ลูคีเมีย คือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ว่าแต่อาการแรกเริ่มเป็นอย่างไร รักษาได้อย่างไร
เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ลูคีเมีย มาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า โรคลูคีเมีย (Leukemia) คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว วันนี้ ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย จะพาไปรู้จักกับโรคลูคีเมียให้มากขึ้น โดยโรคลูคีเมียสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemias)
เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติได้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักเกิดกับเด็ก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน
2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia)
เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมากกว่าเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในหลาย ๆ ช่วงอายุ
เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ลูคีเมีย มาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า โรคลูคีเมีย (Leukemia) คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว วันนี้ ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย จะพาไปรู้จักกับโรคลูคีเมียให้มากขึ้น โดยโรคลูคีเมียสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง
1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (Acute leukemias)
เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดตัวอ่อนอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติได้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักเกิดกับเด็ก โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน
2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia)
เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมากกว่าเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในหลาย ๆ ช่วงอายุ
นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเม็ดเลือดขาว ได้แก่
- Lymphocytic leukemia คือ การที่พบเซลล์ในสาย Lymphoid ได้แก่ ลิมโฟไซท์ (Lymphocytes) และพลาสมาเซลล์ (plasma cells) ที่ผิดปกติเป็นจำนวนมากในกระแสเลือด
- Myelogenous leukemia คือ การที่พบเซลล์ที่ผิดปกติในสายไมอีลอยด์ ได้แก่ eosinophils, neutrophils, และ basophils เพิ่มมากขึ้นในกระแสเลือด
- 1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (acute myeloid leukemia หรือ AML) พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
- 2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ (acute lymphoid leukemia หรือ ALL) พบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ขวบ รวมถึงในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีอีกด้วย
- 3. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (chronic myeloid leukemia หรือ CML) พบในผู้ใหญ่ ไม่ค่อยพบในเด็ก
- 4. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบลิมฟอยด์ (chronic lymphocytic leukemia หรือ CLL) พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และสามารถพบในเด็กได้บ้าง แต่ไม่ค่อยส่งผลกระทบเท่าไหร่
เนื่องจากในผู้ป่วยผู้ใหญ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ จะพบมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (CML) ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ 2 โรคนี้เท่านั้น
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML)
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ไม่สามารถเจริญเติบโต (differentiate) ไปเป็นเซลล์ตัวแก่ได้ แต่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (proliferation) ในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูกเป็นจำนวนมาก และขยายตัวออกมาในกระแสเลือดหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงต่าง ๆ เป็นผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ ตลอดจนเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจากการขาดเซลล์เม็ดเลือดดังกล่าว
อุบัติการณ์ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ในประชากรทั่วไปเท่ากับ 2-3 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ต่อปี ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 15 ปี พบเป็นร้อยละ 70-80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่
1. พันธุกรรม อุบัติการณ์ของการเกิดโรคในพี่น้องของผู้ป่วยพบสูงกว่าประชากรทั่วไป 3 เท่า ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมแต่กำเนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนปกติ
2. สารรังสี ประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ พบว่ามีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มากกว่าคนปกติ ถึง 30 เท่า
3. สารเคมี ผู้ป่วยที่ได้รับสารเบนซิน จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนทั่วไป 10 เท่า นอกจากนี้ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม หรือน้ำยาสเปรย์ผม ก็พบอุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้นด้วย
4. ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดจะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงขึ้น
5. บุหรี่ การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า บุหรี่สามารถเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีปัจจัยดังกล่าวจะเกิดโรคเสมอไป คงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง
การพยากรณ์โรค
1. อายุ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยจะมีการพยากรณ์โรคดีกว่าผู้ป่วยที่มีอายุมาก
2. ความผิดปกติทางสารพันธุกรรม พบว่าใน AML สามารถบอกการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยได้ตามโครโมโซมที่พบ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
2.1 กลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคดี ได้แก่ พวกที่มี t(8;21); t(15;17) และ inv(16)
2.2 กลุ่มที่การพยากรณ์โรคปานกลาง ได้แก่ กลุ่มที่มีโครโมโซมปกติ หรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกจากข้อ 2.1, 2.3 กลุ่มที่มีพยากรณ์โรคไม่ดี ได้แก่ คนที่มี -7, 7q-, -5, 5q-, 11q23, 3q21, +8, พวกที่มี multiple chromosome abnormalities หรือรายที่เป็น MDS นำมาก่อน
ลูคีเมีย อาการแรกเริ่มและอาการแสดง
- อาการซีดและเหนื่อยง่าย เป็นอาการสำคัญที่พบบ่อยมาก เหตุจากการที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
- อาการเลือดออกง่าย มีสาเหตุมาจากเกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากไขกระดูกสร้างได้น้อยลง จะพบจุดเลือดออกบริเวณแขนขา เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนออกมาก อาจมีเลือดออกในจอประสาทตา ทำให้ตามัวได้ ถ้ามีภาวะเลือดออกในสมองมักจะรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้
- อาการไข้ มักเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือเกิดจากตัวโรคเอง
- เหงือกบวมโต (gum hypertrophy) พบได้ประมาณร้อยละ 25-50 ของผู้ป่วย
- น้ำหนักลด เป็นอาการแสดงสำคัญ พบได้ถึงร้อยละ 70 ของผู้ป่วย
- อาการปวดกระดูกหรือปวดตามข้อ ในระยะแรกมักจะพบน้อย แต่พบได้บ่อยในระยะที่โรคลุกลามไปมาก
- อาการทางสมอง มักจะมีการดำเนินโรครุนแรงจนทำให้เสียชีวิต มีอุบัติการณ์เฉลี่ยร้อยละ 10-30 ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง อัมพาตของเส้นประสาท เป็นต้น
เกณฑ์การวินิจฉัย
เกณฑ์การวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (blast cells) อย่างน้อยร้อยละ 30 ของเซลล์ทั้งหมดในไขกระดูก
การรักษา
* 1. การรักษาแบบประคับประคอง (supportive care) หมายถึงการรักษาอย่างอื่น ๆ นอกเหนือจากการให้เคมีบำบัด
1.1. การให้ส่วนประกอบของเลือด
ให้เกล็ดเลือดเข้มข้น เพื่อให้ระดับของเกล็ดเลือดในเลือดสูงเกิน 20 x 109/ลิตร
- ให้เม็ดเลือดแดงเข้มข้น เมื่อผู้ป่วยซีดหรือระดับ Hct ต่ำกว่า 24-25% ในรายที่อายุน้อย หรือต่ำกว่า 28-30% ในรายที่อายุน้อยมาก
1.2. ผู้ป่วยที่มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส และมีจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ต่ำกว่า 0.5 x 109/ลิตร แพทย์จะทำการสืบค้นเบื้องต้นเพื่อหาตำแหน่งของการติดเชื้อ แล้วพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะชนิดครอบคลุมกว้างขวางเข้าหลอดเลือดดำ
1.3. ผู้ป่วยที่มีกรดยูริกสูง จะให้ยาต้านกรดยูริก (allopurinal) 300 มก./วัน แต่มีผลข้างเคียงที่ควรระวังในผู้สูงอายุหรือมีโรคไต
1.4. พิจารณาการแยกส่วนประกอบของเลือด โดยแยกเฉพาะเม็ดเลือดขาวออก (leukapheresis) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวมากกว่า 100 x 109/ลิตร หรือมีอาการของอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดจากการที่เม็ดเลือดขาวจำนวนมากไปอุดตันการไหลเวียนของเลือด เช่น มีอาการทางปอด มีหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หรืออาการทางสมอง เช่น ปวดศีรษะ ซึม สับสน หรือ ชัก เป็นต้น
* 2. การรักษาเฉพาะโรค แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
2.1. การรักษาเพื่อชักนำให้โรคสงบสมบูรณ์ (Induction of remission) เป็นการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะโรคสงบสมบูรณ์ (Complete remission หรือ CR) ยาเคมีบำบัดมาตรฐานในปัจจุบันคือ สูตร 3+7 ได้แก่ การให้ anthracycline (doxorubicin หรือ idarubicin) ทางหลอดเลือดดำ 3 วัน ร่วมกับ cytosine arabinoside ทางหลอดเลือดดำ 7 วัน พบว่า ประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วยสามารถเข้าสู่ระยะ CR ได้
การที่จะบอกว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะ CR หรือไม่นั้นอาศัยดูจากทางคลินิกว่า ผู้ป่วยอาการต่าง ๆ หายเป็นปกติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือดกลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติหมด ที่สำคัญคือ การตรวจไขกระดูกพบเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ปกติ และพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (blast cell) น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเซลล์ทั้งหมด
การที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ CR ไม่ได้หมายความว่าเซลล์มะเร็งจะหมดไปจากร่างกาย แต่ว่ามีอยู่ในจำนวนที่น้อยเกินกว่าที่วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการธรรมดาจะตรวจได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้เคมีบำบัด หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ CR แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคจริง ๆ
2.2. การรักษาระยะหลังโรคสงบ (post remission therapy) เป็นการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอีก (relapse) และเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ให้หมดไปจากร่างกาย ทำได้หลายทาง
- Consolidation therapy เป็นการให้ยาเคมีบำบัดในลักษณะเดียวกับใน induction of remission แต่ให้ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง ห่างกันทุก 1-2 เดือน
- Intensification การรักษาแบบเข้มข้น คือการให้เคมีบำบัดในขนาดสูงกว่า induction of remission เพื่อหวังกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ที่อาจเป็นเซลล์ดื้อยา
การให้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงอาจจะร่วมกับการฉายรังสี และตามด้วยการให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด) โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอาจมาจากพี่น้องที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ (HLA-matched sibling donor) เรียกว่า allogeneic stem cell transplant หรืออาจจะมาจากตัวผู้ป่วยเอง โดยเก็บไว้ในระยะที่โรคสงบสมบูรณ์ เรียกว่า autologous stem cell transplant โดยทั่วไป ถ้าได้รับจากผู้อื่นจะมีปัญหาแทรกซ้อนมากกว่า แต่จะมีผลในแง่อัตราของโรคกลับมาเป็นใหม่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวผู้ป่วยเอง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia)
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นกัน การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีเพื่อการรักษาโรคข้อบางชนิด และผู้ที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ พบว่า มีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ สูงกว่าคนทั่วไปมาก
ลักษณะทางคลินิก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 15-50 ปี อายุเฉลี่ยในต่างประเทศประมาณ 39-48 ปี แต่ในประเทศไทยจากการศึกษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ระหว่าง 36-38 ปี ร้อยละ 89 ของผู้ป่วยในประเทศไทยจะมีอายุต่ำกว่า 50 ปี พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงเล็กน้อย บางรายไม่มีอาการอะไรเลย ทราบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญ เช่น การตรวจร่างกายประจำปี การไม่สบายเป็นอย่างอื่น ไปพบแพทย์แล้วตรวจพบว่าเป็นโรคนี้
