x close

ถาม-ตอบ ไข้หวัด 2009

ไข้หวัด2009



ถาม-ตอบ ไข้หวัด 2009 (เดลินิวส์)
สัมภาษณ์โดย นวพรรษ บุญชาญ

          การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ยังมีหลากหลายประเด็นที่เป็นข้อสงสัยและถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ โดย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำประเด็นถาม-ตอบที่น่าสนใจมาบอกให้ผู้อ่านรับทราบกัน

 ไข้หวัดใหญ่ 2009 เริ่มต้นระบาดจริงๆ  เมื่อใด?

          แม้ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 จะเริ่มเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่คนไข้รายแรกที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ ถูกระบุว่ามีการติดเชื้อโรคตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมแล้ว เป็นเด็กชายอายุ 4 ขวบจากลากลอเรีย รัฐเวรากรูซ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับฟาร์มหมูในเขตเปโรตที่หลายคนสงสัยกันว่า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด แต่ผลการตรวจภายหลังกลับไม่พบหมูตัวใดในฟาร์มนี้รวมไปถึงคนงานในฟาร์มที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างไรก็ดี รายงานอย่างเป็นทางการของประเทศเม็กซิโกในตอนหลังได้ระบุว่า พบคนไข้รายอื่นที่ติดไข้หวัดใหญ่ 2009 มาก่อนหน้าเด็กชายคน ดังกล่าวกว่า 1 สัปดาห์ และกำลังมีการนำเอาตัว อย่างของผู้ป่วยรายก่อนๆ นี้ที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลย้อนกลับไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์กลับมาตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง

 ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นคนละตัวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่มันมีความรุนแรงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดามิใช่หรือ?

          เป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะผลการวิจัยล่าสุดของคณะผู้วิจัยนานาชาตินำโดย ดร.โยชิ ฮิโร คาวาโอกะ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ซึ่งลงในวารสาร Nature ได้แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสตัวนี้มีความรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยคิดกัน นั่นคือ ในขณะที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมักจะไปติดเชื้อเล่นงานแต่เฉพาะที่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 กลับสามารถมุ่งลงไปเล่นงานได้ลึกถึงเซลล์ปอด และทำให้เกิดอาการปอดบวมรุนแรงถึงตายได้ โดยไม่ต้องมีเชื้ออื่นมาเสริม

          ในการศึกษาพยาธิสภาพตามธรรมชาติของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 คณะผู้วิจัยได้ลองนำเอา    ตัวอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดนี้จากคนไข้หลายคน ทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐวิสคอนซิน ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศญี่ปุ่น มาเปรียบเทียบกับไวรัสไข้หวัดตามฤดูกาล โดยใส่เทียบกันในสัตว์ทดลอง ดังเช่น หนู ตัวเฟอร์เรต และลิงไพรเมตต่างๆ พบว่าเชื้อไวรัส 2009 สามารถเพิ่มจำนวนตัวเองภายในระบบทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าไข้หวัดตามฤดูกาลเป็นอย่างมาก และทำให้เกิดแผลรุนแรงสาหัสภายในปอด ซึ่งคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อันตรายอื่นๆ ที่เคยระบาดทั่วโลก ในขณะที่เชื้อไวรัสหวัดตามฤดูกาลจะไม่เพิ่มจำนวนขึ้นภายในปอด

          ความสามารถในการติดเชื้อเล่นงานปอดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้อยู่ในระดับที่น่าตกใจทีเดียว นั่นคือ ใกล้เคียงกับไวรัสอื่นๆ ที่เคยระบาดไปทั่วโลกแล้ว อย่างเช่น ไวรัส 1918 ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบล้านคนในระหว่างช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ดร.คาวาโอกะ ยังให้ ความเห็นอีกด้วยว่าเชื้อไวรัสนี้อาจจะมีระดับความรุนแรงขึ้นไปได้อีกจากวิวัฒนาการของตัวไวรัสเองให้มีศักยภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังมีการระบาดของโรคอยู่ตอนนี้ ซึ่งกำลังเป็นฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในเขตซีกโลกใต้ และกำลังจะเข้าสู่ฤดู การระบาดของไวรัสระลอกที่ 2 ในเขตซีกโลกเหนือ

 มีอะไรที่ไข้หวัดใหญ่ 2009 แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล?    

