x close

มะเร็งต่อมไทรอยด์


ต่อมไทรอยด์


มะเร็งต่อมไทรอยด์ (ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย)

          หลายคนรู้จักต่อมไทรอยด์ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ของมัน และอาจจะไม่ทราบด้วยว่า ต่อมไทรอยด์ ก็สามารถเกิดมะเร็งได้ วันนี้เรามีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ มาบอกกันด้วยค่ะ

          ต่อมไทรอยด์ มีลักษณะเหมือนผีเสื้ออยู่ที่คอใต้ลูกกระเดือกขนาด 1 – 2 เซนติเมตร เป็นต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน เพื่อควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึก

          ปกติต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่เหมาะสม ฮอร์โมนที่สำคัญ คือ  ฮอร์โมนไทร็อกซิน หรือ ที4 (Tetraiodothyronine ,T4)  และ Triiodothyronine (T3) โดยฮอร์โมนนี้จะมีธาตุไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถ้าฮอร์โมนหลั่งน้อยร่างกายจะเผาผลาญน้อยลง  แต่ถ้าหากฮอร์โมนหลั่งมาก ร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารมากทำให้น้ำหนักลด

          ถ้าหากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติได้  ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติขึ้น อย่างเช่น คอพอก คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกของต่อมไทรอยด์  ต่อมไทรอยด์อักเสบ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมไทรอยด์

          พูดถึงมะเร็งมักคิดถึงแต่ความเจ็บปวดและความตาย แต่มะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์มักจะรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด การวินิจฉัยทำได้ง่าย พบได้ไม่บ่อย หากพบเร็วสามารถรักษาหายขาด

          มะเร็งต่อมไทรอยด์นั้นจะพบได้ประมาณ 10% ของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ พบได้ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 70–80 ปี ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หากพบในเพศชาย หรือพบในอายุน้อยมาก หรือแก่มาก จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า

อาการและอาการแสดง

          ผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ มักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องก้อนที่คอโดยที่ไม่มีอาการปวด แต่ก็มีบางรายที่มาด้วยเรื่องต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการเสียงแหบ เนื่องจากก้อนไปกดเส้นประสาท ดังนั้นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะแรกมีมักไม่มีอาการ  จะพบเพียงก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของลำคอเคลื่อนต่ำลงมาตามการกลืนเท่านั้น บางรายจะมีก้อนอยู่นานหลายปีก่อนที่จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะลุกลามอาจพบก้อนบริเวณด้านข้างลำคอด้วย ซึ่งเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้อาจพบมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกทำให้กระดูกหัก หรือมีก้อนขึ้นตามกระดูกในที่ต่าง ๆ เช่น  กะโหลกศีรษะ ไหปลาร้า กระดูกซี่โครง กระดูกเชิงกราน เป็นต้น อาจพบมีอาการเสียงแหบ หรือกลืนลำบาก

การวินิจฉัยแยกโรค

          การตรวจร่างกาย ไม่สามารถแยกระหว่างมะเร็งและเนื้องอกธรรมดา ต้องใช้การตรวจพิเศษ  ดังนี้คือ

          การตรวจไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) เพื่อตรวจต่อมไทรอยด์  โดยหากต่อมนั้นจับเก็บไอโอดีนได้น้อย จะเรียกว่า cold  nodules  หากต่อมสามารถจับเก็บไอโอดีนมากจะเรียกว่า hot nodule  แต่หากจับเก็บไอโอดีนเท่ากับต่อมไทรอยด์ปกติ เรียก warm nodule โดยพวกที่มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์  คือ  ชนิด cold nodule

          การเจาะชิ้นเนื้อต่อมไทรอยด์ เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยการใช้เข็มเจาะดูดทั้งเนื้อและน้ำส่งตรวจหาเซลล์มะเร็ง

          การได้ชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดมาพิสูจน์ พบว่า ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ร้อยละ 90 ไม่เป็นมะเร็ง  แต่เราไม่สามารถแยกเนื้อดีหรือมะเร็งโดยการตรวจร่างกาย  หรือจากการซักประวัติ หรือแม้กระทั่งการเจาะเลือด

          ก้อนที่คอ หากคลำได้ก้อนที่คอและก้อนนั้นเคลื่อนไหวตามการกลืน แสดงว่าเป็นก้อนเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจจะเป็นก้อนเดี่ยว (Thyroid nodule) หรือมีหลายก้อนติดกันเป็นพวง (Multinodular)  ซึ่งหากคลำได้ก้อนที่ต่อมไทรอยด์  มีโอกาสที่จะเป็นโรคดังต่อไปนี้

