อาหารเจ
อาหารเจ
8 ข้อหลักง่าย ๆ กินเจให้ถูกวิธี (สสส.)
โดย สุนันทา สุขสุมิตร
สัญลักษณ์ธงเหลืองปลิวไสวอยู่ตามแผงร้านอาหาร เป็นสัญญาณบ่งบอกถึง "เทศกาลกินเจ" ที่หลายคนเลือกจะงดบริโภคอาหารสัตว์ แล้วหันมาทานผัก โปรตีนที่ได้จากถั่ว เต้าหู้แทน พร้อม ๆ ไปกับการรักษาศีล ทำความดี
แล้วกินเจอย่างไรให้ถูกวิธี ไม่ให้อ้วน ไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหาร วันนี้ นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีคำแนะนำดี ๆ มาบอกให้ฟังว่า การกินเจในช่วงเทศกาลกินเจถือเป็นเรื่องดี ที่คนหันมากินผักมากกว่า แต่การกินเจใช่เพียงจะมองแต่จะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่ควรมองเรื่องของการถือศีลควบคู่เป็นสำคัญ ส่วนวิธีการกินเจให้ถูกวิธี มีหลักง่าย ๆ 8 ข้อ คือ
1.ต้องมั่นใจว่ารับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะหมู่โปรตีน ซึ่งโปรตีนที่จะมาทดแทนเนื้อสัตว์คือ โปรตีนที่ได้จากถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีการผลิตออกมาในรูปแบบของเต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ทอด ขณะที่วิทยาศาสตร์ด้านอาหารก้าวไกลไปมาก จึงทำให้เกิดโปรตีนเกษตรที่ปัจจุบันนี้ ก็มีผู้นิยมบริโภคจำนวนมากเช่นกัน แต่จากที่ตนได้ลงสำรวจในตลาดพบว่า ปัจจุบันนี้มีการทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ทำมาจากโปรตีนเกษตร โดยทำมาจากแป้ง ซึ่งก็อาจส่งผลให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ทานมากไปอาจอ้วนได้
2.ความสะอาด ส่วนมากผู้ทานเจในปัจจุบันจะมักนิยมไปซื้ออาหารเจตามร้านค้า ไม่ค่อยปรุงอาหารเอง ซึ่งก็เสี่ยงต่อเรื่องของความสะอาด ดังนั้นผู้ปรุงอาหารเจขายควรคำนึงเรื่องของความสะอาดให้มาก โดยเฉพาะการทำความสะอาดผักที่นำมาประกอบอาหาร การเลือกดูเครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นซอส ซีอิ๊ว ต้องดูวันหมดอายุ และผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้น
แนะวิธีล้างผักง่าย ๆ นำผักสดที่ซื้อมาใส่ภาชนะ เติมเกลือประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทิ้งไว้ 2-5 นาที แล้วล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 1 รอบ ก็จะช่วยล้างสารพิษออกจากผักได้ในระดับหนึ่ง ประมาณ 30-70%
อาหารเจ
3.หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ในที่นี้หมายถึงรสมันจัดกับเค็มจัด เพราะอาหารเจมักจะปรุงด้วยวิธีการผัด-ทอดในน้ำมัน หากเป็นไปได้ควรหันมาบริโภคอาหารประเภทต้ม ย่าง อบ ยำ เช่น ยำมะเขือยาว แกงจืดเต้าหู้ ฯลฯ แทน
ส่วนรสเค็มจัดนั้น ต้องอย่าลืมว่าการปรุงอาหารก็จะใช้ซอส ซีอิ๊ว เกลือแทนน้ำปลา ซึ่งเครื่องปรุงเหล่านี้มีปริมาณของโซเดียมสูง ซึ่งจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก โดยปกติคนเราจะบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 mg./วัน
4.ควรเลือกทานผัก-ผลไม้สด มากกว่าผักดอง เพราะผักสดมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผักดอง
5.อาหารเจประเภทที่ปรุงด้วยวิธีการเคี่ยวนาน ๆ อาจทำให้คุณค่าของสารอาหารสูญเสียไป เช่น ต้มจับฉ่าย ที่ต้องใช้เวลาเคี่ยวนาน ในส่วนนี้ต้องระวังเรื่องของคุณค่าอาหารจะหายไป รวมถึงความสะอาดของผัก เพราะหากไม่ล้างให้สะอาดแล้วนำมาปรุง ก็เท่ากับสารพิษก็จะตกค้างอยู่ในหม้อ
6.ทานเจให้ได้ไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพราะการทานเจไม่ได้รับประทานอาหารทะเล ดังนั้นการรับประทานอาหารเจ ก็ควรเติมเกลือไอโอดีนใส่ในการปรุงรสด้วยก็จะช่วยทดแทนได้
7.ควรบริโภคข้าวกล้องมากกว่าข้าวขาว เพราะในข้าวกล้องมีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีนมากกว่าข้าวขาว
8.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม แล้วหันมาดื่มน้ำเปล่าบริสุทธิ์แทน
อาหารเจ
8 ข้อหลักนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกไปปฏิบัติ แล้วรู้หรือไม่ว่าการกินเจจะมีประโยชน์กับระบบของร่างกายอย่างไร? ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุประโยชน์ของการกินเจไว้ว่า
ร่างกายสามารถขับถ่ายของเสียออกให้หมด ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ภายใน สารอาหารที่มีคุณค่าในพืชผักสดผลไม้ช่วยให้การขับถ่าย และการย่อยเป็นปกติ
เมื่อรับประทานเป็นประจำ โลหิตจะถูกฟอกให้สะอาดขึ้นเรื่อย ๆ เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมสลายช้าลง ทำให้อายุยืนยาว ผิวพรรณสดชื่น ผ่องใส นัยน์ตาแจ่มใส ไม่พร่ามัว ร่างกายแข็งแรง รู้สึกเบาสบาย ไม่อึดอัด มีสุขภาพอนามัยดี
อวัยวะหลักสำคัญภายในและอวัยวะประกอบทั้ง 5 แข็งแรง ทำงานได้เป็นปกติสมบูรณ์มีสมรรถภาพสูง (อวัยวะหลักภายในทั้ง 5 ได้แก่ หัวใจ, ไต, ม้าม, ตับ, ปอด) (อวัยวะประกอบทั้ง 5 ได้แก่ ลำไส้เล็ก, ลำไส้ใหญ่, กระเพาะปัสสาวะ, กระเพาะอาหาร, ถุงน้ำดี)
ร่างกายต้านทานต่อสารพิษต่าง ๆ ได้สูงกว่าคนปกติธรรมดา อาทิ สารเคมี, ยากำจัดศัตรูพืช, ยาฆ่าแมลง, ก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรกล และสารอาหารในพืชผักช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายทนต่อการทำลายจากรังสีต่าง ๆ เช่น กัมมันตภาพรังสีที่เกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และในสงคราม
ในบรรดาผู้ที่รับประทานอาหารเจ อาหารพืชผักเป็นประจำ ความเจ็บไข้ได้ป่วยมักไม่มีปรากฏ
โดยเฉพาะโรคที่รุนแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง,โรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, เส้นเลือดตีบ, ไขมันอุดตันในเส้นโลหิต, โรคไต, ไขข้ออักเสบ, โรคเกาต์, โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับระบบขับถ่ายย่อยอาหารและทางเดินอาหาร เช่น โรคริดสีดวงทวาร, มะเร็งในกระเพาะ และลำไส้, โรคกระเพาะ, อาหารไม่ย่อย โรคเหล่านี้จะไม่พบในผู้ที่รับประทานอาหารเจอาหารพืชผัก และผลไม้เป็นประจำ
เห็นคุณประโยชน์นานัปการแบบนี้แล้ว กินเจปีนี้ ใครที่ยังไม่เคยทานเจ ลองหันมาทานเจดูบ้าง อย่างน้อยก็เหมือนเป็นการล้างพิษในร่างกายแถมยังอิ่มบุญอีกด้วย
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก