x close

คนไทยยังต้องแบกภาระโรคจากบุหรี่เพียบ


สูบบุหรี่


คนไทยยังต้องแบกภาระโรคจากบุหรี่ (ไทยโพสต์)

          จากงานศึกษาวิจัยของ ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการพัฒนาการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาระโรค และปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยตายก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่ แม้แนวโน้มนักสูบลดลงแต่โรคเพิ่มขึ้น และพบนักสูบอยากเลิกมากขึ้น แนะรัฐต้องเร่งสนับสนุน จัดบริการยาเลิกบุหรี่ คุ้มต่อการลงทุนมากกว่า

          งานวิจัยเรื่อง "ภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชาชนไทย" โดยทำการศึกษาทุก 5 ปี ของ ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา ระบุว่า จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ล่าสุดในปี 2552 พบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้ประชากรไทยเสียชีวิตประมาณ 5 หมื่นคนต่อปี โดยเฉลี่ย ผู้ชาย 1 ใน 6 คน และผู้หญิง 1 ใน 25 คนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ (ปีที่มีสุขภาพดี) จากการตายก่อนวัยอันควรและความพิการ 6 แสนปี หรือ 11.1% ของภาระโรคทั้งหมดในผู้ชาย และสูญเสียปีสุขภาวะ 8.8 หมื่นปี หรือ 2.1% ของภาระโรคทั้งหมดในผู้หญิง ในจำนวนนี้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอดเป็นหลัก (24% และ 20% ตามลำดับ)

          "ภาระโรคจากบุหรี่เป็นโรคมะเร็งปอดสูงสุด 75% โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 50% จากการเปรียบเทียบกับภาระโรคในปี 2547 พบว่าแนวโน้มผู้สูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อย แต่ภาระจากโรคยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการสูบบุหรี่ในอดีต โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด หากคนไทยทุกคนไม่สูบบุหรี่จะทำให้ภาระโรคจากการสูบบุหรี่ลดลง 86% ในเพศชาย และ 61% ในเพศหญิง ซึ่งปีสุขภาวะที่สูญเสียไปนั้นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และเศรษฐกิจด้วย" ดร.ทพ.ญ.กนิษฐากล่าว


สูบบุหรี่

          ด้าน ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ คลินิกฟ้าใส กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่ พบว่า จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด มีประมาณ 60% ที่มีความคิดอยากเลิกสูบบุหรี่ โดยกว่าครึ่งเคยเริ่มเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง ซึ่งในจำนวนนี้กว่าครึ่งไม่สามารถเลิกเองได้

         การให้คำแนะนำและสนับสนุนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ปัจจุบันพบว่าภาครัฐยังไม่ได้บรรจุสิทธิ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในหลักประกันสุขภาพทุกระบบ โดยมีเพียงคำแนะนำแต่ยังไม่มีการจัดเตรียมยาเลิกบุหรี่ ซึ่งผู้ที่ติดบุหรี่หนักตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไปจะไม่สามารถเลิกเองได้ จำเป็นต้องมียาช่วย แต่เมื่อต้องจัดหายาด้วยตนเองจึงทำให้ส่วนหนึ่งล้มเลิกความตั้งใจ อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายจากการเลิกบุหรี่ พบว่า คุ้มค่าในการลงทุน เพราะมีค่าใช้จ่ายวันละ 40-60 บาทเพียง 3 เดือน แต่หากยังสูบบุหรี่ก็จะเสียทั้งเงินและเกิดโรคมากมาย

          "ปัจจุบันประชาชนสามารถขอคำแนะนำเลิกบุหรี่ได้ที่สายด่วน 1600 หรือคลินิกฟ้าใส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มี 70 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขอคำปรึกษาและยาสำหรับเลิกบุหรี่ได้ฟรี หรือสอบถามได้ที่ 0-2716-6556"

          "สำหรับวิธีเลิกบุหรี่ลำดับแรก ถามตัวเองว่าต้องการเลิกหรือไม่ 2.ตั้งใจเลิก ด้วยการกำหนดวันให้ชัดเจน ทิ้งอุปกรณ์การสูบ 3.เตรียมการรับมือ เพราะช่วงที่เลิกบุหรี่อาจมีอาการข้างเคียง เช่น หงุดหงิด อาจเข้าขอคำแนะนำหรือเตรียมยาไว้ใช้ และ 4.บอกคนรอบข้าง เพื่อขอกำลังใจและสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่" นพ.สุทัศน์กล่าว




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คนไทยยังต้องแบกภาระโรคจากบุหรี่เพียบ อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2556 เวลา 10:08:04 1,099 อ่าน
TOP