โรคเกาต์ โรคปวดข้อที่ป้องกันได้

โรคเกาต์
โรคเกาต์


เกาต์ ...โรคปวดข้อที่ป้องกันได้
(ดาราเดลี่)

         เมื่อประมาณ 2,500 ปี ก่อน ฮิปโปเครตีส บิดาแห่งวงการแพทย์สากล ได้พูดถึงโรคๆ หนึ่ง ที่มีอาการปวดตามข้อ โดยเฉพาะหัวแม่เท้า ว่า โรคเกาต์ ซึ่งโรคนี้ตั้งชื่อตามภาษาลาติน “Gutta” หมายถึง การอักเสบบริเวณข้อ

เริ่มต้นรู้จัก อะไรคือ โรคเกาต์

         หากเราจะกล่าวถึง โรคเกาต์ อย่างน้อยที่สุดเราจำเป็นต้องรู้ว่า โรคเกาต์ เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคไขข้ออักเสบ (Arthritis) ซี่งมีโรคอื่นๆ ในกลุ่มคือ ข้อเสื่อม รูมาทอยด์ ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ เป็นต้น

         ส่วนอาการของ โรคเกาต์ มักจะเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นฉับพลัน ถ้าปวดครั้งแรกมักจะเป็นข้อเดียว แต่ถ้าปล่อยไว้นานเกินไป จากข้อเดียวจะลามเป็น 2 และ 3 ข้อ ต่อไป โดยในช่วงแรกๆ มักจะเกิดที่นิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า คนที่เป็นข้อมักจะบวม และเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังบริเวณนั้นจะตึง ร้อนและแดง

         โดยระยะแรก อาการ โรคเกาต์ จะเป็นอยู่ไม่กี่วันแล้วหายไปเอง และกำเริบที่ข้อเดิมทุก 1-2 ปี แต่ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นเดือนละหลายครั้ง อาการปวดมักเริ่มตอนกลางคืน หรือหลังดื่มแอลกอฮอล์ คนที่เป็นมากอาจมีผลต่อสุขภาพจิตด้วย

         ในรายที่เป็น โรคเกาต์ เรื้อรังอาจมีตุ่ม ก้อน ขึ้นตามเนื้อตามตัว เราเรียกตุ่มนั้นว่า ตุ่มโทไฟ (Tophi) บางครั้งตุ่มก้อนนั้นอาจแตก แล้วมีสารเหมือนแป้งเปียกไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า แล้วในที่สุดข้อต่างๆ จะค่อยๆ พิการจนใช้งานไม่ได้

         โดยอัตราความเสี่ยงที่จะเป็น โรคเกาต์ พบว่าผู้ชายมีโอกาสเป็น โรคเกาต์ ได้มากกว่าผู้หญิง ประมาณร้อยละ 90 และมักเป็นเมื่ออายุสูงกว่า 40 ขึ้นไป สำหรับผู้หญิงมักจะเป็น โรคเกาต์ ช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว

         ส่วนอาการแทรกซ้อนที่มักจะเกิดร่วมด้วยกับ โรคเกาต์ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วย โรคเกาต์ มักจะมีอาการความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด นิ่วในทางเดินปัสสาวะ และภาวะไตวาย

เรียนรู้สาเหตุ โรคเกาต์ กันเถอะ 

         โรคเกาต์ เป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของ กรดยูริก ซึ่งเป็นสารชนิดหนึ่ง ที่ได้จากการย่อยสลายของสาร เพียวริน (Purine) ที่มีมากในเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก หอย ปู หรือปลาตัวเล็กที่กินทั้งกระดูก เช่น ปลาไส้ตัน ปลาซาดีนกระป๋อง นอกจากนี้ยังมีอยู่ในผักยอดอ่อนบางประเภทด้วย เช่น เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะตอ เป็นต้น

         โดยปกติแล้ว คนที่เป็น โรคเกาต์  มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของกรรมพันธุ์ จากการสำรวจผู้ป่วย โรคเกาต์ พบว่า มักมีคนในครอบครัวเป็น โรคเกาต์ ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น หากใครรู้ว่าคนในครอบครัวมีประวัติการเป็น โรคเกาต์  ก็ควรระวังในเรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษ เพราะในคนปกติทั่วไป หากกินเนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ และผักยอดอ่อนประเภทที่กล่าวมาแล้วในปริมาณมาก ร่างกายจะมีการสร้างกรดยูริกมากขึ้น แต่ก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกทางไตได้