นอกจากนั้น ก็อาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผอมลง รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องหรือคลำก้อนได้ในท้อง เป็นต้น ผู้ป่วยชายบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการอวัยวะเพศแข็งตัวไม่ยอมหด แล้วตรวจเลือดพบว่าเป็นโรคนี้ ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยมีม้ามโต คลำได้ชัดเจน ขนาดของม้ามขึ้นอยู่กับระยะเวลาของโรค ยิ่งเป็นมานานม้ามยิ่งโตมาก
ผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติทางเลือดที่พบจำเพาะโรคนี้คือ บางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9 ถูกย้ายไปอยู่บนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 และบางส่วนของแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 22 ถูกย้ายไปอยู่บนแขนยาวของโครโมโซมคู่ที่ 9 เราเรียกโครโมโซมคู่ที่ 22 ที่มีส่วนของคู่ที่ 9 อยู่ด้วยว่า ฟิลาเดลเฟียโครโมโซม พบฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ในผู้ป่วยโรคนี้ประมาณร้อยละ 95
ความผิดปกติทางเลือดที่ตรวจพบ คือ ผู้ป่วยจะมีโลหิตจางเล็กน้อยถึงปานกลาง เม็ดเลือดขาวจะสูงกว่าปกติ ม้ามโต ยิ่งเป็นมานานม้ามยิ่งโตมาก เม็ดเลือดขาวจะยิ่งสูงมาก บางรายสูงถึง 4-5 แสน/ลบ.ซม. (คนปกติจะมีเม็ดเลือดขาวประมาณ 5,000-10,000/ลบ.ซม.) ส่วนจำนวนเกล็ดเลือดมักปกติ หรือสูงกว่าปกติ มีบางรายที่อาจมีเกล็ดเลือดต่ำ
ผู้ป่วยโรคนี้มีอยู่ 3 ระยะ คือ
1. ระยะเรื้อรัง (Chronic phase) ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในระยะนี้เมื่อมาพบแพทย์ครั้งแรก เมื่อได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยมักเข้าสู่ระยะที่โรคสงบ ตับ ม้ามมักจะยุบหมด เม็ดเลือดกลับมาปกติ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ประมาณ 3-5 ปี ก็จะเข้าสู่อีกระยะหนึ่ง
2. ระยะลุกลาม (Accelerated phase) เมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่งผู้ป่วยบางคนเข้าสู่ระยะลุกลาม ทำให้เริ่มไม่ได้ผลจากการรักษา เริ่มมีอาการซีด อาจต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด บางรายเกล็ดเลือดต่ำ ถ้าต่ำมากก็อาจทำให้มีจุดเลือดออกตามตัว หรือเลือดออกตามไรฟันได้ เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น ม้ามเริ่มโตขึ้นทำให้แน่นท้องมากขึ้น
3. ระยะเฉียบพลัน (Blastic phase) ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค มีอาการคล้าย ๆ กับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน คือ มีไข้ ซีดมาก เพลีย มีอาการเลือดออกง่าย หรือมีจุดเลือดออกตามตัว หรือแขน ขา เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น ระยะนี้ถือว่าเป็นระยะสุดท้ายของโรค การรักษาส่วนใหญ่มักไม่ได้ผลดี
การพยากรณ์
ตัวแปรที่บอกถึงการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ที่ยอมรับกันทั่วไป คือ
1. อายุ ผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 ปี มีการพยากรณ์โรคไม่ดี
2. เพศหญิง จะมีการพยากรณ์โรคดีกว่าเพศชาย
3. ม้ามโตมาก มีการพยากรณ์โรคไม่ดี
4. ตับโตมาก มักจะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี
5. เม็ดเลือดขาวสูงมาก
6. เกล็ดเลือดที่สูงมากหรือต่ำกว่าปกติ
7. จำนวนตัวอ่อนในเลือดมาก
8. คนที่มีพังผืดในไขกระดูกได้ผลจากการรักษาไม่ดีเท่าคนที่ไม่มีพังผืด
9. คนที่มีโครโมโซมที่ผิดปกตินอกเหนือไปจากการมีฟีลาเดลเฟียโครโมโซม
10. มีเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล (basophil) สูง
แนวทางการรักษา
1. เคมีบำบัด
ส่วนใหญ่จะใช้วิธีให้เคมีบำบัดชนิดรับประทานยา ที่มีใช้กันแพร่หลาย คือ บูซัลแฟน (Busulfan) และไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) ยาทั้ง 2 ตัว สามารถจะควบคุมให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลงมาอยู่ในระดับปกติได้ ถือว่าอยู่ในระยะโรคสงบ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเม็ดเลือดขาวจะปกติ โลหิตจางหายไปได้ แต่ตัวฟิลาเดลเฟียโครโมโซมก็ยังมีอยู่ ดังนั้น โรคก็ยังอยู่ไม่ได้หายขาดจากโรค และการให้เคมีบำบัดชนิดต่าง ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหายไปได้ เคมีบำบัดเหล่านี้ จึงเป็นเพียงยาที่ควบคุมให้โรคสงบลงเท่านั้น ไม่ได้รักษาให้หายขาดได้
2. การใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน (interferon)
เป็นยาฉีดที่ราคาค่อนข้างสูง ต้องฉีดทุกวัน และมีผลข้างเคียงมาก เช่น เพลีย เป็นไข้สูง ปวดเมื่อยคล้าย ๆ เป็นไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มักจะเป็น 2 สัปดาห์แรกหลังฉีดยา แก้ไขให้ผลข้างเคียงของยาน้อยลงได้ โดยการฉีดตอนเย็นหรือก่อนนอน และรับประทานยาแก้ไข้ แก้ปวด ก่อนฉีดยาประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้อาการต่าง ๆ บรรเทาลงได้บ้าง หลังจากฉีดลงไป 2 สัปดาห์แล้วอาการข้างเคียงจากยามักจะน้อยลงหรือหายไป
การฉีดยาอินเตอร์เฟียรอนสามารถทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงได้ ในรายที่ตอบสนองต่อยาดี สามารถทำให้ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมหายไป กลับมามีโครโมโซมที่ปกติได้ แต่จำเป็นต้องฉีดยาระยะยาวประมาณ 2-3 ปี ใช้เวลา 6 เดือน ถึง 12 เดือน จึงจะเริ่มเห็นว่าจำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลง รายที่ฉีดยาแล้วกลับมามีโครโมโซมที่ปกติได้ มีการพยากรณ์โรคดี มีสิทธิ์หายขาดจากโรคได้ แต่เท่าที่ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยไทย พบว่า อัตราการตอบสนองต่อยาอินเทอร์เฟียรอนต่ำกว่าผู้ป่วยในต่างประเทศมาก
ในรายที่ได้รับยาอินเตอร์เฟียรอนแล้ว ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมไม่ลดลง ถ้าให้ยาฉีดเอร่าซี (Ara C) ร่วมด้วย จะมีโอกาสตอบสนองดีขึ้น สามารถทำให้ฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงหรือหายไปได้ แต่การใช้ยาฉีดทั้ง 2 ตัวร่วมกัน จะมีผลข้างเคียงมากขึ้น ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถทนต่อการฉีดยา 2 ตัวร่วมกันได้
3. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ผู้ที่จะทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้ต้องมีอายุไม่มาก และมีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ที่มีเลือดเข้ากันได้ โดยดูจากการตรวจ เอช แอล เอ ว่าเข้ากันได้หรือไม่ พี่น้องพ่อแม่เดียวกัน มีโอกาสที่มี เอช แอล เอ เหมือนกัน ร้อยละ 25 คนที่มีอายุน้อย เมื่อทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จะมีปัญหาแทรกซ้อนน้อยกว่าคนที่อายุมาก นอกจากนี้การทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ภายใน 1 ปีแรก หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จะได้ผลดีกว่าเมื่อเกิน 1 ปีไปแล้ว
4. ยาใหม่ ๆ
เช่น กลีเวค เป็นยารับประทานที่มีฤทธิ์ยับยั้งฟิลาเดลเฟียโครโมโซมโดยตรง ดังนั้นจึงสามารถทำให้จำนวนฟิลาเดลเฟียโครโมโซมลดลงจนเป็นศูนย์ได้ ซึ่งหมายความว่าโรคหายขาดได้ เป็นความหวังใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์นี้ ส่วนใหญ่น่าจะได้ผลดีมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้น ๆ ของโรค ถึงแม้ว่าในระยะท้าย ๆ จากการศึกษาก็ยังพบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อยาตัวนี้ได้ แต่ยาตัวนี้ยังมีราคาแพงมาก ต้องรับประทานวันละ 4-6 เม็ด คิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อวัน ถึง 4,000-6,000 บาท ระยะเวลาที่ต้องรับประทานยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ต้องรับประทานไปนานเท่าไร และเมื่อหยุดยาแล้วฟิลาเดลเฟียโครโมโซมจะกลับมาอีกหรือไม่
ผู้ป่วยในระยะลุกลามและระยะเฉียบพลัน มักได้ผลจากการรักษาไม่ดีเท่าผู้ป่วยในระยะเรื้อรัง ส่วนใหญ่แล้วต้องให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมไปด้วย เช่น ซีดมาก มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจต้องให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด รายที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก มีจุดเลือดออกตามตัวหรือออกตามไรฟัน จำเป็นต้องให้เกล็ดเลือดเข้มข้นแก่ผู้ป่วย เพื่อป้องกันการที่จะมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญ ๆ เช่น ในสมอง เป็นต้น รายที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำจากการให้เคมีบำบัดอาจมีการติดเชื้อได้ จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก