ควันธูปภัยใกล้ตัว

ควันธูป


ควันธูปภัยใกล้ตัว (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค)

          ธูปทำมาจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมพอกอยู่บนก้านไม้

          ธูปมีหลายรูปแบบ หลายขนาด ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มาก ๆ สามารถเผาไหม้หมดได้ในเวลา 20 นาที ถึง 3 วัน 3 คืนก็มี คาดว่า มีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่ง ๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน

          การเผาไหม้ของธูปจะปล่อยสารต่าง ๆ มากมาย มีทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ มีเทน และสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น สาร PAH ซึ่งพบว่า มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ผิวหนัง และกระเพาะปัสสาวะ , สารเบนซีน สัมพันธ์กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว และสาร 1,3-บิวทาไดอีน สัมพันธ์กับมะเร็งของระบบเลือด

          นอกจากควันธูปเป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญในบ้าน อาคาร สถานที่ทำงาน วัด และศาลเจ้าที่มีการจุดธูปแล้ว การจุดธูปยังถือเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

          การจุดธูปเป็นวัฒนธรรมที่มีรากฐานจากความเชื่อที่มีมาแต่โบราณสืบทอดต่อ ๆ กันมาว่า ทำให้สิ่งที่เราสักการะรับทราบถึงการกระทำของเรา การจุดธูปนั้นก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจ แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึงคือ การส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง


ธูป


          เราควรจะปรับเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมนี้ใหม่ โดยหันมาคำนึงถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและตัวเรา ด้วยการรณรงค์ให้ทั่วโลกลดการจุดธูปโดยเริ่มจากคนไทยก่อน


ทางเลือกใหม่...ใส่ใจสุขภาพ

          1.ใช้ธูปที่มีขนาดสั้นลง หรือเป็นแบบชนิดไฟฟ้า

          2.หากจำเป็นต้องจุดธูป ควรตั้งกระถางธูปไว้ภายนอกอาคารที่อากาศถ่ายเทสะดวก

          3.จุดธูปแล้วรีบดับ โดยจุ่มลงในน้ำหรือทราย

          4.อาจสักการะได้โดยการพนมมือ หรือถือธูปไว้ แต่ไม่จุด แล้วระลึกถึงสิ่งที่เราจะสักการะ

          5.การไหว้พระออนไลน์ ซึ่งเราสามารถจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ ปิดทองพระ ท่องบทสวด ภาวนาจิตผ่านทางคอมพิวเตอร์ได้

          หากทุกคนช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราก็เป็นคนหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยมลพิษ และก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะวิกฤติโลกร้อน และยังช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลงได้


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ควันธูปภัยใกล้ตัว อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 09:29:58 1,646 อ่าน
TOP
x close