          จากการที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 น่าจะมีที่มาจากเชื้อไวรัสในหมู จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคนส่วนใหญ่ไม่อาจจะตอบสนองต่อเชื้อได้ดี จนทำให้อัตราการแพร่กระจายระหว่างคนต่อคนมีค่าค่อนข้างสูงตามไปด้วย ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณค่าอัตราการสืบทอดพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งบอกถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อจากคนคนหนึ่งไปสู่ผู้อื่นได้กี่คน ว่าอยู่ที่เพียงแค่ 1.4-1.6 เท่านั้นจากการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโก แต่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดที่ได้ปรับค่าปัจจัยต่างๆ ใหม่แล้วได้แสดงให้เห็นว่าค่าอัตราการกระจายของเชื้อนี้มีสูงถึง 2.2-3.1 หรือเทียบได้กับการระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกก่อนหน้านี้ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในอดีต

 ตกลงว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 มีคนสร้างขึ้นใช่หรือไม่?    

          แอนเดรียน กิบส์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านไวรัสจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียในเมืองแคนเบอร์รา เป็นผู้เสนอสมมุติฐานนี้ว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 อาจจะเป็นเชื้อที่คนสร้างขึ้นและหลุดรอดออกมาโดยบังเอิญจากกระบวนการผลิตวัคซีน แนวคิดนี้ถึงแม้จะถูกปฏิเสธโดยทันทีจากนักวิจัยด้านไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่ แต่ได้ก่อให้เกิดกระแสความสงสัยตามมาเป็นอันมาก

          กิบส์ให้เหตุผลว่า ยีนทั้ง 8 ยีนของไวรัสนี้ซึ่งเป็นลูกผสมเรียงตัวใหม่ระหว่างเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในหมูอเมริกาเหนือ และเชื้อในหมูจากเขตยุโรป-เอเชีย ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า ที่มันควรจะเป็นตามปกติของเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วๆ ไปเป็นอันมาก ภายในเวลาแค่ 7 ปีจากเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของมัน ซึ่งวิวัฒนาการที่รวดเร็วนี้เกิดขึ้นกับทั้ง 8 ยีนของไวรัส ไม่ใช่เพียงแค่กับ 6 ยีนจากเชื้อในหมูอเมริกา หรือกับอีก 2 ยีนของเชื้อในหมูยุโรป-เอเชีย ที่คาดกันว่าเพิ่งจะมาผสมรวมกันไม่นานมานี้

          ข้อสงสัยนี้สอดคล้องกับแนวทางการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับหมู ซึ่งจะใช้ไวรัสมากถึง 3 ชนิดในการผลิตเป็นวัคซีนขนานเดียว เพื่อให้สามารถป้องกันไวรัสในหมูได้ทุกสายพันธุ์ของเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ใช้ไข่ไก่ในการผลิตวัคซีนปริมาณมากๆ ยังสามารถจะช่วยเร่งอัตราการเกิด วิวัฒนาการของไวรัสได้ ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ถ้ากระบวนการผลิตวัคซีนไม่อาจทำให้ไวรัสต่างสายพันธุ์เหล่านี้ตายได้สมบูรณ์ แล้วเชื้อบังเอิญไปเรียงตัวผสมกันใหม่ในหมูจนเกิดเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ขึ้น

          สมมุติฐานของกิบส์ได้ถูกคัดค้านโดยนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (US-CDC)ว่าอัตราเร็วในวิวัฒนาการของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่พวกเขาคำนวณได้นั้น ไม่ได้รวดเร็วอย่างที่กิบส์บอกไว้

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถาม-ตอบ ไข้หวัด 2009 อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2552 เวลา 20:24:37
TOP