x close

10 ประโยชน์ถั่วลันเตา จัดไปเน้น ๆ แก้ท้องผูก ลดน้ำตาลในเลือดได้อยู่หมัด


          ถั่วลันเตา สรรพคุณทรงคุณค่า บำรุงสุขภาพแบบเน้น ๆ ประโยชน์ของถั่วลันเตาดีแค่ไหนต้องพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง

          ถั่วลันเตา อีกหนึ่งอาหารจากธรรมชาติที่คุ้นหน้าคุ้นตากันมานาน ซึ่งนอกจากจะรสชาติหวานกรอบอร่อยแล้ว ก็ยังมีคุณค่าทางอาหารอีกมากมายที่รอให้คุณสัมผัสกับประโยชน์ดี ๆ เพื่อสุขภาพ มาทำความรู้จักกับผักชนิดนี้ให้มากขึ้น แล้วคุณจะตกหลุมรักเจ้าผักชนิดนี้จนรีบหามารับประทานกันอย่างด่วนจี๋เลย

          ถั่วลันเตา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Peas, Garden Peas หรือ Green Peas มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pisum sativum L. เป็นพืชในตระกูลถั่ว (Legumes) สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศซีเรียและตุรกีในปัจจุบัน โดยมีการพบว่าเริ่มปลูกพืชชนิดนี้มาตั้งแต่ 8,000-9,500 ปีก่อน ชื่อของถั่วลันเตานั้นพ้องเสียงมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วที่เรียกถั่วชนิดนี้ว่า ห่อหลั่นตา ซึ่งมีความหมายว่า ถั่วจากฮอลแลนด์

ถั่วลันเตา

          ทั้งนี้ลักษณะโดยทั่วไปของถั่วลันเตาคือ เป็นไม้เลื้อย ลำต้นเล็กเป็นเหลี่ยม ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 1-4 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรู้กึ่งวงกลม หรือเป็นรูปรี โคนใบกลม ปลายใบแหลม มีสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ผสมตัวเอง ลักษณะเป็นแบบช่อกะจะ กลีบกลางสีขาวหรือขาวปนน้ำเงิน กลีบคู่ด้านข้างสีขาว หรือมีแต้มสีม่วงแดง กลีบคู่ล่างมีสีเดียวกัน โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ถือผล ซึ่งมีลักษณะเป็นฝักถั่ว ภายในฝักมีเมล็ดตั้งแต่ 3-10 เมล็ด สามารถนำมารับประทานได้ทั้งฝักเมื่อยังเป็นฝักอ่อน หรือจะนำเมล็ดแก่ออกจากฝักมารับประทานก็ได้ ถั่วลันเตาได้รับความนิยมสูงเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยในเมล็ดถั่วลันเตา 100 กรัม มีคุณค่าทางอาหารดังนี้

          - พลังงาน 84 กิโลแคลอรี
          - น้ำ 77.87 กรัม
          - คาร์โบไฮเดรต 15.63 กรัม
          - โปรตีน 5.36 กรัม
          - ไขมัน 0.22 กรัม
          - ไฟเบอร์ 5.5 กรัม
          - น้ำตาล 5.93 กรัม
          - แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
          - ธาตุเหล็ก 1.54 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 39 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 117 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 271 มิลลิกรัม
          - โซเดียม 3 มิลลิกรัม
          - สังกะสี 1.19 มิลลิกรัม
          - วิตามินซี 14.2 มิลลิกรัม
          - ไนอะซิน 2.021 มิลลิกรัม
          - ไธอะมิน 0.259 มิลลิกรัม
          - ไรโบฟลาวิน 0.149 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 6 0.216 มิลลิกรัม
          - โฟเลต 63 ไมโครกรัม
          - วิตามินเอ 801 ยูนิด
          - วิตามินอี 0.14 มิลลิกรัม
          - วิตามินเค 25.9 ไมโครกรัม

ถั่วลันเตา

          ส่วนในเรื่องของรสชาติ ถั่วลันเตามีรสชาติออกหวานและกรอบ หากเป็นฝักอ่อนก็จะนิยมนำมาปรุงเป็นผัดผัก ส่วนเมล็ดแก่ก็ทั้งนำมาปรุงเป็นอาหารและอบกรอบเป็นของว่างกินเล่น

ประโยชน์ของถั่วลันเตา ดีแบบเน้น ๆ เด่นบำรุงสุขภาพ


          นอกจากจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ถั่วลันเตาเองก็ยังมีประโยชน์กับสุขภาพอีกมากมาย จึงทำให้ถั่วชนิดนี้กลายเป็นอาหารที่มีดีอย่างครบถ้วนทั้งในด้านรสชาติที่หวานกรอบ และการบำรุงสุขภาพ ซึ่งประโยชน์ของถั่วลันเตามีดังนี้ค่ะ

1. อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

          ไม่ว่าจะเป็นสารฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ กรดฟีโนลิก และโพลีฟีนอล ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกทำลาย ลดการอักเสบ อันเป็นสาเหตุของโรคภัยต่าง ๆ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอีกด้วย อีกทั้งยังมีวิตามินซี วิตามินอี และสังกะสีที่ดีต่อสุขภาพ

2. ช่วยลดน้ำหนัก

          ขึ้นชื่อว่าถั่วแล้ว แน่นอนล่ะว่าถั่วลันเตาก็เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่มีปริมาณโปรตีนสูง แถมยังมีไขมันต่ำ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก อีกทั้งไฟเบอร์ในถั่วลันเตาก็ยังช่วยทำให้อิ่มนานขึ้น ลืมไปได้เลยเรื่องหิวบ่อย

