โรคกลัวสุนัขอย่างรุนแรง ไม่ใช่การแสดงแต่ควรต้องรักษา

          โรคกลัวสุนัขมาก ๆ ชนิดที่แค่เจอก็ตัวสั่น อย่าเพิ่งมองว่าอาการกลัวหมาแบบนี้คือการแสดง แต่นี่เป็นโรคกลัวอย่างรุนแรงที่ควรได้รับการบำบัด
โรคกลัวสุนัข

          ใคร ๆ ก็คงกลัวโดนสุนัขกัดให้เจ็บ แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการกลัวสุนัขจับใจ ชนิดที่แค่เห็นสุนัขไกล ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์เล็กน่ารักแค่ไหนก็รู้สึกตกใจกลัว ซึ่งอาการกลัวที่ว่าอาจทำให้คนรอบข้างมองเป็นเรื่องขำ ๆ หรืออาจโดนมองว่าอยากเด่นอยากดังจึงต้องสร้างนิสัยกลัวสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัวสักเท่าไร

          ทว่าในทางจิตวิทยาแล้ว โรคกลัวสุนัขนั้นมีที่มาที่ไป และเป็นอาการโฟเบียอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างต้องใส่ใจ และควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องนะคะ

โรคกลัวสุนัข

โรคกลัวสุนัข (Cynophobia) มีอยู่จริง

          โรคกลัวสุนัข หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Cynophobia จัดเป็นโรคความกลัวอย่างรุนแรง (Specific phobia) ชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีความกลัวต่อสุนัขอย่างไม่มีเหตุผล และส่วนมากแล้วตัวผู้ป่วยเองก็จะรู้ว่าความกลัวนั้นไม่ค่อยสมเหตุสมผลกับสิ่งที่กลัวเท่าไร เช่น เจอสุนัขพันธุ์เล็กหน้าตาแบ๊ว ๆ แทนที่จะรู้สึกเอ็นดู แต่ผู้ป่วยกลับกลัวสุนัขตัวเล็กนั้นอย่างจริงจัง และไม่สามารถห้ามหรือควบคุมความกลัวที่เกิดขึ้นได้เลย

โรคกลัวสุนัข อาการต้องขนาดไหนถึงจะเข้าข่าย

          อาการกลัวสุนัขของแต่ละคนอาจมีระดับความกลัวที่ไม่เท่ากัน บางคนกลัวสุนัขชนิดที่ให้น้องหมาเข้าใกล้ไม่ได้เลย แต่เห็นไกล ๆ ยังพอไหว แต่สำหรับบางคนเพียงแค่เห็นภาพหรือตุ๊กตาสุนัขก็แทบกรี๊ดแล้วก็มี ทว่าหากจะวัดกันจริง ๆ ว่าต้องกลัวหมาขนาดไหนถึงจะเข้าข่ายเป็นโรคกลัวสุนัข ก็อาจพิจารณาจากอาการเมื่อเจอน้องหมาดังต่อไปนี้

อาการแสดงออกทางกาย

          - ใจสั่น หน้ามืด ทำตัวไม่ถูก

          - เหงื่อแตกพลั่ก

          - ตัวสั่น

          - คลื่นไส้

          - อึดอัดมาก ๆ จนแทบจะเป็นลม

          - ปากแห้ง หายใจติดขัด

          - มือ-เท้า เย็น

          - อยากวิ่งหนี

          - ร้องไห้

อาการกลัวที่ใจรู้สึก

          - รู้สึกกลัวจับใจ เหมือนตัวเองจะไม่รอดจากอันตรายที่กำลังเผชิญหน้าอยู่

          - รู้สึกสูญเสียความมั่นคง รู้สึกเหมือนตัวเองแทบสิ้นสติ

          - สับสนมึนงง ต่อสู้กันเองระหว่างข้อเท็จจริงว่าสุนัขไม่ได้น่ากลัว แต่ก็ฝืนความกลัวที่รู้สึกไม่ได้

          - ในใจนึกอยากลองเผชิญหน้ากับสุนัขเพื่อเอาชนะความกลัว แต่ก็มักจะแพ้อยู่บ่อยครั้ง

          อย่างไรก็ตาม จิตแพทย์ชี้แนะว่า อาการกลัวเช่นนี้จะดำเนินไปเรื่อย ๆ ถึงขั้นกลัวเรื้อรัง และหากไม่เข้ารับการรักษาก็อาจกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะคนที่มีความกลัวสุนัขอย่างรุนแรง

โรคกลัวสุนัข

สาเหตุของโรคกลัวสุนัข

          อาการกลัวอย่างรุนแรงแทบทุกชนิดไม่เว้นแม้แต่โรคกลัวสุนัขมักจะเป็นผลมาจากความทรงจำอันเลวร้ายต่อสิ่งที่กลัว เช่น ตอนเด็ก ๆ เคยถูกสุนัขไล่กัด เคยโดนสุนัขกัดมาก่อน หรือบางรายอาจรู้สึกกลัวตั้งแต่ช่วงเริ่มเป็นวัยรุ่น เพราะมีประสบการณ์แย่ ๆ กับสุนัขไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งมาก่อน

          ทั้งนี้อาการโฟเบียเป็นอาการผิดปกติทางจิตเวชที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ โดยมีสถิติผู้ป่วยโรคกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ที่ 5-10% ของผู้ป่วยจิตเวชเลยทีเดียว และทางสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาก็ชี้ว่า ส่วนมากโรคกลัวอย่างรุนแรง (Specific phobia) มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่าด้วยนะคะ

          ทว่าจากสถิติแล้วมีผู้ป่วยโรคกลัวอย่างรุนแรงมาบำบัดอาการกลัวค่อนข้างน้อยมาก เพราะอาจจะคิดว่าเป็นอาการกลัวที่ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะบางเคสคิดว่าอาการของตัวเองไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตสักเท่าไร แต่หากรู้สึกว่าตัวเองกลัวสุนัขเข้าขั้นหนักมาก อย่างน้อยลองเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์สักหน่อยก็จะอาจจะเอาชนะความกลัวนี้ได้ค่ะ

กลัวน้องหมามาก ทำไงดี เรามีวิธีรักษา

          โรคกลัวสุนัขบำบัดให้หายขาดได้ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ป่วยเองก็ต้องยอมรับว่าตัวเองป่วยโรคนี้จริง ๆ และต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจก่อนเข้ารับการบำบัดดังต่อไปนี้ด้วย

1. ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy)

          วิธีรักษาด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือ CBT เป็นแนวทางการรักษาโรคกลัวสุนัขด้วยการให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง ค่อย ๆ ปรับทัศนคติที่ผู้ป่วยมีต่อน้องหมาอย่างช้า ๆ ให้ผู้ป่วยลองเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากผู้ป่วยเอาชนะพอไหว จิตแพทย์ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขนาดความรุนแรงของสิ่งที่กลัวเข้าไปอีก หรือจนกว่าผู้ป่วยจะเข้าถึงความกลัวของตัวเองและเข้าใจจนหายกลัวสิ่งนั้น ๆ เช่น ลองให้ดูคลิปวิดีโอสุนัขน่ารัก ๆ ถ้าดูไหว ไม่รู้สึกกลัวอาจให้อยู่กับลูกสุนัขในระยะห่าง 5 เมตร และค่อย ๆ เพิ่มระดับมากขึ้น ๆ เป็นต้น

2. การรักษาด้วยยา  

          การรักษาด้วยยาอาจไม่ใช่วิธีรักษาหลักของโรคโฟเบีย ทว่าจะเน้นไปที่อาศัยตัวยาเพื่อการบำบัดความวิตกกังวล ลดความเครียดเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่รู้สึกกลัว ดังนั้นจิตแพทย์จึงมักจะใช้ทั้งตัวยารักษาและวิธี CBT ร่วมรักษาผู้ป่วยด้วย

          และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาการกลัวสุนัขที่ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือรุนแรง อาการกลัวเหล่านั้นจะติดฝังใจไม่ยอมหายไปง่าย ๆ ฉะนั้นบางครั้งความกลัวที่เป็นอยู่อาจกระทบกับการดำเนินชีวิตในทางใดทางหนึ่งได้ ดังนั้นหากเข้ารับการบำบัดให้อาการกลัวหายไปเลยก็คงดี และอย่าลืมนะคะว่า อาการกลัวเป็นความรู้สึกที่เราสามารถก้าวผ่านมันได้ ขอแค่คุณมีจิตใจที่เข้มแข็งพอเท่านั้น ;)


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
FEAROF

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกลัวสุนัขอย่างรุนแรง ไม่ใช่การแสดงแต่ควรต้องรักษา อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2561 เวลา 14:45:10 18,859 อ่าน
TOP
x close