วิจัยพบเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ



วิจัยพบเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ

เถาวัลย์เปรียง


เถาวัลย์เปรียงยาสมุนไพรแก้ปวดหลังปวดเอว ปวดข้อ พัฒนาเป็นยาแก้อักเสบแทนยาแผนปัจจุบัน (ไทยโพสต์)

          เถาวัลย์เปรียงเป็นยาสมุนไพรที่คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์มาเนิ่นนาน เป็นสมุนไพรที่พบทั่วไปทุกภาค สรรพคุณของยาที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์คือแก้อาการปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงกำลัง จึงมักนำมาต้มดื่ม หรือนำมาดองเหล้า คนเฒ่าคนแก่ คนที่ทำงานแบกหามหนัก หรือชาวไร่ชาวนา จึงมักมีเถาวัลย์เปรียงติดบ้านไว้ต้ม แต่ส่วนมากมักจะเน้นทางยาดองเหล้ามากกว่าเพื่อใช้แก้ไขอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน

          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการวิจัยสมุนไพรตัวนี้จนสำเร็จผล และพบว่า สรรพคุณตามที่วิจัยพบนั้นสอดรับกับภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านที่ใช้ ประโยชน์ในการแก้ปวดเมื่อย แก้การอักเสบของกล้ามเนื้อ ผลการทดลองระบุว่า สารสกัดจากลำต้นมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวด ต้านการอักเสบ สามารถใช้แทนยาแก้อักเสบแผนปัจจุบันได้ ที่สำคัญไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันที่มีสารสเตียรอยด์ ถือเป็นยาสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง

          ผลพลอยได้จากงานวิจัยในครั้งนี้ยังพบว่า เถาวัลย์เปรียงมีสรรพคุณช่วยเพิ่ม ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดขาว รักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งสามารถต่อยอดนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ได้ด้วย 

          อาการปวดหลังปวดเอว เชื่อว่าเกิดจากการทำงานหนักประเภทแบกหาม ตรากตรำ เพราะมักพบในกลุ่มชาวนาชาวไร่หรือผู้ใช้แรงงาน แต่จริง ๆ แล้วทุกวันนี้กลุ่มคนในทุกสาขาอาชีพก็ล้วนเผชิญกับปัญหาดังกล่าวนี้ อย่างกว้างขวาง ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขในระดับหนึ่งก็ได้ และก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยถึงเถาวัลย์เปรียงที่นำมาใช้ในการรักษาอาการดังกล่าวนี้นั้น ประชาชนชาวไทยจำเป็นต้องใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์มานานมากแล้ว เถาวัลย์เปรียงจึงเป็นยาสมุนไพรที่มาถูกที่ถูกเวลาสอดรับกับปัญหาความเจ็บป่วยของประชาชนชาวไทยในขณะนี้ อย่างที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าอินเทรนด์อย่างแรง

          พอกรมวิทยาศาสตร์ประกาศรับรองความปลอดภัย กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรก็ได้เฮ เร่งผลิตยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงออกจำหน่ายทั้งในรูปแบบยาน้ำยาเม็ด ก็ถือเป็นนิมิตรอันดีในการพัฒนายาสมุนไพรบ้านเรา ก็ขอเพียงอย่าขายราคาแพงขูดรีดผู้ป่วย เพราะสนนราคาต้นทุนไม่ได้แพงมาก และถูกกว่ายาแผนปัจจุบันร่วม 10 เท่า ถ้าเอกชนและโรงพยาบาลชุมชนที่ผลิตยาสมุนไพรสามารถผลิตออกมาใช้ประโยชน์ให้สอดรับกับความต้องการในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนได้ รัฐจะประหยัดเงินได้จำนวนมาก ประชาชนก็ไม่ต้องซื้อยาแพงและไม่เป็นอันตรายด้วย

          เถาวัลย์เปรียง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Derris scandens Benth. ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เรียกว่า เครือตาปา (โคราช), เครือเขาหนัง, เถาวัลย์เปรียง (ไทยภาคกลาง) เป็นพืชในวงศ์ : PAPILIONEAE เป็นพรรณไม้เถา ชอบเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ใบ เป็นใบประกอบ ลักษณะจะเป็นใบกลม และเล็กคล้ายใบของต้นอันชัน ใบจะหนาและแข็ง มีใบย่อยอยู่ประมาณ 7 ใบ

          ดอกจะออกเป็นช่อสีขาวห้อยลง ส่วนกลีบรองดอกเป็นสีม่วงดำ ตรงปลายกลีบดอกนั้นจะเป็นสีชมพูเรื่อ ๆ ดอกนั้นจะออกดกมาก และจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ เมล็ด (ผล) ผลนั้นจะออกเป็นฝักแบนเล็ก ๆ ภายในจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-4 เมล็ด พรรณไม้นี้ขึ้นง่าย มักขึ้นเองตามชายป่า และที่โล่งทั่ว ๆ ไป เนื้อไม้ในเถานั้นจะเป็นวง ๆ คล้ายเถาคันแดง เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทย ใช้กันทุกจังหวัด

          ส่วนเถาและราก ใช้เป็นยา มีสรรพคุณดังนี้ เถา นำมากินจะมีรสเฝื่อนเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายเสมหะ ลงสู่ทวารหนัก ถ่ายเส้นและกษัย ถ่ายเส้นทำให้เส้นอ่อนและหย่อนดี รักษาเส้นเอ็นขอด รักษาปัสสาวะพิการ ขับปัสสาวะ และรักษาโรคบิด โรคไอ โรคหวัด ใช้เถานำมาหั่นตาก แล้วคั่วไฟชงน้ำกิน แทนน้ำชา ทำให้เส้นหย่อนรักษาอาการเมื่อยขบ ส่วนใหญ่แล้วมักนิยมใช้เถาวัลย์เปรียงแดง เพราะมีเนื้อไม้เป็นสีแดงเรื่อ ๆ ราก จะมีสารพวก flavonol ที่มีชื่อว่า scadenin, nallanin ใช้เป็นยาเบื่อปลา แต่ไม่มีคุณสมบัติในการใช้เป็นยาฆ่าแมลง ในตำรับยาไทยนั้นเขาใช้เป็นยารักษาอาการไข้ เป็นยาอายุวัฒนะ และขับปัสสาวะ


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สถาบันวิจัยสมุนไพร

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยพบเถาวัลย์เปรียงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 10:12:53 37,384 อ่าน
TOP
x close