Kleptomania โรคชอบหยิบฉวย ของคนป่วยทางจิต

            Kleptomania โรคชอบหยิบฉวย ชอบลักเล็กขโมยน้อยติดเป็นนิสัย ที่แฝงไว้ด้วยอาการป่วยทางจิต

Kleptomania โรคชอบหยิบฉวย

          เราอาจจะเคยได้ยินข่าวดาราฮอลลีวู้ด หรือลูกเศรษฐีบางคน ถูกจับกุมข้อหาขโมยของในห้างสรรพสินค้า ทั้งที่ตัวเองก็มีเงินจะใช้จ่ายซื้อของได้สบาย ๆ ชวนให้คนสงสัยว่า ทำไมพวกเขาจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งเรื่องนี้ทางการแพทย์สามารถอธิบายได้ค่ะว่า คนกลุ่มนี้อาจเป็นโรคทางจิตเวช ที่เรียกว่า โรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania

         มีโรคแบบนี้ด้วยหรือ เราไปรู้จัก โรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania  กันให้มากขึ้น

         โรคชอบหยิบฉวย (Pathological stealing) หรือ Kleptomania เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถยับยั้งใจต่อแรงกระตุ้นที่จะลักเล็กขโมยน้อยได้ แม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่ใช่ของมีราคา เช่น ปากกา คลิปหนีบกระดาษ กิ๊บติดผม ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ แต่ผู้ป่วยก็สามารถหยิบฉวยติดมือได้โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน หรือไม่ได้ขโมยของเพราะต้องการทรัพย์สินเงินทอง แต่เพราะควบคุมอารมณ์ไม่ได้เท่านั้นเอง และเป็นการลงมือกระทำคนเดียว

         จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania กว่า 75% เป็นเพศหญิง ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกิดความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารบางอย่างออกมา เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคแพนิก และโรคบูลิเมีย (โรคที่คิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ตลอดเวลา จึงมักจะทานอาหารเข้าไปแล้วล้วงคอออกมา)

          โดยเคยมีผลการศึกษาระบุว่า ผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย จะเป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึง 40% ,เป็นโรคแพนิกด้วย 40% ,เป็นโรคกลัวด้วย 40% ,เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำด้วย 45% ,เป็นโรคบูลิเมียด้วยถึง 60% นอกจากนี้ยังพบมีการใช้สารเสพติดด้วยถึง 50% และอาการอาจเกิดขึ้นได้หลังผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ หรือการสูดเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป จนเกิดภาวะ "Carbon monoxide poisoning"

โรคชอบขโมยของ

อาการของโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania

         สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania ได้แก่

         - มักจะขโมยสิ่งของที่ตัวเองไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือสิ่งของที่ไม่มีราคาค่างวดอะไร

         - ก่อนลงมือ ผู้ป่วยจะมีความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมาก

         - หลังจากลงมือขโมยของแล้ว จะรู้สึกสบายใจ และผ่อนคลายลง

         - เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ผู้ป่วยบางรายอาจจะกลับมารู้สึกผิด เสียใจ เพราะผู้ป่วยทราบว่า การหยิบขโมยของเป็นเรื่องผิดต่อศีลธรรมและกฎหมาย แต่กลับกันอาจมีบางรายที่อาจไม่รู้สึกอะไรเลยจากพฤติกรรมนั้นก็เป็นได้

         - ผู้ป่วยที่ขโมยของมาแล้วอาจนำของไปเก็บไว้ หรือทิ้งไป หรือเอาไปคืนที่เดิม

          ทั้งนี้ ในทางจิตวิทยายังมีการวิเคราะห์ด้วยว่า การที่ผู้ป่วยขโมยของในห้างสรรพสินค้า แล้วทำให้พ่อแม่ได้รับความอับอาย เหมือนกับเป็นการแก้แค้น เนื่องจากไม่พอใจบุคคลบางคนที่มีอำนาจในชีวิต เช่น พ่อแม่ ก็เป็นได้

Kleptomania โรคชอบหยิบฉวย


การรักษาโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania

          ผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเช่นนี้นาน ๆ ครั้ง ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางคนอาจมีอาการเรื้อรัง ๆ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

          ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีผู้ป่วยโรคชอบหยิบฉวย หรือ Kleptomania มากถึง 1,200,000 คน ซึ่งคณะนักวิจัยโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า ยาแก้โรคซึมเศร้าก็ไม่สามารถรักษาโรคชอบหยิบฉวยให้หายได้ เช่นเดียวกับ ดร.นอร์แมน ซุสส์แมน ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก็ยังยอมรับว่า โรคนี้ไม่ตอบสนองกับการรักษาใด ๆ เพราะแม้ผู้ป่วยจะเคยถูกจับกุมจากการกระทำเช่นนี้หลายครั้งแล้ว แต่ผู้ป่วยก็หักห้ามใจไม่ให้หยิบฉวยในครั้งต่อ ๆ ไปได้เลย

โรคชอบขโมยของ

          แต่ทั้งนี้ เรายังสามารถรักษาบำบัดอาการของผู้ป่วยด้วยการใช้ยา ร่วมกับ "วิธีจิตบำบัด" โดยแพทย์ นักจิตวิทยา จะรับฟังอาการของผู้ป่วย ด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจผู้ป่วยว่า อาการนี้สามารถรักษาให้หายได้หากตั้งใจจะรักษา นอกจากนี้ ยังต้องใช้ "วิธีพฤติกรรมบำบัด" ด้วยการโน้มน้าวให้ผู้ป่วยกลับมาสู่ความเป็นจริง ให้รู้จักเหตุผล รู้จักกฎ กติกา ศีลธรรมอันดี โดยครอบครัวและญาติของผู้ป่วย ควรจะเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการให้กำลังใจผู้ป่วยที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย

          อย่างไรก็ตาม ในวงการแพทย์พบข้อมูลเกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคนี้น้อยมาก แต่เชื่อว่า การอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพดี สร้างสัมพันธภาพด้านบวกกับเด็กอย่างใกล้ชิด และจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างมีไหวพริบ ใช้เหตุผล จะช่วยทำให้อาการของโรคทางจิตเวชลักษณะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Kleptomania โรคชอบหยิบฉวย ของคนป่วยทางจิต อัปเดตล่าสุด 22 มีนาคม 2562 เวลา 16:34:09 45,403 อ่าน
TOP
x close