          1) เป็นซีสต์ (cyst) โดยเป็นถุงและมีน้ำอยู่ข้างใน มีลักษณะค่อนข้างนุ่ม มักจะไม่เป็นมะเร็ง

          2) เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (Thyroid adenoma) ซึ่งมีลักษณะไม่แข็งมาก บางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินร่วมด้วย

          3) เป็นมะเร็ง มักเป็นก้อนแข็ง ผิวขรุขระ หรือมีเสียงแหบร่วมด้วย

          ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คอมักจะไม่มีอาการ เพียงแต่คลำพบก้อนที่คอ  บางครั้งผู้อ่านอาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็น แต่แพทย์หรือเพื่อนบอก ข้อแตกต่างระหว่างมะเร็งและเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง คือ หากเนื้อที่เป็นมะเร็งก้อนจะมีความแข็งมากกว่า  และอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต

ชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์

เราสามารถแบ่งชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

1) Papillary cell carcinoma

          เป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ กล่าวคือ พบได้ร้อยละ 70–80% อาจเป็นก้อนเดี่ยว หรือเป็นหลายก้อนได้ เมื่อส่องจากกล้องจุลทรรศน์จะพบเป็นตุ่มยื่นออกมา มะเร็งชนิดนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยมักพบว่าก้อนมะเร็งโตช้า มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร มักมาพบแพทย์ด้วยการพบก้อนที่ลำคอ การวินิจฉัยอาจทำได้จาก การเจาะเพื่อนำเซลล์ไปตรวจ (FNA) หรือได้รับการผ่าตัดและตรวจพบทางพยาธิวิทยา

          มะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1 ใน 3 พบว่า มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง จึงอาจพบก้อนที่คอร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาก็ได้ผลดีมาก แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายไปแล้ว โดยหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 เซนติเมตร

2) Follicular cell carcinoma

          มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10–15% ของมะเร็งไทรอยด์ พบในคนสูงอายุกว่าชนิด papillary อาการจะมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก มะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายง่ายกว่าชนิดแรก พบว่ามักกระจายไปตามกระแสเลือด อวัยวะที่พบว่ามีการกระจายไปบ่อยที่สุด คือ ปอด กระดูก และสมอง และบางครั้งทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน

          การวินิจฉัยทำได้จากการผ่าตัด และนำก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยาเท่านั้น การเจาะเพื่อนำเซลล์ไปตรวจจะไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตามเป็นมะเร็งที่มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นเดียวกัน

3) Medullary cell carcinoma

          เป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นด้วย หรือไม่เกี่ยวก็ได้ พบไม่มากนัก

4) Anaplastic

          เป็นมะเร็งชนิดที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยมักมีประวัติก้อนที่โตอย่างรวดเร็ว อาจมาด้วยอาการกดเบียดทับของก้อนบริเวณหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก หรือกดทับหลอดลมทำให้หายใจลำบาก สามารถกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ผลการรักษาไม่ค่อยดีนัก มะเร็งชนิดนี้ พบไม่บ่อยเช่นกัน

ต่อมไทรอยด์

ปัจจัยเสี่ยง

          1. ได้รับการฉายรังสีบริเวณคอมาก่อน

          2. มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้

การรักษา

          การผ่าตัด

          การรักษาขึ้นกับชนิดของเนื้องอก โดยหากผลการทำสแกนพบว่าเป็นชนิด cold nodules และผลชิ้นเนื้อสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง การรักษาต้องตัดผ่าตัดเอาก้อนนั้นออก หากการตรวจพบว่าเป็นชนิด warm หรือ hot nodule การรักษาอาจจะให้แค่ยารับประทาน

          พวกเนื้องอกธรรมดาและได้ยาฮอร์โมนไทรอยด์รักษา ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจซ้ำทุก 6 เดือน หากก้อนไม่โตขึ้น ก็ไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่หากก้อนใหญ่ขึ้นก็พิจารณาผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนหลายก้อน และมีขนาดของต่อมไทรอยด์โตมาก ต้องรักษาโดยการผ่าตัด

          จึงสรุปได้ว่า การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก หากเป็นมะเร็งชนิดที่แพร่กระจาย ก็อาจจะต้องตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งทั้งหมด แต่หากเป็นชนิดที่ไม่แพร่กระจาย อาจจะตัดเนื้อต่อมไทรอยด์บางส่วนออก รวมถึงการให้ไอโอดีน 131

