x close

เตือนเกษตรกร ระวัง โรคเลียนแบบ ระบาด

โรคเลียนแบบ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สธ.เตือนเกษตรกรระวังโรคเมลิออยโดสิส หรือ โรคเลียนแบบ ระบาดภาคอีสาน ชี้เป็นแล้วถึงตายได้ แนะสวมถุงมือ รองเท้าบูทให้มิดชิดก่อนย่ำทุ่งนา

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการระบาดของโรคเมลิออยโดสิส หรือโรคนักเลียนแบบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยสถิติการเฝ้าระวังระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2553 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส 1,307 คน เสียชีวิต 6 คน ส่วนใหญ่กระจายอยู่ภาคอีสาน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี 300 คน รองลงมาคือขอนแก่น 200 คน
 
          ทั้งนี้ โรคเมลิออยโดสิส หรือ โรคนักเลียนแบบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินและน้ำตามทุ่งนา อาการของโรคเมลิออยโดสิส จะมีอาการเลียนแบบโรคอื่นหลายโรค เช่น เป็นไข้ ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้ยาก สามารถติดต่อได้ทางระบบทางเดินหายใจและผิวหนังบริเวณที่เป็นแผล และหากติดเชื้อเข้ากระแสเลือดมีอัตราการเสียชีวิตถึง 40% โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องอยู่ในดินและน้ำตามทุ่งนาเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสติดเชื้อได้
 
          และด้วยการโรคเมลิออยโดสิสเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่า มีอาชีพอะไร ไปเดินในไร่ในนามาหรือไม่ เพื่อให้แพทย์สันนิษฐานในเบื้องต้น เพราะโรคนี้เป็นแล้วรักษาหายยาก ต้องใช้เวลานาน 4-6 เดือน และกินยาต่อเนื่องเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นโรคอีก สธ.จึงได้แนะนำให้ประชาชนที่ต้องย่ำสวนไร่นา สวมถุงมือ รองเท้าบูทให้มิดชิดเพื่อความปลอดภัย
 
          ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 40-50 ปี มักติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม โดยพบการระบาดในภาคอีสานมากที่สุด เพราะค่ากรดด่างของดินภาคอีสานสูงกว่าภาคอื่น นอกจากนี้ยังพบในภาคเหนือด้วย
 
          อย่างไรก็ตามในแต่ละปี พบคนไทยป่วยเป็นโรคดังกล่าวปีละ 3-5 พันคน ส่วนใหญ่พบระบาดมากในฤดูฝน และพบเชื้อนี้อยู่ในหลายประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย กัมพูชา ลาว เวียดนาม แต่ประเทศไทยมีอัตราป่วยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
 
 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนเกษตรกร ระวัง โรคเลียนแบบ ระบาด อัปเดตล่าสุด 26 สิงหาคม 2553 เวลา 10:16:48 2,584 อ่าน
TOP