สธ.เผยคนไทยป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียกว่า 6 แสนคน (กระทรวงสาธารณสุข)
สธ.เผยคนไทยป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียกว่า 6 แสนคน เป็นพาหะกว่า 24 ล้านคน แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยประมาณ 12,000 ราย รัฐต้องเสียค่ารักษาปีละไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ชี้โรคนี้สามารถควบคุมป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ประชาชน สามี-ภรรยาตรวจเลือดก่อนมีบุตร และการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์มารดา ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือและการรายงานผลที่รวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญในควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องในการสังเคราะห์ฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคจะมีอาการแตกต่างกันตั้งแต่มีโลหิตจางเล็กน้อย โลหิตจางมาก ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือหลังคลอดไม่นาน
ส่วนผู้ที่ไม่เป็นโรค หรือที่เรียกว่าเป็นพาหะจะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ ในประเทศไทยพบพาหะธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 30-40 ของประชากรหรือประมาณ 18-24 ล้านคน และมีผู้ป่วยโดยรวมประมาณ 6 แสนคน ในแต่ละปีประเทศไทยมีมารดาที่เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 50,000 ราย และมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 12,000 ราย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่ออีกว่า โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่สามารถทำได้ทุกคน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก และต้องมีผู้บริจาคไขกระดูกที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย การรักษาโดยทั่วไปจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ทำให้ผู้ปกครองต้องสิ้นเปลืองเงินทองในการรักษาพยาบาล และสูญเสียเวลาในการดูแลบุตร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณ ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยปีละไม่น้อยกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท
ดังนั้นการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำได้โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางสาธารณสุข คู่สมรสต้องวางแผนครอบครัว วางแผนการมีบุตรด้วยการตรวจเลือด
นายแพทย์สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่พบบ่อยในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ โรคฮีโมโกลบินบาร์ทไฮดรอพส์ฟิทัลลิส โรคโฮโมซัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย และโรคเบต้าธาลัสซีเมียฮีโบโกลบินอี ซึ่งโรคธาลัสซีเมียทั้ง 3 ชนิดนี้ จะมีอาการรุนแรงแตกต่างกัน บางรายมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้นการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ 3 ระดับ คือ การตรวจคัดกรอง การตรวจยืนยันและการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอด โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะต้องมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือและการายงานผลที่รวดเร็ว
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก