x close

ดูแลผมร่วง ผู้ป่วยมะเร็ง

ผมร่วง

การดูแลปัญหาผมร่วงในผู้ป่วยมะเร็ง (ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย)

          การใช้เคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง คือการใช้สารเคมีบางตัวไปยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือโตเร็วผิดปกติ ในเมื่อเซลล์รากผมของเราเป็นเซลล์ที่เติบโตเร็วมาก ดังนั้น เซลล์รากผมจึงถูกกระทบไปด้วย เพราะเมื่อร่างกายได้รับเคมีบำบัด เซลล์รากผมจะตาย และผมก็จะร่วงจนหมด 

          โดยทั่วไปผมจะเริ่มร่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของแต่ละคน และการรักษาที่แตกต่างกัน โดยจะมีอาการนำก่อนผมร่วง คือ อาการคันที่หนังศีรษะอย่างรุนแรง แต่ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดให้เคมีบำบัดแล้ว ผมก็จะกลับขึ้นมาได้อีกดังเดิม ถ้าผมขึ้นใหม่และเรารู้จักดูแลสุขภาพให้ดีด้วยอาหาร และการออกกำลังกาย ผมที่ขึ้นใหม่อาจจะสวยกว่าผมเดิม โดยผมที่ขึ้นใหม่อาจใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี หลังการรักษา ขึ้นกับความยาวที่ต้องการ (ผมจะยาวประมาณ 3/4 ถึง 1 นิ้วทุก 4 สัปดาห์)

          อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เคมีบำบัดทุกตัวจะทำให้ผมร่วง ถ้าไม่แน่ใจให้สอบถามหมอที่รักษาว่า ยาเคมีบำบัดที่จะได้รับทำให้ผมร่วงหรือไม่ เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมใจรับกับสภาพผมร่วงได้ทัน ทางเลือกที่สะดวก คือ เตรียมหาวิกผมที่ถูกใจเอาไว้ใช้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เลือกผมที่ดูเหมือนธรรมชาติ ง่ายต่อการดูแลรักษา และราคาที่สมเหตุสมผล หรือถ้าไม่ชอบวิกผม ก็อาจจะหาหมวกพวกหมวกไหมพรมถักไว้ใส่ หรือหาผ้าพันสีสวย ๆ มาโพกศีรษะ เวลาออกนอกบ้านก็ได้

การดูแลผมระหว่างการรักษา

          1. ตัดผมสั้น ไม่ควรย้อมผมหรือฟอกสีผม

          2. สระผมด้วยแชมพูอ่อน ๆ โดยไม่ควรสระผมบ่อยเกินไป ประมาณสัปดาห์ละครั้ง หลังสระผมให้ใช้ผ้าสะอาดซับเบา ๆ ให้แห้ง  อย่าขยี้ผม ใช้แปรงซี่ห่าง ๆ แปรงผมเบา ๆ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่าผมไฟฟ้า เครื่องอบผม ปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ

          3. ใช้แป้งเด็กทารอบคอ หลัง  เพื่อลดอาการคัน และระคายเคืองจากผมร่วง

การดูแลตัวเองเมื่อผมร่วงแล้ว

          1. ซับหนังศีรษะด้วยผ้าเช็ดตัวเบา ๆ ไม่ถู หรือขัด

          2. สวมหมวก หรือใช้ผ้าโพกผม วิกผม ทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และควรทาครีมกันแดด หากไม่ได้ใช้ผ้าคลุมศีรษะหรือวิกผม

          3. สวมหมวกที่ทำด้วยผ้าฝ้าย หรือผ้าสาลูก่อนสวมวิกผม จะช่วยลดอาการคันจากการสวมวิกผมได้

          4. ควรสวมหมวกเวลานอนตอนกลางคืน และปลอกหมอนควรเป็นผ้าซาติน จะได้ไม่เกิดเสียดทานกับหนังศีรษะ

การดูแลวิกผม

          ห่อเก็บรักษาด้วยผ้าฝ้าย ไม่ควรใช้ผ้าไหม วิกผมอาจเป็นเส้นผมสังเคราะห์ ผมจริงหรือผสมก็ได้ ข้อสำคัญควรลองให้รู้สึกแน่นพอดีกับศีรษะของผู้ป่วย และใช้สลับกับการสวมหมวกผ้าโพกผมในหลากหลายรูปแบบ ควรทำความสะอาดหลังใช้ประมาณ 20 ครั้ง หรือเมื่อรู้สึกว่าควรต้องทำความสะอาด โดยสระด้วยแชมพูอ่อน ๆ ด้วยน้ำเย็น และล้างออก ซับด้วยผ้าให้เบามือ แขวนไว้กับปุ่ม หรือที่แขวนวิก ห้ามแปรงผมที่มาจากสารสังเคราะห์ขณะเปียก ส่วนการจัดทรงหลังจากวิกผมแห้ง ไม่ควรใช้ที่ม้วนด้วยความร้อน และไม่ควรใส่วิกผมใกล้ความร้อน เช่นทำกับข้าว

อาหารที่บำรุงเส้นผมช่วยการงอกของผม

          1.เบต้าแคโรทีน ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง ไม่ขาดง่าย ไม่แตกปลาย มีน้ำหนัก และมันเงางาม พบมากในพวกผักผลไม้ที่มีสีเขียวจัด แดง เหลือง ม่วง เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง ปวยเล้ง ผักโขม บร็อคโคลี่ แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ บีทรูท มะละกอ แคนตาลูป

          2. วิตามินซี ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อเส้นผม เช่น เหล็ก สังกะสี ได้ดีขึ้น พบมากในมะขามป้อม เชอรี่ ฝรั่ง ส้ม

          3. วิตามินอี ช่วยในการซ่อมแซมรากผมที่เสียหาย มีมากในข้าวกล้อง ถั่ว งา และเมล็ดพืชทุกชนิด

          4. สังกะสี เป็นสารจำเป็นสำหรับการสร้างโปรตีนทั่วร่างกาย พบในอาหารทะเล จมูกข้าวสาลี ตับ เมล็ดฟักทอง และไข่

          5. เหล็ก เป็นสารจำเป็นในเม็ดเลือดแดง ถ้าเลือดน้อยรากผมจะได้รับอาหารไม่เต็มที่ พบใน ตับ น้ำต้มกระดูก เนื้อสัตว์ ผักบุ้ง

          6. วิตามินบี และบี 12 จำเป็นสำหรับการไหลเวียนของเลือด และการสร้างเม็ดเลือด วิตามินบี พบมากในถั่ว ผัก ผลไม้ วิตามินบี 12 พบมากใน กะปิ น้ำปลา ตับ ไข่

          7.ไบโอติน ช่วยป้องกันผมหงอก และป้องกันต่อมไขมันหนังศีรษะอักเสบ พบใน ข้าวกล้อง ไข่แดง ตับ ไต ถั่วเหลือง

          8. กำมะถัน ช่วยเชื่อมการเกาะเกี่ยวกันของเส้นโปรตีน ที่มาประกอบกันเป็นเส้นผมยาว ๆ พบในกะหล่ำ ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่ ปลาทะเล เป็นต้น


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลผมร่วง ผู้ป่วยมะเร็ง อัปเดตล่าสุด 21 มกราคม 2554 เวลา 15:29:55 46,646 อ่าน
TOP