         ส่วนคนที่เป็น โรคเกาต์ หากกินอาหารที่มีสารเพียวรินมาก ร่างกายจะสร้างกรดยูริกขึ้นมา แต่ไม่สามารถขับออกได้หมด จึงมีการสะสมกรดยูริกส่วนเกินไว้ในร่างกาย แล้วตกตะกอนอยู่ตามข้อ ตามผนังหลอดเลือด ในไต อวัยวะต่างๆ และทำให้เป็น โรคเกาต์  ขึ้นได้

         นอกเหนือจากการกินอาหารที่มีเพียวรินเยอะแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิด โรคเกาต์ ด้วย เช่น อาการบาดเจ็บจากการกระแทกบ่อยๆ การบริโภคแอลกอฮอล์ อากาศเย็น และผลข้างเคียงจากยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ

อาหารสำหรับผู้ป่วย โรคเกาต์

         เนื่องจาก โรคเกาต์ เป็นโรคที่มีลักษณะเรื้อรัง รักษาให้หายได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่เป็น โรคเกาต์ จำเป็นต้องดูแลสุขภาพของตนเอง ผู้ที่เป็น โรคเกาต์ นั้น ควรลดอาหารที่ก่อให้เกิดกรดยูริกมาก ดังนั้น อาหารสำหรับผู้ป่วย โรคเกาต์ ควรมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอ ประกอบด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน เราจึงเสนออาหารในแนวชีวจิตมาให้ท่านได้ลองปฏิบัติกัน

         คาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง ต้องเป็นคาร์โบไฮเดรตบริสุทธิ์ ยังไม่ได้ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวแดง ข้าวซ้อมมือ ถ้าเป็นขนมปังขอให้เป็นขนมปังโฮลวีท โดยปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ต้องรับประทาน คือ 50 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละมื้อ

         ผัก มีทั้งผักสด และผักสุก คนที่เป็น โรคเกาต์ สามารถเลือกผัก ที่ไม่ก่อให้เกิดกรดยูริกตกค้างในกระแสเลือดมากเกินไปได้ โดยปริมาณผักที่เราจะรับประทานคือ 25 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละมื้อ

         โปรตีน แม้คนที่เป็น โรคเกาต์ จะไม่สามารถรับประทานอาหารประเภทโปรตีนได้มาก แต่ก็มีโปรตีนบางประเภทที่สามารถกินได้ เช่น เนื้อปลา โดยปริมาณที่รับประทานคือ 15 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละมื้อ อย่างไรก็ตามเรากินสักอาทิตย์ละครั้ง 2 ครั้ง ก็ดีเหมือนกัน เพื่อให้ร่างกายปรับอยู่ในระดับสมดุลได้ดี ถึงอย่างนั้นผู้ป่วย โรคเกาต์ ควรหลีกเลี่ยงโปรตีนจากถั่วต่างๆ เช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว เป็นต้น เพราะถั่วเหล่านี้มีสารเพียวรีนสูง

         ในหมวดเบ็ดเตล็ด ก็ให้เน้นในเรื่องผลไม้ต่างๆ เช่น มะละกอ ฝรั่ง พุทรา ผลไม้แห้ง และสาหร่ายทะเล โดยปริมาณรวมกันแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละมื้อ

         ทั้งนี้ คนที่เป็น โรคเกาต์ แม้จะมีอาการปวดตามข้อต่างๆ เราก็ควรจะออกกำลังกายเสริมด้วย ด้วยการออกกำลังกายง่ายๆ ที่ไม่กระทบข้อที่ปวดมากนัก แต่หากท่านใดมีอาการดีขึ้นแล้ว การรำตะบอง ซึ่งเป็นรูปแบบการออกกำลังกายในแนวชีวจิต ก็น่าสนใจทีเดียว เพราะเป็นการบริหารกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมประสาท ซึ่งเมื่อประกอบกับการรับประทานอาหารที่ถูกต้องแล้ว จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดี

         อย่างไรก็ตาม โรคเกาต์ สามารถเกิดขึ้นได้ไม่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน ดังนั้นระวังสักนิดก่อนจะบริโภคอะไร

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเกาต์ โรคปวดข้อที่ป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2552 เวลา 16:11:13 16,336 อ่าน
TOP
x close