ชุมเห็ดไทย สรรพคุณน่าตื่นตา แก้นอนไม่หลับ ลดน้ำหนักก็ได้

ชุมเห็ดไทย

          ชุมเห็ดไทย สมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีสรรพคุณดี ๆ มากมาย หามาไว้ลิ้มลอง บอกเลยสุขภาพดีอยู่ไม่ไกล


          สมุนไพรพื้นบ้านของไทยมีมากมายให้ได้เลือกหยิบมาใช้หลากหลายจุดประสงค์ ไม่ว่านำมาใช้บำรุงสุขภาพ หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย อย่างเช่นสมุนไพรที่นิตยสาร happy+ ได้หยิบมาแนะนำในวันนี้ นั่นก็คือ ชุมเห็ดไทย ที่มีสรรพคุณเลอค่าสุด ๆ ทั้งลดน้ำหนัก แก้นอนไม่หลับ บรรเทาอาการท้องผูก และอื่น ๆ อีกมากมาย อยากรู้จักเจ้าสมุนไพรชนิดนี้ให้มากขึ้นต้องตามไปดูกันเลย

          ชุมเห็ดไทย หรือชาวบ้านเรียก ผักหลับมืน นิยมนำยอดอ่อน ดอก มาลวกรับประทานเป็นผัก เผา หรือแกงเหมือนขี้เหล็ก โดยการต้มน้ำทิ้งก่อน เพราะใบจะขม สำหรับบางคนที่รับประทานขมได้ จะนึ่งรับประทานเลยก็ได้ ฝักอ่อนสามารถนำมาต้มรับประทานเหมือนถั่ว ฝักแก่มีเมล็ดเหมือนเมล็ดกระถิน ใช้เผาไฟรับประทาน รสชาติเหมือนถั่วคั่ว

          พ่อหมอแม่หมอต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รับประทานผักหลับมืนแล้วอายุยืน หลับง่าย ถ่ายคล่อง ปัสสาวะดี แก้ปวดเมื่อย แก้น้ำเหลืองเสีย ใบของผักหลับมืนหรือชุมเห็ดไทยมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ลดปวด และต้านการอักเสบในหนูทดลอง ทั้งยังมีความปลอดภัยสูง ส่วนอื่น ๆ ของชุมเห็ดไทยก็มีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายและยาระบาย เช่น Anthraquinone Glycoside, Aloe-emodin และ 1,8-Dihydroxy-3 (Hydroxymethyl)-Anthraquinone

ชุมเห็ดไทย

          ชุมเห็ดไทย เป็นพืชที่นอนกลางคืนตื่นกลางวัน เวลากลางวันใบจะกางออกและหุบเข้าหากันในเวลากลางคืน เหมือนกับจะบอกเป็นนัยให้รู้ว่ามีสรรพคุณทางยาที่น่าอัศจรรย์ คือ ทำให้หลับก็ได้ หรือตื่นก็ได้ เวลาไปเก็บมาทำยา หากต้องนำมาใช้ช่วยให้หลับก็ต้องไปเก็บตอนกลางคืน หากจะนำมาใช้ให้ตื่นก็ต้องไปเอาตอนกลางวัน

          การที่ชุมเห็ดไทยมีอีกชื่อหนึ่งว่า "หลับมืน" ซึ่งเป็นชื่อที่หมอยาพื้นบ้านทั้งล้านนาและชุมชนไทยลาวเรียกเหมือนกัน ก็มาจากสรรพคุณทางยาของสมุนไพรชนิดนี้ ที่ใช้รักษาคนที่เป็นไข้จม หรือเหียดจม คนไข้จะมีอาการเหนื่อย ครั่นเนื้อ ครั่นตัว จับสั่น เจ็บศีรษะ นอนไม่อยากลืมหูลืมตา จะให้หลับก็ไม่หลับ หากมีอาการเหล่านี้ หมอยาโบราณจะใช้รากหลับมืน รากซมซื่น (เขยตาย) รากผักตาโก้ง (ผักเบี้ย) มาฝนกับน้ำเป็นยาซุม (ยาหลัก) ให้รับประทาน คนไข้ก็จะลืมหูลืมตาได้ คำว่า ลืมตา ในภาษาอีสานก็คือ มืนตา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อนี้

          นอกจากนี้ ชุมเห็ดไทย ยังใช้แก้อาการสะลึมสะลือหลังตื่นนอน ใช้แก้ปวดหัว วิงเวียน แก้เมาเห็ด เด็กคนไหนตอนกลางคืนไม่ค่อยจะนอน ชอบงอแง ในอดีตผู้เป็นแม่จะไปตัดเอาชุมเห็ดไทยส่วนไหนก็ได้ หรือเอาทั้งต้น มาต้มอาบ จะทำให้เด็กไม่งอแงและหลับง่ายขึ้น ในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็มีการใช้คล้าย ๆ กัน คือ รักษาอาการไม่สงบในเด็ก ด้วยการตำใบชุมเห็ดไทยทาลงบนศีรษะเด็ก

          สำหรับการใช้ชุมเห็ดไทยเป็นยาช่วยให้นอนหลับ นิยมใช้เมล็ดมากที่สุด แต่ต้องนำไปคั่วก่อน เพราะเมล็ดที่ไม่คั่วของชุมเห็ดไทยมีความเป็นพิษ ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาด สมัยก่อนจะนิยมคั่วเมล็ดของชุมเห็ดไทยให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผงชงน้ำร้อนกินแทนชา จะทำให้นอนหลับสบายและช่วยขับปัสสาวะ มีการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดน้ำจากเมล็ดชุมเห็ดไทยช่วยให้นอนหลับ ดังนั้นการดื่มชงชาเมล็ดชุมเห็ดไทยคั่ว จึงน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะมีปัญหานอนหลับยากและปัสสาวะไม่คล่อง รวมไปถึงคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาเรื่องการนอนด้วยเช่นกัน

          ตำรายาไทยและตำรายาจีนระบุสรรพคุณของชุมเห็ดไทยทั้งใบและเมล็ดคั่วว่า มีรสขม เย็น ชุ่ม ใช้กล่อมตับ ทำให้ตาสว่าง คนโบราณเชื่อว่า ตับสัมพันธ์โดยตรงกับตา ตับไม่ดี ตาก็ไม่ดี ของที่รสขม มีสี จะบำรุงทั้งตาและตับ การที่ชุมเห็ดไทยกล่อมตับจึงทำให้ตาสว่าง แก้ตามัว ตาฝ้าฟาง บำรุงสายตาป้องกันโรคที่เกี่ยวกับตาอื่น ๆ เช่น เยื่อตาอักเสบ ตาแดง เป็นต้น ในมาเลเซีย และจีน มีการใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยในการบำรุงสายตา และรักษาโรคทางตาเช่นเดียวกันกับหมอยาไทย

ชุมเห็ดไทย

          หมอยาพื้นบ้านยังบอกอีกว่า ผักหลับมืน รับประทานแล้วจะทำให้ไม่อ้วน ร่างกายคล่องแคล่วว่องไว ปัจจุบันมีการศึกษา พบว่า เมล็ดชุมเห็ดไทยมีฤทธิ์ต้านการสะสมของไขมันจริง มีการศึกษาที่ทำกับเซลล์ไขมันที่เลี้ยงในหลอดทดลองพบว่า ค่าไตรกลีเซอไรด์ของเซลล์ที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ที่มีสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยประกอบอยู่ลดลง เมื่อเทียบกับเซลล์ที่เลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ธรรมดา นอกจากนี้เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดชุมเห็ดไทยให้แก่หนูทดลอง ก็พบว่า น้ำหนักของหนูลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัด โดยค่าไขมันในเลือด คือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ และโคเลสเตอรอล LDL (Low Density Lipoprotein) หรือไขมันร้าย ลดลง ในขณะเดียวกันก็มีค่าไขมันดี หรือโคเลสเตอรอล HDL (High Density Lipoprotein) เพิ่มขึ้น


          นอกจากนี้ ยังมีผลเพิ่มการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยับยั้งการสร้างไขมัน เพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมัน และลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า ชุมเห็ดไทยจะสามารถพัฒนาเป็นยาลดน้ำหนักและลดไขมันในเลือดได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเป็นพิษของเมล็ดชุมเห็ดไทยด้วย จึงควรใช้อย่างระมัดระวังและในปริมาณที่แนะนำเท่านั้น

ข้อควรระวัง

          เมล็ดชุมเห็ดไทยที่จะนำมาทำยาต้องคั่วให้เกรียมก่อนเท่านั้น
          การใช้เมล็ดในปริมาณสูงเกินไปอาจทำให้เกิดไตอักเสบ
          ควรระมัดระวังการใช้ในเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Diseases)

ชุมเห็ดไทย

ตำรับยา

          ยาทำให้ตื่น - ให้นำรากชุมเห็ดไทย รากตาก้อง แช่น้ำล้างหน้า

         ยาทำให้หลับ - ให้นำรากแช่น้ำกินทำให้หลับ เมื่อพระอาทิตย์ตกดินจะง่วงหลับทันที หรือผสมกับรากหญ้าดงฮ้าง (สาบเสือ) รากหญ้าขัดมอนตัวผู้ ต้มอาบ ต้มรับประทาน

          ยาทำให้หลับ - ใช้ส่วนใบหรือทุกส่วน 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร เมล็ดคั่ว 1 หยิบมือ (1 ช้อนชา) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว กระวาน 2 ผล เพื่อกลบรสเหม็นเขียว และเกลือเล็กน้อย

         ยาระบาย - เมล็ดแห้งคั่ว 10-15 กรัม (2-2.5 ช้อนโต๊ะ) ต่อวัน ต้มเอาน้ำดื่ม

          ยานอนหลับดี - ใช้เมล็ดคั่วทำเป็นชาชงดื่ม โดยใส่เมล็ดที่คั่วแล้ว 1 หยิบมือ ใส่ลงในกาน้ำชา ใส่น้ำร้อนประมาณครึ่งลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หากจะดื่มมื้อเดียวก็ปรุงโดยใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยคั่ว 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน 1 แก้ว รับประทานก่อนนอน

         ยารักษากลากเกลื้อน - ใช้ใบสด 10-20 ใบ ตำผสมเหล้าโรงวันละ 2-3 ครั้ง

          ถือเป็นสมุนไพรไทยอีกชนิดที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยามากเลย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการบำรุงสุขภาพด้วยสมุนไพร ลองหาเจ้าชุมเห็ดไทยมาลองก็ไม่เสียหาย แต่ก็อย่าลืมศึกษาถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ด้วยนะ ทางที่ดีที่สุดถามผู้เชี่ยวชาญเลยค่ะ จะได้ใช้ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น
 

ภาพจาก happy+
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชุมเห็ดไทย สรรพคุณน่าตื่นตา แก้นอนไม่หลับ ลดน้ำหนักก็ได้ อัปเดตล่าสุด 22 มกราคม 2559 เวลา 14:30:10 26,767 อ่าน
TOP
x close