3. ลดคอเลสเตอรอล

          ไนอะซิน (Niacin) ที่อยู่ในถั่วลันเตา มีส่วนสำคัญในการช่วยลดการสร้างไขมันไตรกลีเซอไรด์ และไขมัน VLDL ซึ่งเป็นไขมันที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงไตรกลีเซอไรด์จากตับไปยังอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง แต่ทำให้คอเลสเตรอลชนิดที่ดีเพิ่มขึ้น (HDL) จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตันได้
 
ถั่วลันเตา

4. แก้ท้องผูก

          สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก ถั่วลันเตาช่วยคุณได้ค่ะ เพราะเจ้าถั่วชนิดนี้มีไฟเบอร์สูง ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และทำให้ระบบลำไส้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ

5. บำรุงหัวใจ

          นอกจากช่วยลดคอเลสเตอรอล และป้องกันหลอดเลือดอุดตันแล้ว ลูทีน และไฟเบอร์ที่อยู่ในถั่วลันเตาก็ยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้อีกด้วย โดยจะเข้าไปป้องกันการก่อตัวของคราบพลักภายในผนังหลอดเลือดแดง ไม่เพียงเท่านั้นไธอะมีน โฟเลต ไรโบฟลาวิน ไนอะซิน และวิตามินบี 6 ยังช่วยลดระดับของโฮโมซีสเตอีน (Homocysteine) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจลง 

6. ป้องกันมะเร็งในช่องท้อง

          การศึกษาในประเทศเม็กซิโกพบว่า การรับประทานถั่วลันเตาเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งในช่องท้องได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า ภายในถั่วลันเตานั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อว่า คูเมสทรอล (Coumestrol) อยู่สูงถึง 10 มิลลิกรัมต่อถั่วลันเตา 1 ถ้วย ซึ่งเจ้าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้จะเข้าไปป้องกันการออกซิเดชั่นที่ทำให้เกิดการอักเสบ และยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง

7. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

          ไฟเบอร์ที่อุดมอยู่ในถั่วลันเตา ทำให้เจ้าถั่วชนิดนี้กลายเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะไฟเบอร์เหล่านี้จะไปทำให้น้ำตาลถูกย่อยช้าลง อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในถั่วลันเตาก็ยังไปป้องกันภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ที่สำคัญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่อยู่ในถั่วลันเตาก็ยังเป็นมิตรกับสุขภาพ

8. บำรุงสายตา

          ถ้าจะพูดถึงวิตามินที่ช่วยบำรุงสายตาก็ต้องวิตามินเอ ซึ่งในถั่วลันเตาก็มีอยู่ไม่น้อย โดยในถั่วลันเตาเพียง 1/2 ถ้วย มีปริมาณวิตามินเอถึง 32% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน อีกทั้งยังมีลูทีน (Lutein) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องดวงตาจากภาวะต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม ช่วยให้ดวงตาของเรายังใสปิ๊งไปอีกนาน

ถั่วลันเตา

9. บำรุงกระดูก

          ถั่วลันเตามีวิตามินเคสูง เพียง 1 ถ้วยก็มีปริมาณวิตามินเคถึง 44% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งเจ้าแร่ธาตุชนิดนี้นี่ล่ะค่ะ ที่จะเข้าไปช่วยเสริมสร้างกระดูก ช่วยให้กระดูกสะสมแคลเซียมได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี ที่มีสรรพคุณป้องกันโรคกระดูกพรุนอีกด้วย

10. อุดมด้วยธาตุเหล็ก

          สำหรับคนที่ต้องการเสริมธาตุเหล็ก ถั่วลันเตาก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการบำรุงสุขภาพ เพราะถั่วลันเตาครึ่งถ้วยมีธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม ซึ่งธาตุเหล็กนั้นเป็นสารอาหารสำคัญที่พบได้ในฮีโมโกลบิน โปรตีนสำคัญที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย การรับประทานธาตุเหล็กอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและไม่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วลันเตา

          แม้ว่าถั่วลันเตาจะมีประโยชน์กับร่างกาย แต่เจ้าถั่วชนิดนี้ก็ยังมีข้อที่ควรระวัง โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคไต หรือโรคเกาต์ เพราะในถั่วลันเตานั้นมีสารพิวรีน (Purines) ซึ่งสารนี้เมื่อถูกแปรสภาพแล้วจะกลายเป็นกรดยูริก และกรดยูริกก็จะไปทำให้อาการโรคไต และโรคเกาต์กำเริบขึ้นได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน หรือรับประทานแต่น้อยจะดีที่สุด

          นอกจากอร่อยแล้ว ถั่วลันเตายังมีประโยชน์ดี ๆ มากมายขนาดนี้ รู้อย่างนี้แล้วถ้าอยากมีสุขภาพดีก็ลองให้ถั่วลันเตาเป็นหนึ่งในตัวเลือกเมนูอาหารของคุณวันนี้นะคะ รับรองว่าไม่มีทางผิดหวังแน่นอน !


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
กรมส่งเสริมการเกษตร
Encyclopedia of Life  
whfoods.com  
realfoodforlife.com  
livestrong.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 ประโยชน์ถั่วลันเตา จัดไปเน้น ๆ แก้ท้องผูก ลดน้ำตาลในเลือดได้อยู่หมัด อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2565 เวลา 15:01:29 97,659 อ่าน
TOP