x close

สิงห์อมควันเสี่ยง มะเร็งช่องปาก 7 เท่า


ห้ามสูบบุหรี่


สิงห์อมควันเสี่ยงมะเร็งปาก 7 เท่า (ไทยโพสต์)

          สิงห์อมควันเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากมากกว่าคนปกติ 7 เท่า กรมอนามัยเตรียมชง ทันตแพทย์สังกัด สธ.ตรวจคัดกรอง หลังพบการตรวจคัดกรองมีนักสูบไทยเสี่ยงมากกว่าสถิติสถาบันมะเร็งฯ เชื่อ เครือข่ายหมอฟันช่วยเลิกบุหรี่ได้

          ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประชุมวิชาการประจำปี 2553 เพื่อสร้างความร่วมมือกลุ่มทันตแพทย์ ให้ความรู้ประชาชนได้ตระหนักพิษภัยของบุหรี่ และช่วยเลิกบุหรี่

          โดย ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้การสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทันตแพทย์สมาคมฯ ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพลล์) สำรวจความคิดเห็นประชาชน 2,823 ตัวอย่าง 12 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 22 ก.ค.-9 ส.ค.2553 เรื่อง การรับรู้ของประชาชนต่อการช่วยเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยพบทันตแพทย์ 73.3% ผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ 65.6% เคยสูบแต่เลิกแล้ว 10.4% และผู้สูบบุหรี่ 24%

          กลุ่มตัวอย่างเกินกว่า 4 ใน 5 มีความเข้าใจถูกต้องว่า บุหรี่มีผลต่อสุขภาพเหงือกและฟัน รู้ว่าทำให้ปากเหม็น 95.5% รองลงมาคือ ฟันเหลือง เหงือกคล้ำ 94.9% เสี่ยงเกิดมะเร็งช่องปาก 91.9% และสูญเสียฟัน 85.8% ผลการศึกษาระบุว่า ภาพฟันเหลืองบนซองบุหรี่ ทำให้ผู้เห็นไม่อยากสูบบุหรี่ได้มากกว่าภาพอื่น ๆ ด้วย

          ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งคือ 55.1% เห็นว่าทันตแพทย์ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ และในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ 89.7% ยินดีรับฟังคำแนะนำเลิกบุหรี่ระหว่างการรักษาฟัน ดังนั้นทันตแพทยสมาคมฯ จะรณรงค์เชิญชวนให้ผู้รับบริการทันตกรรมลด ละ เลิก การสูบบุหรี่

          ด้าน รศ.ทพญ.วรานันท์ บัวจีบ รองคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล กล่าวว่า การบริโภคยาสูบทุกชนิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพช่องปาก คือ

          1.มีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากสูงกว่าคนปกติ 7 เท่า เพราะควันและความร้อนจากบุหรี่จะระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก ทำให้เพดานปากอักเสบและหนาตัว ในน้ำลายผู้สูบบุหรี่มีสารพิษก่อมะเร็งหลายชนิด จึงมีโอกาสพบความผิดปกติของเนื้อเยื่อในปากหรือรอยโรคก่อนมะเร็งสูง

          2.สารทาร์จากบุหรี่ที่เหนียวจับบนผิวฟัน ทำให้ช่องปากสกปรก ทำความสะอาดยาก และทำให้มีกลิ่นปาก ผู้สูบบุหรี่จะมีน้ำลายลดลงจึงฟันผุง่าย

          3.สารนิโคตินจากบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดเลี้ยงที่บริเวณเหงือกน้อยลง โรคเหงือกจึงลุกลามง่าย และอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจส่งผลให้ฟันโยกคลอน และต้องสูญเสียฟันในที่สุด

          4.แผลถอนฟันของผู้สูบบุหรี่มักหายช้า และเบ้ากระดูกติดเชื้ออักเสบได้ง่าย และ

          5.การสูบบุหรี่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของทันตกรรมรากเทียม ทำให้ผลต่อความสำเร็จของการรักษายาก

          ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ผอ.สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานผลการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากใน รพ.นำร่อง 4 จังหวัด คือ กระบี่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และสมุทรสาคร มีผู้สูบบุหรี่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน และผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป จำนวน 1,683 พบเป็นโรคมะเร็งช่องปาก 11 คน และพบผู้ที่มีรอยโรคก่อนมะเร็งจำนวน 33 คน ถือเป็นสถิติที่สูงมาก ทั้งที่ข้อมูลของของสถาบันมะเร็งแห่งชาติระบุว่า อัตราผู้ป่วยมะเร็งช่องปากของคนไทยอยู่ที่ 6 คนต่อแสนประชากร

          ดังนั้นการคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในกลุ่มเสี่ยงอย่างจริงจังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากพบตั้งแต่เริ่มแรกจะเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 70% และยังลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐนับแสนบาทต่อคนด้วย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิงห์อมควันเสี่ยง มะเร็งช่องปาก 7 เท่า อัปเดตล่าสุด 16 ธันวาคม 2553 เวลา 15:49:06
TOP