          การรับประทานน้ำแร่

          เนื่องจากว่าสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ การให้สารไอโอดีนที่เป็นสารกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) จะทำให้รังสีทำลายเนื้อมะเร็ง การรักษาโดยวิธีนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานสารไอโอดีนรังสี ซึ่งอาจจะทำเป็นรูปสารละลาย หรือแคปซูล I-131 โดยไอโอดีนนี้จะไปจับกับเนื้อไทรอยด์อย่างรวดเร็ว และเริ่มทำลายเนื้อไทรอยด์ ซึ่งน้ำแร่จะลดขนาดของต่อมไทรอยด์ และทำให้หลั่งฮอร์โมนน้อยลง

          ส่วนมากผู้ป่วยจะถูกส่งมารักษาด้วยน้ำแร่ หลังจากที่ไม่สามารถหยุดยาต้านไทรอยด์ได้ ก่อนได้รับสารนี้ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้ง น้ำแร่ใช้เวลา 2-3 เดือนก่อนออกฤทธิ์เต็มที่ ดังนั้นบางท่านต้องกินยาต้านไทรอยด์

          มะเร็งต่อมไทรอยด์ จัดเป็นมะเร็งที่ได้ผลดีในการรักษา หากเป็นมะเร็งระยะแรกสามารถใช้การผ่าตัดรักษา และตามด้วยการกินยาเพื่อควบคุมการเติบโตของมะเร็งตลอดชีวิต หากมะเร็งเป็นในระยะลุกลามมักจะต้องใช้การผ่าตัดร่วมกับการกินสารกัมมันตรังสี ไอโอดีน 131 และตามด้วยการกินยาเพื่อควบคุมการเติบโตของมะเร็งตลอดชีวิตนั่นเอง

การพยากรณ์โรค

          มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดีมากที่สุดอันดับ 1 ในมะเร็งทั้งหลาย ในผู้ป่วยที่เป็นไม่มาก และได้รับการรักษาที่ถูกต้องสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากโรคอีก 10–20 ปี สูงถึง 80–90%

การติดตามการรักษา

          เนื่องจากมะเร็งต่อมไทรอยด์อาจจะเกิดซ้ำได้ ดังนั้นอาจจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นระยะ และการทำอัลตร้าซาวด์ที่คอ หรือทำไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) รวมทั้งการเจาะเลือดเพื่อตรวจไทรอยด์โกลบูลิน (Thyroglobulin) จะพบว่าสูงเมื่อมีอาการผิดปกติ

          เนื่องจากว่าการรักษามีการตัดต่อมไทรอยด์ จึงต้องให้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนผู้ที่มีการรับประทานน้ำแร่ก็ต้องให้ฮอร์โมนไปตลอดชีวิต  และการได้รับฮอร์โมนยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

คำแนะนำ

          หากมีก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ  ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา
 
          การมีก้อนที่ลำคอ มักเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก่อนได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเสมอ ก้อนที่คอนี้ อาจจะเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้  หรืออาจเป็นต่อมไทรอยด์ หรือความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และการตรวจพบอื่น ๆ ร่วมด้วย การตรวจยืนยันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะทำให้วางใจได้ ไม่ควรปล่อยก้อนนั้นไว้ด้วยความชะล่าใจว่าไม่มีอาการเจ็บปวด ซึ่งอาการเจ็บปวดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอาการอักเสบ หรือการลุกลามทำลายเส้นประสาท เมื่อเกิดอาการเช่นนั้นแสดงว่าโรคได้ลุกลามไปมากแล้ว

          การตรวจตนเองในตำแหน่งลำคอนี้ ทำได้เพียงการตรวจลำคอภายนอก  ซึ่งอาจสามารถตรวจพบก้อนในตำแหน่งต่าง ๆ ได้  โดยการมองในกระจกในท่าหน้าตรง หันซ้ายขวา และเงยศีรษะขึ้นเล็กน้อย สำรวจบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ และไหปลาร้า สิ่งที่จะเห็นนูนขึ้นมานั้น ได้แก่ ลูกกระเดือกหรือกล่องเสียงในชาย อาจเห็นต่อมไทรอยด์นูนขึ้นมาเล็กน้อยทางด้านข้างของกระเดือก ซึ่งในท่าเงยศีรษะ หรือแหงนคอพร้อมกับกลืนน้ำลาย จะสังเกตเห็นการเคลื่อนที่ของต่อมไทรอยด์ที่สัมพันธ์กับการกลืน สังเกตดูว่ามีก้อนบนต่อมไทรอยด์หรือไม่

          สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น มักจะไม่มีอาการใด ๆ นอกจากก้อนที่ค่อย ๆ โตขึ้น  และมักไม่เจ็บ ต่างจากพวกคอหอยพอกเป็นพิษ ซึ่งมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลดร่วมด้วย


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก desidieter.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งต่อมไทรอยด์ อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2562 เวลา 11:05:48 109,803 อ่าน
TOP