x close

เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ใจเต้น

เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ
(ประชาชาติธุรกิจ)

          หัวใจคุณปกติกันดีหรือเปล่า? มีเต้นแรงๆ วูบๆ ไหวๆ หวั่นๆ สั่นๆ สะดุดๆ บ้างหรือเปล่า ? ถ้ามี...ไปหาหมอได้แล้ว เพราะคุณอาจจะมีอาการของ "หัวใจเต้นผิดจังหวะ"

         
อาการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะถ้าขืนปล่อยปละละเลยไว้อาจอันตรายถึงชีวิตก็เป็นได้
 
          ศ.น.พ.เกียรติชัย ภูริปัญโญ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ปกติหัวใจคนเราเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะมีอัตราการเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที การที่หัวใจเต้นผิดปกติส่วนใหญ่จะพบในผู้ใหญ่ โดยอาจมีอาการหัวใจเต้นแรง เร็ว ใจสั่น ใจหวิว วูบ บางรายหัวใจเต้นสะดุด เต้นช้า หรือหัวใจอาจหยุดเดินไป 1-2 จังหวะ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจเป็นลมหมดสติ เหนื่อยง่าย หรือเจ็บหน้าอก อาจส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

          ปัจจุบันมีการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจได้หลายวิธี ตั้งแต่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่มีอาการ ตรวจเช็กคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง การใส่เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา การตรวจโดยฝังเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจ และการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ที่มักจะทำร่วมไปกับการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ

          แต่ไม่ว่าจะตรวจด้วยวิธีการไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะที่ออกกำลังกาย ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ตรวจด้วยวิธี Tilt Table Test (ตรวจระบบประสาทและหัวใจด้วยเตียงปรับระดับเพื่อหาความผิดปกติของอาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียนศีรษะ) การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วย CT64 Slice และ Cardiac MRI การตรวจด้วยการฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ  เพื่อตรวจหาอาการของโรคหัวใจชนิดอื่นๆ ว่ามีอะไรแฝงอยู่ด้วยหรือไม่

          ส่วนการรักษานั้นจะมีวิธีการที่แตกต่าง สำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดปกติอย่างรุนแรง ที่อาจส่งผลทำให้หัวใจหยุดสูบฉีดเลือดได้นั้น จะต้องใช้วิธีรักษาด้วยการใช้ไฟฟ้าพลังงานสูงช็อคหัวใจ เพื่อดึงให้สัญญาณไฟฟ้าในหัวใจกลับมาเต้นได้ตามปกติ ซึ่งวิธีการนี้ผู้ป่วยสามารถผ่าตัดใส่เครื่องช็อคหัวใจอัตโนมัติ AICD  ฝังเข้าไปในตัวของได้

          เครื่อง AICD นี้เป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิคที่จะรับสัญญาณไฟฟ้าภายในหัวใจส่งไปที่เครื่อง เมื่อมีสัญญาณหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เครื่องจะส่งไฟฟ้าพลังงานสูงมาที่หัวใจให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปกติได้ในเวลาไม่กี่วินาที

          นอกจากนั้นแล้ว การรักษายังสามารถใช้วิธีจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง เป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่ใช้สวนหัวใจด้วยสายชนิดพิเศษที่มีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย เมื่อพบจุดที่ผิดปกติจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไป 30 - 60 วินาที การรักษาโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95%  มีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืนหลังจากทำเสร็จ
         
สำหรับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ก็จะใช้การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เข้าช่วย

          เครื่องที่ว่านี้จะเป็นเครื่องขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร หนา  0.5 เซนติเมตร ภายในประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนรับรู้การเต้นของหัวใจ ส่วนส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ โดยทั่วไปเครื่องนี้จะมีอายุการใช้งานได้นาน 8-10 ปี

          ผู้ที่ใช้เครื่องนี้ควรมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจเช็คเครื่องและปรับโปรแกรม พลังงานให้เหมาะสม  และเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก หากต้องเดินทางหรือต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะอย่าลืมที่จะแสดงบัตรประจำตัวผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วย

          ผู้ที่หัวใจต้นผิดจังหวะ ควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือยากระตุ้นบางชนิดที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ ที่สำคัญอย่าเครียด

          ถ้าไม่แน่ใจก็ควรไปพบแพทย์ขอคำปรึกษาเลย 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

     คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ  



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อหัวใจเต้นผิดจังหวะ อัปเดตล่าสุด 17 สิงหาคม 2552 เวลา 18:29:12 2,859 อ่าน
TOP