่สองหลังแต่งงานกับ ซาซ่า บารอน โคเฮน ได้ไม่นาน ถึงแม้เหล่าดาราสาว ๆ จะไม่มีใครออกมาบอกว่าพวกเธอต้องพบกับอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence, UI) หรือที่เรียกว่าอาการช้ำรั่วกันมั่งหรือเปล่า แต่สำหรับเหล่าดาราสาวที่กำลังตั้งครรภ์นั้น ก็ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงกับการเกิดอาการนี้ อย่างไรก็ตาม การเข้าใจว่าอาการช้ำรั่วเกิดได้แต่เพียงกับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือในผู้หญิงสูงวัย ถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งในหมู่ผู้หญิง (ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสามเท่า) และอาจทำให้เกิดความอายที่จะไปปรึกษาแพทย์ เมื่อเกิดอาการดังกล่าวขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้ว อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั้นเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย

          แต่ความจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาการนี้ สามารถเยียวยาและป้องกันได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากพบกับปัญหาน่าอาย ที่รบกวนการใช้ชีวิตของคุณเช่นนี้ ก็ต้องอ่านเรื่องต่อไปนี้

ปัสสาวะแบบปกติเป็นยังไง

          เมื่อดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารผ่านการกรองของไต ของเสียจะถูกเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งกล้ามเนื้อส่วนนี้จะยืดได้ หากน้ำปัสสาวะมีประมาณ 200 ซี.ซี. จะรู้สึกปวดปัสสาวะเล็กน้อย ถ้าทำเป็นลืม ความรู้สึกปวดปัสสาวะจะค่อยๆ หายไป แต่เมื่อมีน้ำปัสสาวะขังประมาณ 300-400 ซี.ซี. กระเพาะปัสสาวะค่อนข้างเต็มที่จะทำให้รู้สึกปวดมาก อยากไปห้องน้ำ ปริมาณมากขนาดนี้จะกลั้นแทบไม่อยู่จนอาจปัสสาวะราดได้

          ในผู้ใหญ่ที่แข็งแรง จำนวนครั้งของการปัสสาวะตามปกติตอนกลางวันประมาณ 4-6 ครั้ง ปัสสาวะกลางคืนหลังนอนหลับ 0-1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณปัสสาวะ จำนวนครั้งของการปัสสาวะอาจแปรเปลี่ยนไปได้ตามจำนวนน้ำที่ดื่ม อุณหภูมิของอากาศภายนอก ปริมาณเหงื่อที่ออก และวัย

กลั่นปัสสาวะไม่อยู่มีหลายแบบ

          ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หมายถึงการที่มีปัสสาวะรั่วไหล โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมาพอที่จะทำให้เป็นปัญหาในการเข้าสังคม หรือเป็นปัญหาทางสุขภาพและอนามัยสามารถแยกออกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ดังนี้คือ

           ปัสสาวะเล็ดขณะไอหรือจาม หมายถึงอาการปัสสาวะเล็ดออกมาในขณะที่มีการเพิ่มแรงเบ่งกดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ หรือแรงเบ่งในช่องท้องด้วยการไอหรือจาม

          ปัสสาวะเล็ดเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เกิดเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เดิน วิ่ง ก้าวขึ้นบันได ยกของหนัก เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน

          ปัสสาวะราด หมายถึงภาวะที่มีความรู้สึกปวดปัสสาวะมาก ปวดกลั้น และปัสสาวะราดออกมาก่อน

          ปัสสาวะรดที่นอน เป็นอาการที่มักจะพบในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ก็พบได้บ้าง รวมทั้งผู้สูงอายุ จากอัตราที่ตรวจพบในหญิงไทยทุกกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป พบว่ามีอาการในระดับเล็กน้อยหรือพบได้นาน ๆ ครั้ง

          ปัสสาวะปวดกลั้น หมายถึงความรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างมาก ทำให้ต้องรีบที่จะเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพราะมีความรู้สึกว่าปัสสาวะกำลังจะราดออกมา แต่ก็ยังสามารถยับยั้งไว้ได้

          ปัสสาวะซึมออกโดยไม่รู้สึกตัว เป็นภาวะที่ปัสสาวะไหลซึมออกมาเอง โดยไม่มีความรู้สึกอยากปัสสาวะ
หลากหลายสาเหตุของโรคช้ำรั่ว

          สาเหตุสำคัญคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนของการทำงาน และอวัยวะที่มีส่วนในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น สมองและระบบประสาทที่ควบคุมการกลั้นและขับปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะท่อปัสสาวะ ระบบหูรูด กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน โดยมีสาเหตุต่าง ๆ กันในแต่ละกลุ่มอายุดังนี้

          วัยเด็ก เกิดจากระบบควบคุมการปัสสาวะยังไม่เข้าที่และพฤติกรรม รวมทั้งอุปนิสัยบางอย่าง มักออกมาในรูปแบบของการปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน

          วัยสาว มักเกิดจากอุปนิสัยที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ หรือเป็นเวลานาน ทำให้กระเพาะปัสสาวเกิดการบีบตัวผิดปกติ จนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

          วัยกลางคน คนที่เคยตั้งครรภ์หรือเคยผ่าตัดมดลูกมาก่อน อาจมีการเสื่อมของหูรูดและการหย่อนยานของผนังช่องคลอด รวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิท จึงเกิดอาการปัสสาวะรั่วออกมา ในวัยสูงอายุและประจำเดือนหมดแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลง ทำให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น ระบบการปิดกั้นของท่อปัสสาวะลดลง ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมได้เช่นกัน

รักษาได้ยังไงบ้าง

          การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคว่า เกิดความบกพร่องที่อวัยวะในการควบคุมการปัสสาวะส่วนใด โดยทั่วไปมีอยู่ 3 วิธีคือ พฤติกรรมบำบัด การรักษาทางยา และการผ่าตัด ผู้ที่มีอาการไม่มากควรเริ่มจากการทำพฤติกรรมบำบัด นั่นคือ การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยการขมิบหูรูด ลักษณะเหมือนตอนที่กลั้นปัสสาวะ ทำอย่างน้อยวันละ 100 ครั้ง แล้วเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องใช้เวลานับเดือนกว่าจะเห็นผล และควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการเกิดซ้ำ
 
           บางครั้งก็อาจใช้ยาเข้าช่วย เช่น ยาช่วยในการบีบตัวของกล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะ ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น หรือใช้อุปกรณ์ในการลดการรั่วซึมของปัสสาวะ เช่น อุปกรณ์สอดช่องคลอด เพื่อยกและกดบริเวณทางออกหรือคอของกระเพาะปัสสาวะไว้ หรืออุปกรณ์สอดใส่ท่อปัสสาวะ หรือการใช้ผ้าอนามัย เพื่อซับน้ำปัสสาวะที่รั่วซึมไว้ แต่ถ้ามีอาการมาก จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ในกรณี ที่มีการหย่อนของคอกระเพาะปัสสาวะ จะทำการผ่าตัดเพื่อพยุงบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้

ป้องกันได้ด้วย 4 วิธีง่าย ๆ

          ถ้าไม่อยากถูกรบกวนจากภาวะเช่นนี้ นี่คือ 4 วิธีการที่ควรฝึกให้เป็นนิสัย เพื่อป้องกันไว้ก่อน

          1. ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

          2. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ หรือนานเกินไป เพื่อป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวผิดปกติ

          3. หลีกเลี่ยงภาวะที่ต้องใช้แรงเบ่งภายในช่องท้องมาก ๆ และอาการท้องผูก

          4. ออกกำลังกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยการขมิบหูรูดเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความกระชับและยังช่วยให้ระบบการขับถ่ายดียิ่งขึ้นด้วย

สีปัสสาวะ...ก็บอกสุขภาพได้นะ

          ปัสสาวะสีอมแดง อาจเกิดจากการรับประทานอาหารอะไรที่เป็นสีทำนองนี้ แต่ถ้าแน่ใจว่าไม่ได้กินอะไรใกล้เคียงกับสีแดงเลย สีแดงนั้น ก็อาจเป็นเลือดที่ขับออกมาจากไต หรือกระเพาะปัสสาวะอาจอักเสบ หรือไม่ก็อาจจะมีอะไรในร่างกายที่ฉีกขาดเป็นแน่ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

          ปัสสาวะสีน้ำตาล อาจเกิดจากการรับประทานถั่วในปริมาณที่มาก หรืออาจจะเป็นลิ่มเลือดที่ปนออกมาก็ได้ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์

          ปัสสาวะสีเหลือง ถ้าปัสสาวะเป็สีเหลืองอ่อน เป็นไปได้ว่าวันนั้นร่างกาย จะได้รับวิตามินบี 2 มากเกินไปความต้องการจนต้องขับออกมา แต่ถ้าเป็นสีเหลืองเข้มก็หมายความว่าคุณดื่มน้ำน้อยเกินไปแล้ว แต่ถ้ามั่นใจว่าดื่มน้ำเยอะแล้ว แต่ปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองเข้มอยู่ ก็คงต้องรีบปรึกษาแพทย์

          ปัสสาวะมีสีขุ่น ให้ลองดื่มน้ำส้มดูว่าหายหรือไม่ ถ้าไม่หายอาจเนื่องมาจากากรติดเชื้อบางอย่างก็ได้ อาการอย่างนี้ควรปรึกษาแพทย์

          ปัสสาวะสีส้ม อาจเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาโพริเดียม ที่ใช้นการรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

          ปัสสาวะสีน้ำเงิน หากคุณกินยาแก้อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งในยามีส่วนผสมของสารเมธีลีน และขับออกมาทางปัสสาวะ ปัสสาวะก็อาจมีสีออกฟ้า ๆ ได้

 






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวด (ฉี่) ต้องรีบปล่อย ก่อนโรคช้ำรั่วถามหา อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2553 เวลา 15:39:23 91,097 อ่าน
TOP