โรค TGA ที่นางเอกภาพยนตร์เรื่องแฟนเดย์เป็นนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่แค่อาการความจำเสื่อมที่มโนไปเอง
อาการความจำเสื่อมชั่วคราวแค่วันเดียวแล้วก็หาย หลายคนยังคงสงสัยว่าจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นจริง ๆ หรือเป็นเพียงประเด็นให้สร้างเป็นหนังขึ้นมาได้ เพราะดูแล้วก็น่าเหลือเชื่อไม่น้อยเหมือนกันนะคะ งั้นเอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักโรค TGA (Transient Global Amnesia) อาการความจำเสื่อมชั่วขณะกันดีกว่า
ชื่อเต็ม ๆ ของ โรค TGA คือ Transient Global Amnesia หมายถึงอาการความจำเสื่อมระยะสั้นเสียชั่วขณะ จัดเป็นกลุ่มความผิดปกติทางสมองอย่างหนึ่ง โดยพบโรคครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1956 ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอัตราการเกิดโรคเพียง 5 ใน 100,000 คน ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างน้อยมาก ๆ แต่ในประเทศไทย โรค TGA มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
โรค TGA อาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยโรค TGA มักจะสูญเสียความจำระยะสั้นอย่างฉับพลัน กล่าวคือตื่นขึ้นมาก็จำอะไรไม่ได้ หรือตอนเช้าอาการยังเป็นปกติ แต่พอช่วงบ่ายกลับสูญเสียความทรงจำไปเฉย ๆ โดยอาจจำไม่ได้ว่าตัวเองมาอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไร บางรายอาจมีอาการจำชื่อคนใกล้ชิดที่เพิ่งรู้จักกันไม่กี่ปีไม่ได้ ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ได้ แต่มักจะจำเหตุการณ์ย้อนหลังไปหลาย ๆ ปีได้เป็นอย่างดี และสามารถทำทุกอย่างได้เป็นปกติ เช่น ขับรถได้ พูดตามคำบอกได้
โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วยโรค TGA มักจะกังวลกับอาการที่ตนเป็นค่อนข้างมาก เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ผิดยุค เห็นสิ่งรอบตัวเป็นความแปลกใหม่ พร้อมกับความสงสัยว่าตัวเองป่วยเป็นอะไร และพอแพทย์หรือคนใกล้ชิดอธิบายเหตุการณ์ให้ฟังแล้วก็มักจะจำได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ไม่สามารถเก็บเป็นความทรงจำระยะยาวได้ ดังนั้นเมื่ออาการ TGA หายไป สมองจำเรื่องราวได้เป็นปกติ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถจำเหตุการณ์ในช่วงที่ป่วยเป็น TGA ได้อย่างสมบูรณ์นัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรค TGA จะมีอาการเพียงชั่วคราว โดยส่วนมากพบว่า ผู้ป่วยมีอาการสูญเสียความจำระยะสั้นมากกว่า 1 ชั่วโมง และจะกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 24 ชั่วโมง
โรค TGA สาเหตุของโรคคืออะไรได้บ้าง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าสาเหตุของโรค TGA เกิดจากอะไรกันแน่ แต่ก็มีการสันนิษฐานถึงโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับโรค TGA ไว้ อันได้แก่ โรคลมชัก, ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว, โรคไมเกรน, การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจนเกิดอาการ Blackout
แต่ทั้งนี้ ดร. นพ.กิติพงศ์ สุนทราภา อาจารย์สังกัดภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ยังเผยว่า TGA อาจเกิดจากโรคเครียด หรือการที่ร่างกายอยู่ในสภาพอากาศที่ผันผวนหนัก ๆ เช่น จากร้อนไปอยู่ในที่เย็นจัดเป็นเวลานาน ๆ เหมือนนางเอกภาพยนตร์เรื่องแฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว ซึ่งอาจกระทบต่อการทำงานของสมองในบางส่วนได้
อย่างไรก็ดี การจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยซึ่งสูญเสียความทรงจำระยะสั้นชั่วขณะเป็นโรค TGA ต้องสรุปภายหลังจากหาสาเหตุอื่น ๆ ครบหมดแล้ว เช่น ตรวจเช็กคลื่นสมองผู้ป่วยว่าไม่มีเส้นเลือดตีบตัน ไม่มีความผิดปกติทางระบบประสาท และความผิดปกติของอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
การรักษาโรค TGA
โดยส่วนมากแล้วผู้ป่วย TGA จะมีอาการหลงลืมไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาการ TGA จะหายไปได้เอง ผู้ป่วยก็จะกลับมาเป็นปกติดีทุกอย่าง ดังนั้นจึงไม่มีการรักษาโรค TGA ระบุไว้ทางการแพทย์อย่างแน่ชัด
แม้ TGA จะเป็นโรคทางสมองที่ทำให้เราลืมเหตุการณ์บางช่วงบางตอนอย่างสนิทใจ แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่ใช่อาการที่อันตรายและก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งสิ้นนะคะ ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลไป ทว่าก็อย่าหลงลืมใส่ใจสุขภาพกันให้ดีพร้อมในทุกด้าน โรคภัยจะได้ไม่มาเยือนนะจ๊ะ
ภาพจาก gdh559, stocksnap.io
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
รายการเช็คก่อนแชร์