x close

อลิษา ขจรไชยกุล 10 ปีแห่งการเยียวยา โรคซึมเศร้า


อลิษา ขจรไชยกุล


อลิษา ขจรไชยกุล 10 ปีแห่งการเยียวยา โรคซึมเศร้า (momypedia)
โดย: พราว


           หลายคนใช้ยานอนหลับโดยที่ไม่รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางใจ

           ...เสียงเรียกจากปลายสายโทรศัพท์ดังแว่วอยู่ข้างหู แต่ฉันไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะตอบกลับ นั่นอาจเพราะฤทธิ์ยาหลายกำมือที่เพิ่งกลืนลงไปพร้อมกับเหล้าอึกใหญ่...เสียงเรียกหายไปแล้ว และทุกอย่างค่อย ๆ ดับลง


เมื่อวิกฤติชีวิตล่ม
   
           แม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมานานถึง 10 ปี แต่ แหม่ม-อลิษา ขจรไชยกุล ไม่มีวันลืม มันเรียกได้ว่าเป็นช่วงวิปโยคสุด ๆ ของชีวิต ตอนนั้นแหม่มร่วมหุ้นทำธุรกิจผลิตสินค้ากิฟต์ช็อปกับเพื่อน ทุกอย่างกำลังไปได้ดี จนกระทั้งฟองสบู่แตก เราเริ่มมีปัญหา ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนใจไปซื้อของประเภทเหมาโหลถูกกว่างานแฮนด์เมด ธุรกิจไปไม่ได้ เราตัดสินใจขายทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อใช้หนี้แบงก์

           จากที่เคยมีเงินมีทรัพย์สินหลายล้าน วันนั้นเราไม่เหลือเงินสักบาท ซ้ำร้ายงานละครที่เคยเข้ามาให้พอได้เงินมาใช้จ่ายก็ไม่มีเลย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแหม่มเป็นคนค่อนข้างปิดตัว ไม่ชอบออกงานสังคมเหมือนนักแสดงคนอื่น ๆ ก็เลยทำให้ผู้จัดละครหลายคนลืมแหม่มไป
   
           เมื่อธุรกิจล่ม งานไม่เข้า เงินไม่มี ไม่รู้จะทำยังไง เลยทำให้เครียดมากเหมือนคนบ้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ พอรู้สึกอย่างนั้นก็นั่งคุยกับพระบนหิ้งว่า "หนูพยายามแล้วนะ ทำไมท่านไม่ช่วย ถ้าไม่ช่วยหนูจะไม่อยู่แล้วนะ"

           พูดกับพระอยู่อย่างนั้น แล้วมันก็เหมือนมีคนสองคนเถียงกันอยู่ข้าง ๆ หู คนหนึ่งบอก..อย่าทำร้ายตัวเอง ส่วนอีกคนบอกให้ทำไปเลย ไม่ต้องสนใจ ไม่มีใครรักเรา แล้วเสียงมารตัวนี้มันดังมาก จนทำให้แหม่มล็อกประตูบ้านหมด แล้วคว้ายาเท่าที่มีในบ้านมากรอกใส่ปาก

           แต่นับว่าโชคยังดี เพราะขณะที่กำลังทรมานกับฤทธิ์ยา พี่สาวซึ่งเป็นลูกของป้าโทรศัพท์มาหาและได้ยินเสียงแหม่มรับสาย แต่เงียบไป เขาเอะใจ และรีบเรียกแท็กซี่มาช่วยพาแหม่มส่งโรงพยาบาลได้ทัน
   
           แหม่มมารู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พี่สาวบอกว่าตอนแรกคิดว่าจะไม่รอด เพราะหมอบอกให้ทำใจ และถ้ารอดโอกาสที่จะสูญเสียความทรงจำก็มีมาก แต่นับว่ายังโชคดีที่ล้างท้องทัน

           ตอนนั้นเรียกได้ว่าหมดสภาพมาก ๆ เพราะนานเป็นเดือน ๆ ที่แหม่มเอาแต่ขังตัวเองอยู่ในห้องคนเดียว ไม่ออกไปไหน ไม่พูดกับใคร ข้าวก็แทบไม่ตกถึงท้อง วัน ๆ เอาแต่ดื่มเหล้าเพื่อให้หลับ เพราะในหัวมีแต่เรื่องให้คิด ทั้งหนี้ส่วนตัว หนี้รถที่ยังผ่อนไม่หมด เงินที่ต้องใช้จ่าย งานก็ไม่มี แฟนก็ไม่สนใจ

           ชีวิตมีแต่คำถามว่าจะทำยังไง ทำไมต้องเป็นเรา ทำไมเขาไม่มาดูแล ...แต่ไม่มีคำตอบ


โรคซึมเศร้ามาเยือน
   
           ช่วงนั้นแหม่มกินแต่เหล้า จนถึงจุดหนึ่งก็เริ่มถามตัวเองว่า ทำเพื่ออะไร เพราะตื่นมาเราก็ยังเจอปัญหาอยู่ เหล้าไม่ได้ช่วย มีแต่จะทำให้ร่างกายเสื่อมลง เงินก็หมด เลยเลิกดื่มแล้วลองไปบวชชีพราหมณ์ แต่จิตใจก็ยังไม่สงบ ตอนกลางคืนก็ยังนอนไม่หลับ ต้องกินยาให้หลับ จากเม็ดสองเม็ดก็เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ จนบางที 10 เม็ด ก็ยังไม่หลับ

           กลางวันก็เอาแต่นั่งเหม่อ คิดวนไปวนมาอยู่ในหัว ไม่พูดไม่คุยไม่ปรึกษาใคร เพราะถ้าคุยแล้วจะซ้ำซาก พูดแล้วพูดอีกไม่จบ กลัวคนรอบข้างรำคาญ และจากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์ พ่อแม่อยู่กันคนละทาง ก็เลยทำให้แหม่มต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด
   
           จากนั้นแหม่มก็กลับไปอยู่บ้านที่ศรีราชา ปีสองปีแรกไม่ได้ช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น แค่ใช้ชีวิตไปวันๆ เท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้จัดละครมาตามให้ไปเล่นละคร เขาบอกว่าบทนี้เหมาะกับแหม่มมาก ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนเทียนที่ใกล้จะดับแล้วมีเทียนแท่งใหม่มาต่อ เริ่มเห็นแสงสว่างขึ้นมาบ้าง

           พอมีงานเข้ามา ความเครียดที่มีก็ค่อย ๆ คลายลง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะแหม่มจะมีความสุขเฉพาะวันที่ได้ออกไปเจอผู้คน แต่พอวันที่ไม่มีงานก็ยังเหมือนเดิม พอนอนไม่หลับก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการมานอนที่กองถ่ายแทน
   
           พอเล่นละครได้สักพักปัญหาเรื่องรถก็หลุด พอมีงานเรื่องแฟนก็ตัดไปได้ คิดว่าถ้าจะมีมันก็มีมาเอง ชีวิตแหม่มเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่อาการนอนไม่หลับกับอาการซึมเศร้ายังเป็นอยู่ อาจเพราะแหม่มเป็นคนที่ซึมซับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย

           ในหลาย ๆ ครั้งที่มีคนทักแหม่มไม่ดี แหม่มก็จะเก็บมาคิด มาเศร้ากับตัวเอง หรือบางทีดูทีวีแล้วมีคำพูดสะเทือนใจเหมือนเราเคยผ่านภาวะแบบนั้นมา ก็เก็บมาเศร้าได้หมด โดยไม่มีใครรู้เลยว่าเราเครียด เราเศร้า เพราะภายนอกจะดูเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะตลอด ซึ่งตอนนั้นก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้า คิดว่าเป็นคนที่เซนซิทิฟมากกว่า

           จนกระทั่งเมื่อกรมสุขภาพจิต เชิญให้ไปเล่าประสบการณ์ในงาน เปิดกว้างโรคทางใจ และได้คุยกับคุณหมอสมรักษ์ ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ของโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อไม่นานนี้ ถึงได้รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้


รักษาใจ...ให้หายซึมเศร้า
   

อลิษา ขจรไชยกุล


           จะว่าไปแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของแหม่มเพิ่งจะมาคลี่คลายจริง ๆ ก็เมื่อ 3 ปีก่อน เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่รู้ว่าเราเป็นโรคที่ต้องไปหาหมอรักษา พอเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแหม่มก็จะหาวิธีเยียวยาตัวเอง พยายามบอกตัวเองทุกวันว่า เดี๋ยวมันก็มืดแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้สิ่งดี ๆ ก็จะเข้ามา เดี๋ยวทุกอย่างก็จะผ่านไป

           การทำอย่างนี้เหมือนเป็นการให้กำลังใจตัวเอง เป็นพลังให้เราหายเศร้าได้ในบางครั้ง หรือบางช่วงที่แย่มาก ๆ ก็จะขับรถไปดูคนตามป้ายรถเมล์ เห็นบางคนร้องไห้ บางคนทะเลาะกัน บางทีก็จะขับเข้าไปนั่งดูคนบ้าที่ศรีธัญญา ซึ่งเขาก็ดูเหมือนคนปกติแต่คงเครียดจนแย่ ก็กลับมามองตัวเอง ถ้าเราเครียดเราเศร้ามาก ๆ แล้วเป็นอย่างเขา ใครจะมาดูแลเราล่ะ พอคิดแบบนี้ก็จะมีแรงฮึดขึ้นมาทันที
   
           อีกวิธีที่ใช้บ่อยคือ พยายามมองคนที่ด้อยกว่าแล้วจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เพราะถ้ามัวมองคนที่เหนือกว่าเราก็จะยิ่งรู้สึกแย่ ที่สำคัญต้องพยายามเปิดตัวเอง เพราะปัญหาหลักของแหม่มคือ อยู่คนเดียวมากเกินไป พออยู่คนเดียวมันก็คิดมาก ฟุ้งซ่าน ก็ต้องออกไปข้างนอก ไปหาเพื่อน คุยกับเพื่อนบ้าง

           แหม่มจะมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่สามารถระบายสิ่งที่อัดอั้นในใจให้เขาฟังได้ซ้ำแล้วซ้ำ อีก โดยที่เขาไม่เคยปฏิเสธเลย ไปหาเขาแล้วแหม่มจะสบายใจขึ้น หรือบางทีก็ใช้วิธีไปนั่งกรรมฐานตามวัดที่สงบๆ เพื่อให้ตัวเองเย็นและนิ่งมากขึ้น แต่ถ้าวันไหนอยู่บ้านก็จะใช้วิธีทำตัวเองไม่ให้ว่างหานู่นหานี่ทำไปเรื่อย
   
           วิธีเหล่านี้ช่วยให้แหม่มหายเศร้าได้มาก แต่ก็ยังนอนไม่หลับอยู่เหมือนเดิม จนได้มาคุยกับคุณหมอสมรักษ์ เล่าอาการต่างๆ ให้ฟัง คุณหมอก็บอกว่า ช่วงซึมเศร้าของแหม่มมันผ่านขีดแดงมาแล้ว เพราะแหม่มมีวิธีคิดแบบที่เล่า ส่วนที่ต้องดูแลต่อก็คืออาการนอนไม่หลับกับอาการวิตกกังวลล่วงหน้า

           คุณหมอแนะนำในส่วนของอาการนอนไม่หลับว่า ต้องใช้ยา แต่ไม่ใช่ยานอนหลับอย่างที่เคยกิน เพราะแหม่มค่อนข้างไฮเปอร์ คุณหมอบอกว่าคงต้องใช้ยาดึงให้ตัวแหม่มช้าลง ความคิดต่างๆ จะได้ช้าลง แล้วก็จะทำให้หลับได้ง่ายขึ้น หรือไม่อีกทางหนึ่งก็คือออกกำลังกาย วันหนึ่งต้องออกกำลังกายประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งแหม่มคิดว่าจะลองออกกำลังกายดู น่าจะช่วยได้มาก
   
           การผ่านวิกฤติเหล่านี้มาทำให้แหม่มรักตัวเองมากขึ้น มุมมองความคิดก็เปลี่ยนไป คือเราจะมองโลกในแง่ดีขึ้น มองทุกอย่างเป็นกลางมากขึ้น เวลาที่ได้ก็จะดีใจระดับหนึ่ง หรือถ้าจะเสียใจก็แค่ระดับหนึ่ง และแหม่มก็ได้เห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า เราต้องเปิดใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น หาคนคุยให้ถูกจุด เพราะการได้คุยกับคนที่ฟังเรา แล้วเขาตอบกลับมาได้ เราจะรู้สึกสบายใจขึ้น

           ที่สำคัญคือเมื่อ มีปัญหาอย่าหนี ทุกวันนี้แหม่มจะมีประโยคประจำตัวเลยว่า \'ทุกอย่างแก้ไขได้ ถ้าคิดที่จะสู้และแก้กับมัน\'
   
           เมื่อเข้าใจและคิดได้อย่างนี้ อาการของโรคซึมเศร้าในตัวแหม่มก็ค่อย ๆ ดีขึ้นค่ะ


ในมุมมองของ พ.ญ.สมรักษ์ ชูวานิชวงศ์
   
           ปัญหาของคุณแหม่มเกิดขึ้นจาก ช่วงชีวิตที่ต้องเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง เช่น ต้องการความมั่นคงในชีวิต ต้องหาเงิน มีบ้านมีคู่ครอง มีอนาคตที่ดี แต่สิ่งเหล่านี้กลับมารุมเร้ากดดันและส่งผลให้จิตใจของเธอป่วย
   
           โรคที่คุณแหม่มเป็นคือ โรคซึมเศร้า ซึ่งพบได้มากในผู้หญิง ส่วนผู้ชายพออายุถึงวัยกลางคนก็ถึงจะปรากฏนี้ได้
   
           เกณฑ์ที่บอกว่าเราหรือคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ให้สังเกตว่าถ้าเราตกอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติเกิน 2 อาทิตย์ไปแล้ว ยังไม่สามารถดึงอารมณ์กลับสู่ภาวะปกติได้ แล้วมันยังส่งผลให้เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากพบปะผู้คน พลังถดถอย จนทำให้การทำงาน หรือการดำเนินชีวิตปกติก็ยังบกพร่อง

           ตรงนี้ควรรีบไปพบจิตแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษา และเราต้องเรียนรู้ที่จะหาวิธีทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขขึ้น เพื่อปกป้องตัวเองไม่ให้เจ็บซ้ำซาก ไม่ให้พบเจอกับสิ่งร้าย ๆ อีก หรือถ้าเจอก็จะมีวิธีการจัดการกับมันได้ดีกว่าเดิม โดยไม่ต้องกลับไปเป็นโรคซึมเศร้าอีก
   
           ปัจจุบันการแพทย์เจริญมาก จนสามารถทำให้รู้ว่าภาวะซึมเศร้านั้นเกิดจากการที่เซลล์สมองของเราเหี่ยวลง เส้นใยต่าง ๆ ที่ประสานเชื่อมโยงกันเพื่อให้เรามีข้อมูลรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ผิดปกติไป เพราะฉะนั้น ทางการแพทย์ก็จะผลิตยาต้านขึ้นมา เพื่อทำให้เซลล์สมองตื่นตัวผลิตสารเคมีในสมองได้ดีขึ้น
   
           มีหลายคนที่เกิดอาการนอนไม่หลับ แล้วก็ไปเร่งเร้าขอยานอนหลับกับหมอ โดยที่ไม่รู้ว่าอาการนอนไม่หลับนั้นมันเป็นส่วนหนึ่งของโรคทางใจ ไม่ว่าจะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ฯลฯ เพราะฉะนั้นหมออยากแนะนำให้มาพบจิตแพทย์เพื่อรู้ว่า เราเป็นอะไรกันแน่ จะได้รักษาได้ถูกต้องต่อไป


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย

  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อลิษา ขจรไชยกุล 10 ปีแห่งการเยียวยา โรคซึมเศร้า อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 11:46:50 5,684 อ่าน
TOP