โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง
(ไทยรัฐ)

         โรคหลอดเลือดสมอง เรียกว่า strokes หรือ brain attack ก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต หรือทุพพลภาพได้ ไม่ว่าจะเกิดจากเส้นเลือดสมองแตก เส้นเลือดตีบ หรือก้อนเลือดอุดตัน

         อัมพาต หมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดหรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ยังผลให้เซลล์ในสมองและการทำงานของสมองหยุดชะงัก ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการชนิดถาวร หรือบางคนอาจเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เรียกว่า อัมพฤกต์

         สาเหตุที่สำคัญที่สุดของอัมพาต อัมพฤกต์ คือ โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจริงๆ แล้วจัดเป็นกลุ่มของโรคที่มีหลายชนิดหลายประเภท กลไกการเกิดโรคอาจแตกต่างกันไปได้บ้าง แต่สุดท้ายส่งผลร้ายอันตรายต่อชีวิตหรือทุพพลภาพเหมือนๆ กัน

         ผู้ป่วยอัมพาตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่อายุน้อย ก็อาจเกิดอัมพาตได้เช่นเดียวกัน ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงโรคร่วมด้วย ดังนั้นแนวทางการป้องกันจึงมีความสำคัญสูงสุด ก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นแล้วจึงมาบำบัดดูแลรักษาในภายหลัง

อาการ โรคหลอดเลือดสมอง

         ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตแสดงอาการอ่อนแรงของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีก ในบางคนอาจจะหมดความรู้สึกของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีก บางรายอาจจะหมดสติ บางรายอาจจะตามองไม่เห็น บางรายอาจจะเดินไม่ได้ บางรายอาจจะพูดไม่ได้ บางรายอาจจะสับสน อาการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันเนื่องจากตำแหน่งของหลอดเลือดที่เป็นโรคต่างกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ หลอดเลือดสมอง

         ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดสมอง คือระดับไขมันชนิดโคเลสเตอรอลในเลือด ทำให้เกิดคราบไขมันขึ้นที่ผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการตีบแคบและอุดตัน เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังเนื้อเยื่อส่วนปลายได้เพียงพอ

         นอกจากนี้ชิ้นส่วนของคราบไขมันยังอาจหลุดจากผนังของเส้นเลือด ทำให้เกิดการอุดตันเส้นเลือดเล็กๆ ที่อยู่ถัดไป โรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มนี้เรียกว่าชนิดตีบตัน (thrombosis)

         บางครั้งพบสาเหตุจากโรคของหัวใจที่ทำให้เกิดก้อนเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดสมอง หรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติชนิดพริ้วที่ทำให้เกิดอาการใจสั่น อาจเป็นสาเหตุให้ก้อนเลือดไปอุดเส้นเลือดสมองได้เช่นกัน เรียกภาวะนี้ว่าก้อนเลือดอุดตันเส้นเลือด (embolism)

         โรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว และทำให้เกิดโรคอัมพาตได้มาก ทั้งชนิดหลอดเลือดแตกและหลอดเลือดตีบ ปัจจุบันถือว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการเกิดอัมพาต และจากการศึกษาวิจัย พบว่าโรคความดันโลหิตสูงทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนปรกติสูงถึง 4-6 เท่า ผู้ป่วยโรคอัมพาตร้อยละ 40-90 จะมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อน

ระดับโคเลสเตอรอลในเลือด

          ภาวะที่มีไขมันสูงในหลอดเลือด ทั้งชนิดโคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นไขมันที่ไปเกาะผนังหลอดเลือดและจะทำให้ผนังหลอดเลือดแข็ง อันจะมีผลตามมาทำให้เกิดอัมพาตได้ง่าย

โรคเบาหวาน

         ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานเป็นเวลานานๆ โดยมิได้รับการรักษา หรือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติ จะมีอัตราเสี่ยงในการเกิดอัมพาตชนิดหลอดเลือดตีบได้สูง เพราะโรคเบาหวานทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งได้ง่าย โดยจะมีหลอดเลือดแข็งทั่วร่างกาย และถ้าเป็นที่หลอดเลือดของสมองจะเกิดอัมพาตขึ้น อัตราการเสี่ยงของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงกว่าผู้ป่วยปกติถึง 2-4 เท่า

อาการเตือนที่สำคัญของ โรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่

        อาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หรือไม่มีแรงครึ่งซีกที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรืออาการชาของแขนหรือขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเป็นครั้งคราว

        ภาวะที่มีอาการชาหรืออ่อนแรงของใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง

        อาการสับสน ระดับการรับรู้เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวลง ภาวะที่พูดลำบาก กระตุกกระตักหรือพูดไม่ชัด โดยอาการเป็นชั่วคราว หรืออาจจะนึกพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว

        ภาวะที่ตามืดหรือมองไม่เห็นไปชั่วครู่ หรืออาจจะเห็นแสงที่ผิดปรกติ หรือเห็นภาพซ้อน จัดเป็นอาการผิดปกติของการมองเห็น

        อาการวิงเวียนบ้านหมุน หรือเป็นลม เดินเซ ไม่สามารถทรงตัวได้

        อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปวดมาก่อน มักเกิดขึ้นขณะปฏิบัติกิจกรรมที่เคร่งเครียด หรือกำลังอยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง

        กลืนอาหารสำลักบ่อยๆ

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหลอดเลือดสมอง อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2552 เวลา 17:22:38 2,755 อ่าน
TOP
x close