12 หลักธรรม ชี้ทางชีวิตให้คนยุคใหม่ (Lisa)
หลายคนมักคิดว่าเมื่อมีปัญหา มีทุกข์ จึงหันหน้าเข้าธรรมะ แต่สำหรับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ท่านชี้ทางให้เราว่า อยากให้คนเราใช้ธรรมะในเชิงป้องกันปัญหา ป้องกันทุกข์ เพื่อที่ว่าเมื่อเราหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ได้ คนเราจะได้ไม่จมอยู่กับทุกข์ใดนาน ๆ ....
"แม่อยากให้ผู้อ่านทุกคนเป็นผู้หญิงที่เดินอยู่ในสังคมนี้อย่างสง่างาม เพราะว่าเรามีปัญหาเป็นสารถีนำทาง" ดังนั้น คนที่อยากเป็นสุขในชีวิตจึงควรยึดถือปฏิบัติให้หลักธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ทาง
1. สัมมาทิฏฐิ มีปัญญา คือ เข้าใจว่าทุกข์มีไว้ให้เห็น ทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้เป็น คนเราต้องเจอทุกข์ ทุกข์มันก็เป็นแค่ปรากฏการณ์สั้น ๆ มีไว้ให้เห็นแล้วก็จบไป
2. สัมมาสังกัปปะ ต้องไม่มุ่งร้าย ไม่เบียดเบียน ไม่ข่มเหงผู้อื่น ไม่พยาบาท ไม่ผูกโกรธ ไม่เพลิดเพลินในกามคุณห้า แต่เราต้องรู้จักให้อภัย เกื้อกูลกับสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ในอดีต อย่าจมอยู่กับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนาน ๆ
3. สัมมาวาจา ศีลในสังคม คือเราต้องไม่ใช้วาจาทำให้ใครเจ็บปวด ต้องใช้วาจาให้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ สื่อสารในสิ่งที่เป็นความจริง แต่ถึงเป็นความจริง ถ้าพูดแล้วคนอื่นทุกข์ เราก็ไม่ควรพูด ถ้าเรื่องไม่จริงพูดแล้วคนอื่นทุกข์ ยิ่งไม่ให้พูดใหญ่เลย
4. สัมมากัมมันตะ เป็นศีล 3 ข้อในศีลห้ามมารวมกัน คือเป็นผู้ที่ประกาศตัวว่าจะไม่เป็นผู้ฆ่า ไม่ลักขโมย ไม่แสวงหาผลประโยชน์เกินความจำเป็น และไม่เป็นผู้สำส่อนทางเพศ
5. สัมมาอาชีวะ คือเราจะเลี้ยงชีวิตของเราด้วยสัมมาอาชิโว ละการเลี้ยงชีวิตด้วยตัณหา แต่เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา
6. สัมมาวายามะ กำลังของความเพียรชอบ คือการมีชีวิตอยู่ด้วยการดูแลกายและใจของเรา โดยเฉพาะใจ อย่าให้มีอกุศล ถ้าอกุศลใดเกิดก็ต้องให้มันดับ เช่น ถ้าโกรธเกิดก็รีบบ๊าบบาย อย่าพอโกรธเกิดแล้วก็พยาบาท เอาคืน ผูกเวร เพียรทำอกุศลที่เกิดข้นแล้วให้ดับไป เพียรทำกุศลที่ไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลนั้นให้ยั่งยืน
7. สัมมาสติ คือให้เห็นว่าชีวิตไม่เที่ยง กายก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง จิตก็ไม่เที่ยงธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง พอเราเห็นอะไรก็ไม่เที่ยง เราจะร่าเริง รู้ตื่นและเบิกบาน
8. สัมมาสมาธิ คือกำลังของสมาธิจิตที่แข็งแรงมาก บริสุทธิ์ ตั้งมั่นร่าเริงอยู่ในงานไม่เป็นคนห่อเหี่ยว หนีโลก หลับหูหลับตา แต่จะอยู่กับโลกด้วยจิตที่มีกำลังของอุเบกขาเอกัคคตารมณ์
9. เมื่อเราอยู่บนธรรมดาแห่งการตื่น คือต้องเดินบนทางสายกลางไม่เอนเอียงไปกับสิ่งที่เพลินชอบ เพลินขัง เพราะเห็นว่าทั้งชอบทั้งขังเป็นอนิจจังทั้งนั้น และให้เราใช้หัวใจของโพธิสัตว์ร่วมกันคือ ไม่มีความถือตัวอวดดี ไม่มีความโง่เขลา ไม่มีความอาฆาตพยาบาททั้งปวง ไม่มีความอิจฉาริษยา ไม่มีความคิดเห็นที่ผิด ไม่มีความโลภ ไม่มีความยืดมั่นถือมั่น ไม่มีความยืดติด ความเคลือบแคลงสงสัยทั้งปวง
ท้ายสุดแม่ชีศันสนีย์ได้ฝากถึงหลักการทำงานตามรอย “พระอารยตารามหาโพธิสัตว์” ด้วยการใช้ด้วยหลัก "สุข 3 ขั้น"
10. สุขขั้นที่ 1 "สุขง่าย...ใช้น้อย" ได้แก่ ไม่หวังให้คนอื่นต้องตามเราทุกอย่าง ไม่คบเพื่อนเพื่อหวังประโยชน์จากเพื่อน ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่ปรารถนาลาภเพื่อประโยชน์ตน
11. สุขขั้นที่ 2 "สุข...เมื่อสร้าง" ได้แก่ ไม่กลัวต่ออุปสรรคในการพัฒนาตน ไม่กลัวต่อทุกปัญหาในทุกการทำงาน เตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อความไม่ประมาทกลัวต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย
12. สุขขั้นที่ 3 "สุข...เมื่อให้" ได้แก่ ให้อภัยเมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือติเตียนนินทา มีสุขในการทำงานโดยไม่ต้องการให้เสร็จอย่างร้อนรน ไม่ประมาทต่อการดำรงตน จึงไม่กลัวต่อภัยอันตราย
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก