x close

เมื่อหญิงท้องติด ไข้หวัดใหญ่ 2009

ตั้งครรภ์

เมื่อหญิงท้องติดหวัด 2009
(เดลินิวส์)

         ผู้หญิงท้องจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หากป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนตอนนี้หลายคนที่ท้องอยู่เริ่มเป็นกังวลว่าจะทำอย่างไรหากป่วยขึ้นมา
   
         เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เคยมีรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2461-2462 และปี พ.ศ. 2500-2501 ในคุณแม่และทารกในครรภ์พบว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์นั้นเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ที่ระบาด จากรายงานของโรงพยาบาลจอห์น ฮอพกินส์ สหรัฐอเมริกา พบว่าจากคุณแม่ตั้งครรภ์ 1,350 ราย ที่รับไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เสียชีวิตถึงร้อยละ 27 และพบว่าร้อยละ 25-41 ของการตายนั้นเกิดขึ้ ในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ คือไตรมาสที่ 2 และ 3
   
         นอกจากนี้มีการรายงานผลข้างเคียงของการตั้งครรภ์ตามหลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ โดยมีอัตราการเพิ่มของการแท้ง และการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งหลายฝ่ายรายงาน รวมทั้งการศึกษาจากระบาดวิทยาก็บ่งชี้ว่า การตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมารดาและทารก รวมทั้งผลข้างเคียงจากการคลอด คุณแม่ที่เป็น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มักจะมีอาการของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เฉียบพลัน เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ อาการอื่นที่พบร่วม ได้แก่ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อาเจียน และท้องเสีย อาการป่วยจะเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว

         ดังนั้นในสตรีตั้งครรภ์ที่สงสัยว่าติดเชื้อ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อว่าเป็นหรือไม่ การรักษาควรทำให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางปฏิบัติการ เนื่องจากการให้ยาต้านไวรัสยิ่งเร็วยิ่งได้ผลดี โดยเฉพาะในช่วง 2 วันแรก การตรวจเชื้อ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต้องใช้เวลาหลายวัน แพทย์ผู้ทำการรักษา จึงควรให้การรักษาในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ได้เลย โดยเชื้อตัวนี้ยังตอบสนองต่อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์ 
   
         การตั้งครรภ์ไม่ใช่ข้อบ่งห้ามในการใช้ “โอเซลทามิเวียร์” หรือ “ซานามิเวียร์” ซึ่งยาเหล่านี้ก็ถูกแนะนำให้ใช้ในคนไข้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ผลข้างเคียงจากยาในคนไข้ตั้งครรภ์ ไม่มีรายงานชัดเจน โดยการรักษาสำหรับคนตั้งครรภ์ คือการใช้โอเซลทามิเวียร์ ซึ่งจะแนะนำให้ใช้ 5 วัน โดยไม่ต้องรอผลการตรวจเชื้อไวรัส ควรเริ่มยาทันทีที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งผลที่ได้จะมีประโยชน์มากถ้าเริ่มยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการ อย่างไรก็ตามแม้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สัมผัสอย่างใกล้ชิดกับคนที่สงสัย หรือมีการยืนยันว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้ อาจใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ วันละ 1 เม็ด เป็นเวลา 10 วัน
   
         อาการไข้สูง ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มความเสี่ยง เป็น 2 เท่า ของการเกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโตของระบบประสาท และอาจพบความพิการแต่กำเนิดบางอย่างได้ การให้ยาแก้ไข้รวมทั้งวิตามินที่มีกรดโฟลิคจะช่วยได้ โดยอาการไข้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น อาการชัก สมองผิดปกติ จนถึงทารกตายในครรภ์ โดยเกิดจากอาการไข้ ซึ่งสามารถใช้ยากลุ่มพาราเซตามอลได้
   
         ส่วนการติดต่อของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จะผ่านจากแม่สู่ลูกได้หรือไม่ จวบจนปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่า เชื้อนี้ผ่านจากแม่สู่ลูก แต่ในขณะที่ข่าวของแม่ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และพบว่ามีการตรวจพบเชื้อไวรัสในลูก ก็ยังต้องการการตรวจยืนยันว่า ลูกในครรภ์ติดเชื้อจริงหรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยการตรวจ หาแอนติบอดี้ในเลือด (Hemaglu-tination Inhibition Antibodies) โดยเจาะเลือดลูกส่งตรวจห่างกัน 2 สัปดาห์ หากผลที่ได้มีการเพิ่มของหน่วยของแอนติ บอดี้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แสดงว่าทารกติดเชื้อจากมารดา ด้วยเหตุนี้เองคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจว่าจะมีโอกาสติดเชื้อนี้ในลูกน้อยในครรภ์
   
 ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ มีดังนี้

         1. ล้างมือบ่อยๆ

         2. ลดการติดต่อกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้

         3. หากมีอาการไข้ควรอยู่กับบ้าน ยกเว้นในกรณีที่ต้องไปพบแพทย์
        
         4. ต้องระวังปิดปากเวลาไอ

         5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชน ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้

         6. ใช้หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง
   
         ส่วนคุณแม่ที่คลอดบุตรแล้ว สามารถให้นมได้ แต่ต้องระวังการสัมผัสกับลูก อาจให้คุณแม่บีบน้ำนมใส่ขวดแล้วให้ลูกดื่มได้ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาในคนไข้ที่ให้นมบุตร
   
  อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ คือ

         1. หายใจลำบาก และหายใจตื้นๆ

         2. เจ็บหน้าอก หรือช่องท้อง

         3. มีอาการงง หรือสับสน

         4. อาเจียนรุนแรง

         5. เด็กดิ้นน้อยลง

         6. มีไข้สูงที่ไม่ ตอบสนองต่อยาพาราเซตามอล
   
         รุปแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อย่าตื่นตระหนกกับโรคนี้ควรใช้ชีวิตให้ระมัดระวัง เนื่องจากคนท้องเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการที่รุนแรงได้ ปฏิบัติตัวตามที่แนะนำข้างต้น และอย่ามัวรีรอในการไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการที่กล่าวมาแล้ว การได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว และวินิจฉัยได้ถูกต้อง คุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ได้อุ้มลูกน้อยสมใจแน่นอนครับ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

   คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อหญิงท้องติด ไข้หวัดใหญ่ 2009 อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2552 เวลา 13:54:34 3,415 อ่าน
TOP