x close

เตือนดื่มสุรา เสี่ยงตายด้วยโรคหัวใจ 2-3 เท่า

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กรมการแพทย์เตือนคอทองแดงดื่มสุรา เรื้อรังเสี่ยงตายด้วยโรคหัวใจ 2-3 เท่า (กระทรวงสาธารณสุข)

          หมอใหญ่กรมการแพทย์แนะคอทองแดงควรเลิกเหล้าถาวร หลังพบเสี่ยงตายด้วยโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มสูงถึง 2-3 เท่า ระบุสาเหตุส่วนใหญ่จากเพื่อนชวนกว่าร้อยละ 50

          เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมอิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวภายหลังร่วมพิธีเปิดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง "รู้ลึก รู้จริง รู้ทันยาเสพติด: Update in Addiction"  ว่า จากสถานการณ์ผู้ติดสุราเรื้อรังเข้ารับการบำบัดรักษา ที่สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ ปี 2551 จำนวน 1,304 ราย ปี 2552 จำนวน 1,556 ราย และปี 2553 เพียง 6 เดือนแรกมีผู้ป่วยมากถึง 1,094 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ติดสุราเรื้อรังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี 

          ทั้งนี้ โดยมีสาเหตุมาจากเพื่อนชวนถึงร้อยละ 53.20 รองลงมาคือ อยากลอง ร้อยละ 31.63 และเพื่อความสนุกสนาน  ร้อยละ 9.96 โดย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 35-54 ปี ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นพิษสุราเรื้อรังจะดื่มสุราโดยไม่จำกัด มีความต้องการดื่มสุราตลอดเวลา แม้จะพยายามเลิกสุราหลายครั้งหลายหน แต่ก็ทำไม่สำเร็จและจะปฏิเสธว่าไม่ติดสุรา หลังจากดื่มไปได้ระยะหนึ่งผู้ป่วยจะเริ่มดื้อต่อแอลกอฮอล์ โดยมีอาการเหมือนดื้อยา คือ ต้องการดื่มสุรามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะให้สุราออกฤทธิ์เท่าเดิม ที่สำคัญจะคุมตัวเองไม่ได้ และชอบใช้ความรุนแรงกับครอบครัว นอกจากนี้ เมื่อไม่ได้ดื่มสุราจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือสั่น กระวนกระวาย  และกลับมาดื่มสุราอีก จึงทำให้ติดสุราเรื้อรัง

          สำหรับผลเสียของโรคพิษสุราเรื้อรัง คือ ส่งผลต่อหัวใจ หลอดเลือด และตับ โดยจะทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ  มีโอกาสเกิดโรคหัวใจมากกว่าของผู้ที่ไม่ดื่มสุรา 2-3 เท่า ส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งจากสารอื่นได้ง่าย เช่น การดื่มสุราพร้อมกับการสูบบุหรี่ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปาก กล่องเสียงและหลอดอาหาร และเกิดโรคตับอักเสบ ตับแข็ง รวมทั้งทำให้เกิดท้องร่วง ริดสีดวงทวาร และแผลในกระเพาะอาหาร  ซึ่งหากได้รับแอลกอฮอล์เกินขนาดอาจ ทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะการดื่มปริมาณมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน คิดว่าตนเองคอแข็ง ไม่ติดเหล้า  นอกจากนี้  ทำให้ความสามารถในการขับขี่พาหนะลดลง รวมถึงเกิดความรุนแรงในครอบครัว 

          รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงไม่มาก หลังจากการหยุดสุรา 12-72  ชั่วโมง คือ หงุดหงิด มือและตัวสั่น วิตกกังวล โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า อ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ออก ใจ สั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออกหน้าและมือ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และหัวใจเต้นเร็ว  แพทย์จะให้ยาและสารน้ำทางเส้นเลือด หลังจากนั้นสังเกตอาการอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และหากอาการดีขึ้นก็สามารถกลับบ้านได้ โดยให้คำแนะนำการปฏิบัติตน และรับยาไปรับประทานต่อ 4 - 5 วันแล้วไปพบแพทย์ตามนัด

          สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงหลังจากหยุดสุรา และมีอาการรุนแรง  คือ  เครียด ชักกระตุก ประสาทหลอน หรือมีอาการสับสน วุ่นวาย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง จึงควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

          อันตรายจากการติดสุรา คือ ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว ตับถูกทำลาย ดังนั้น ผู้ติดสุราควรควบคุมจิตใจตัวเอง  หางานอดิเรกทำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ปลูกผักสวนครัว ชมรายการโทรทัศน์ เป็นต้น  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนดื่มสุรา เสี่ยงตายด้วยโรคหัวใจ 2-3 เท่า อัปเดตล่าสุด 15 กรกฎาคม 2553 เวลา 13:19:48
TOP