x close

โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR ทำไมป่วยแล้วมีอาการคล้ายผีเข้า

          โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR เป็นโรคที่อันตรายถึงตายได้ เพราะอาการผู้ป่วยมักจะคล้ายผีเข้า ทำให้ถูกเข้าใจผิดและนำไปสู่การรักษาที่ไม่ทันท่วงที
สมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

          โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR ถูกหยิบยกขึ้นมาจนเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้งจากตัวละคร "น้าแย้ม" ในภาพยนตร์เรื่อง ธี่หยด ซึ่งมีอาการโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR แต่ถูกเข้าใจว่ามีอาการผีเข้า เพราะในสมัยนั้นคนอาจเข้าไม่ถึงความรู้ด้านสุขภาพและโรคกันมากนัก ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทัน เรามาทำความรู้จักโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR กันเลยดีกว่า

โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR คืออะไร
ใครเสี่ยงบ้าง

สมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

          โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR encephalitis คือ โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ และไปทำลายเซลล์สมองจนผู้ป่วยมีอาการผิดปกติคล้ายโรคจิตเวช หรือคล้ายอาการผีเข้า โดยโรคนี้สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในเพศหญิงอายุน้อย

โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR เกิดจากอะไร

          โรคนี้มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Autoimmune Encephalitis) ต่อตัวรับชนิด NMDA ซึ่งอาจถูกกระตุ้นโดยเนื้องอกที่เกิดขึ้นในอวัยวะ เช่น รังไข่ ปอด เต้านม และอัณฑะ โดยในผู้ป่วยเพศหญิงประมาณ 50% จะเกิดจากการมีเนื้องอกในรังไข่

         นอกจากเนื้องอกแล้ว​ โรคนี้ยังอาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสในสมอง จนทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาทำลายตัวรับ NMDA ในสมอง และทำลายเซลล์สมองจนผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ

โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR
อาการเป็นอย่างไร

สมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

          ที่บอกว่าอาการโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR คล้ายอาการผีเข้า เพราะผู้ป่วยมักจะมีอาการต่อไปนี้

  • เริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ คล้ายเป็นไข้หวัด
  • ปวดเมื่อยร่างกาย
  • นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • เสียการควบคุมตัวเอง เช่น เคี้ยวปาก แลบลิ้นปลิ้นตา มองตาขวาง มือ-เท้าขยับไปมา เกรี้ยวกราด อารมณ์ร้าย พูดจาหยาบคาย หรืออาจเซื่องซึมผิดปกติ เป็นต้น
  • หูแว่ว เห็นภาพหลอน
  • ความดันโลหิตและหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • อุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำผิดปกติ
  • ชักเกร็ง
         ทั้งนี้ ญาติอาจมองว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งจริง ๆ เกิดความผิดปกติทางสมอง หากปล่อยไว้ไม่รีบเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้นได้ เช่น มีความรู้สึกตัวลดลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ซึมลง เข้าสู่ภาวะโคม่า และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด

โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR
รักษาอย่างไร

สมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน

          การรักษาโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียด และตรวจร่างกายด้วยวิธี MRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และตรวจหาแอนติบอดีต่อตัวรับ NMDA จากน้ำไขสันหลังและเลือด 

          จากนั้นอาจทำการรักษาด้วยยาที่ช่วยลดการอักเสบของสมอง การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา หรือการให้ยาอิมมูโนโกลบูลินทางหลอดเลือด และในบางเคสอาจมีการพิจารณาแนวทางรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกที่เป็นสาเหตุของโรค ร่วมกับการบำบัดฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและสติปัญญา  

          ทั้งนี้ หากรักษาทันท่วงที ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะมีอาการดีขึ้น หายเป็นปกติ หรือพบความผิดปกติอยู่เพียงเล็กน้อย ส่วนอีก 10-20% อาจมีอาการกำเริบอยู่บ้าง ซึ่งแพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันอาการกำเริบ

          โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR จริง ๆ ก็เป็นโรคที่รักษาได้ถ้ารู้ตัวเร็วและเข้ารับการรักษาทันเวลา ดังนั้น หากคนใกล้ตัวมีอาการผิดปกติที่ดูคล้าย ๆ โรคนี้ขึ้นมา ก็อย่าลืมรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองอักเสบ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกัน anti-NMDAR ทำไมป่วยแล้วมีอาการคล้ายผีเข้า อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17:41:49 9,976 อ่าน
TOP